xs
xsm
sm
md
lg

แจ็ก หม่า เทรนด์มหาเศรษฐีนักธุรกิจจีนรุ่นใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แจ็ก หม่า อวิ๋น ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหารอาลีบาบา – เอพี
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ความสำเร็จในการนำบริษัทอาลีบาบากรุ๊ปโฮลดิ้ง เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก โดยสามารถขายหุ้นให้กับนักลงทุนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ด้วยมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ แห่งนี้เมื่อวันศุกร์ ที่ 19 ก.ย. 2557 ที่ผ่านมา สามารถระดมทุนจากการขายหุ้นไอพีโอนี้ 21,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทอาลีบาบาสูงขึ้นถึง 231,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 7.45 ล้านล้านบาท แซงหน้ายักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซของสหรัฐฯ อย่าง อะเมซอน และอีเบย์รวมกัน

ชื่อของแจ็ก หม่า อวิ๋น ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหารอาลีบาบาจึงมีผู้กล่าวขวัญถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับความเก่งกาจในการสร้างความร่ำรวยให้กับอาณาจักรธุรกิจ

ทว่านี่หาใช่ตัวตนที่แท้จริงของเขา

แจ๊ก หม่าในความเป็นจริงนั้น เขาคือหนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจแดนมังกร ที่เชื่อมั่นว่า ความสำเร็จในชีวิตมิได้วัดกันด้วยเงินเท่านั้น

นอกเหนือจากกิจการของอาลีบาบาแล้ว ปัจจุบันอดีตครูสอนภาษาอังกฤษผู้นี้ยังนั่งเป็นประธานของ “รักษ์ธรรมชาติ” ( Nature Conservancy) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ไม่แสวงกำไร และถือหุ้นร้อยละ 2 ในอาลีบาบา

นอกจากนั้น หม่ายังเป็นสมาชิกของสโมสรผู้ประกอบการแห่งจีน ( China Entrepreneur Club หรือ ซีอีซี) กลุ่มไม่แสวงหากำไร ซึ่งรวยที่สุดบนแผ่นดินใหญ่ เพราะเมื่อนำรายได้ต่อปีของสมาชิกทั้ง 45 คนมารวมกันแล้ว มีจำนวนสูงเกินกว่า 2 ล้านล้านหยวน หรือราวร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ของจีนทีเดียว

ซีอีซีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 และเป็นการรวมตัวกันของผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในภาคเอกชนของจีนจำนวนหนึ่ง โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อสร้างความเข้มแข็งของ“จิตวิญญาณแห่งความเป็นผู้ประกอบการ” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือสร้างคุณค่า ที่อยู่นอกเหนือเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างแข็งแกร่งในหมู่นักธุรกิจรุ่นใหม่บนแดนมังกรนั่นเอง

“ การสร้างความมั่นคั่งร่ำรวยและความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้” แม็กกี้ เฉิง เลขาธิการใหญ่ของซีอีซีกล่าว

“ถ้าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ตั้งหน้าตั้งตาหาแต่เรื่องกำรี้กำไร ก็คงจะลาออกจากสโมสรกันไปนานแล้ว และเหตุผล ที่พวกเขายังคงอยู่บนเส้นทางนี้จึงไม่ใช่เรื่องของความสำเร็จด้านการเงินอย่างเดียวอีกต่อไป”
นายหลิว ฉวนจื้อ ผู้ก่อตั้งบริษัทเลโนโว (Lenovo) – รอยเตอร์
สมาชิก ซึ่งเปรียบเสมือนกลุ่มดวงดาว ที่เรียงรายอยู่บนท้องฟ้าเหล่านี้มีอาทินายหลิว ฉวนจื้อ ผู้ก่อตั้งบริษัทเลโนโว และนายชาร์ลส์ เจ้า ผู้กุมบังเหียนบริษัทเว็บไซต์เวยปั๋ว หรือทวิตเตอร์เมืองจีน

สมาชิกอีกคนได้แก่นายหวัง เจี้ยนหลิน ประธานบริษัทกลุ่มลงทุน ต้าเหลียนวั่นต๋ากรุ๊ป ผู้ติดอันดับกลุ่มอภิมหาเศรษฐีบนแดนมังกร

ในชีวประวัติ ที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นทางการของเขาระบุว่า

“การแสวงหาที่สูงสุดในชีวิตก็คือการไขว่คว้าหาจิตวิญญาณ การบริหารจัดการธุรกิจที่อยู่ยอดสุดก็คือการบริหารวัฒนธรรมของธุรกิจ”

สมาชิกของซีอีซีได้รับเชื้อเชิญเป็นแขกของผู้นำโลกอย่างนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ ประธานาธิบดีฟรองซัว ออลองด์ แห่งฝรั่งเศส หรือนายโฮเซ่ มานูเอล บาร์โรโซ่ ขณะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เป็นสิ่งการันตีว่าคนกลุ่มนี้สำคัญเพียงใด

ผู้ประกอบการในนิยามของซีอีซีเป็นคนละพวกกับนักธุรกิจ ที่มุ่งแต่เม้กมันนี่เท่านั้น

แจ็ก หม่า ส่งไลน์ถึงพนักงานของอะลีบาบาในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมตัวในการทำไอพีโอ แสดงชัดเจนถึงจุดยืนดังกล่าว

“เราไม่ได้ทำงานหนักครั้งนี้ เพื่อกลายเป็นพวกถู่หาว ” ซึ่งหม่าหมายถึงพวกเศรษฐีใหม่ ที่บูชาวัตถุนิยม

ศาตราจารย์เฉิน หลง แห่งสถาบันศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจเฉิงกง (Cheung Kong Graduate School of Business) ระบุว่า เศรษฐีนักธุรกิจของจีนกำลังหันมาสนใจกันมากขึ้นในเรื่องที่ใหญ่กว่าในภาคเศรษฐกิจ เช่นความหยั่งยืน นวัตกรรม และการปลูกฝังวัฒนธรรมการเป็นผู้ประกอบการ

ปัจจุบันพรรคคอมมิวนิสต์ยอมรับว่า ภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ตาม สมาชิกซีอีซีดูเหมือนตระหนักถึงสิ่งนี้มานานแล้ว

ยกตัวอย่างกระบวนการคิดของนายหลิวเมื่อสมัยที่เขาก่อตั้งบริษัทเลโนโวเมื่อราวสัก 30 ปีก่อนว่า มีเรื่องเกี่ยวกับการสร้างผลกำไรด้านการเงินเข้ามาในหัวน้อยมาก

ขณะนั้นหลิวทำงานอยู่ที่สถาบันบัณฑิตวิทยาศาตร์จีน ( CAS) ซึ่งพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านวิทยาสตร์ ซึ่งชนะรางวัล เพียงเพื่อถูกเก็บเข้ากรุ เขาข้องใจว่า เหตุใดจึงไม่นำเทคโนโลยี ที่คิดค้นได้ มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ และนี่เองคือที่มาของการก่อตั้งบริษัทเลโนโว เพื่อผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ทุกคนได้ใช้กัน

ปัจจุบัน ยังมีบริษัทเล็ก ๆ ไม่มีชื่อเสียงเท่าเลโนโว คือจอยวิโอ (Joyvio) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการเกษตรผุดขึ้นมาในเครือบริษัทของหลิว ด้วยเหตุผลที่ว่า หลิวต้องการให้คนจีนมีอาหาร ที่ปลอดภัยรับประทาน

“ เมื่อคุณประสบความสำเร็จแล้ว มีทางเลือกว่าคุณจะทำอะไรกับทรัพย์สินที่มั่งคั่ง บางคนเลือกใช้ชีวิต ที่หรูหราสะดวกสบาย บางคนอุทิศเงินทอง เวลา และพลังงาน เพื่อบรรลุถึงสิ่งที่เขาเห็นว่ามีคุณค่า” แม็กกี้ เฉิงให้ข้อคิด ที่สะท้อนถึงทิศทางของมหาเศรษฐีนักธุรกิจรุ่นใหม่ของจีนได้เป็นอย่างดี


กำลังโหลดความคิดเห็น