xs
xsm
sm
md
lg

ศาสตร์แห่งอำนาจ ปรัชญาหน้าด้านใจดำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาศรมสยาม-จีนวิทยาได้จัดบรรยายในหัวข้อ “ศาสตร์หน้าด้านใจดำ”(厚黑学) โดย ผศ. ก่อศักดิ์ ธรรมเจริญกิจ อาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาจีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบรรณาธิการบริหารวารสารจีนไทย เป็นวิทยากร ทั้งนี้การบรรยายฯจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2557

ปรัชญาหน้าด้านใจดำ มีที่มาจากหลี่ จงอู๋(李宗吾) ผู้แต่งหนังสือเรื่อง “ศาสตร์หน้าด้านใจดำ”(厚黑学)ในสมัยราชวงศ์ชิง หลี่ จงอู๋มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ.1879-1943 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศจีนถูกประเทศมหาอำนาจคุกคามอย่างหนัก ในฐานะนักคิดที่เล็งเห็นถึงปัญหาต่างๆ ในสังคม อันเป็นมูลเหตุที่ทำให้ประเทศจีนตกอยู่ในภาวะความอ่อนแอ หลี่ จงอู๋จึงเกิดแนวความคิดดังกล่าวขึ้น ทั้งยังให้นิยามแก่ศาสตร์หน้าด้านใจดำในเชิงเสียดสีว่า

“ไม่บางเรียกว่าหนา ไม่ขาวเรียกว่าดำ
หนา หมายถึง ความหน้าด้านหน้าหนาในใต้หล้า
ดำ หมายถึง ความใจดำอำมหิตบนแผ่นดินโลก”

ทั้งนี้ วิทยากรได้บรรยายถึงทัศนคตินี้ว่า ผู้มีชื่อเสียง วีรบุรุษตลอดจนผู้ประสบความสำเร็จทั้งหลาย ล้วนแต่ต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการนี้ได้แก่ หน้าด้านและใจดำ ตัวอย่างเช่น โจโฉและเล่าปี่ในยุคสามก๊ก กล่าวคือ โจโฉเป็นคนใจดำถึงที่สุด ดังเห็นได้ในเหตุการณ์ โจโฉสังหารแปะเฉียและคนในครอบครัวอย่างโหดเหี้ยม เพราะเข้าใจผิดว่าแปะเฉียคิดร้ายกับตน ภายหลังโจโฉได้รู้ความจริง แต่กลับเปล่งถ้อยคำว่า “ข้ายอมทรยศคนทั้งแผ่นดิน แต่จะไม่ยอมให้ใครทรยศข้า” วลีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความใจดำของโจโฉเป็นอย่างดี

เล่าปี่ถูกหยิบยกขึ้นเป็นตัวอย่างของคนหน้าด้าน แม้ว่าเล่าปี่ได้แต่งงานกับซุนฮูหยินซึ่งเป็นน้องสาวของซุนกวน เจ้าผู้ครองแคว้นกังตั๋ง แต่เล่าปี่ก็ยังคงไม่ละทิ้งความพยายามในการหนีกลับเมืองเก็งจิ๋ว ครั้นเมื่อถูกทหารซุนกวนจับกุมตัว เล่าปี่จึงคุกเข่าต่อหน้าซุนฮูหยิน ร่ำไห้ ร้องขอให้ช่วยตนพ้นจากการถูกสังหาร เหตุการณ์นี้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความหน้าด้านของเล่าปี่

อย่างไรก็ตาม การบรรยาย "ศาสตร์หน้าด้านใจดำ" นี้ นับว่ามีทั้งข้อคิดและสาระประโยชน์ให้ผู้ฟังนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบันอันเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดี
ชมเทปบันทึกภาพการบรรยายศาสตร์แห่งอำนาจ ปรัชญาหน้าด้านใจดำ



 


กำลังโหลดความคิดเห็น