เอเจนซี - ศูนย์วิจัยจีโนมิกส์ยักษ์ใหญ่ผนึกกำลังกองทัพจีน คิดค้นอุปกรณ์ตรวจจับเชื้อไวรัส “อีโบล่า” ที่กำลังระบาดหนักในแอฟริกาตะวันตกจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่าพันคน เป็นไปตามมาตรการรับมือของทางการจีนหากเกิดการแพร่เชื้อมรณะบนแดนมังกร
พีเพิล เดลี กระบอกเสียงพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงาน (14 ส.ค.) ว่า สถาบันจีโนมิกส์ปักกิ่ง (Beijing Genomics Institute : BGI) สาขาในนครเซินเจิ้น มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของประเทศ ได้พัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถบ่งชี้เชื้อไวรัสอีโบล่า (Ebola) ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
บีจีไอ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านจีโนมิกส์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ได้ใช้ตัวช่วยทางเทคนิคบางส่วนที่ได้รับมาจากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือพีแอลเอ (PLA) ดำเนินการสังเคราะห์สารละลายทางเคมี ซึ่งจะเปลี่ยนแปลง “สี” หากพบการมีอยู่ของกรดนิวคลีอิก (nucleic acid) ในเชื้อไวรัสอีโบล่า
หวัง ไอ่จู โฆษกหญิงของบีจีไอ กล่าวว่า อุปกรณ์ตรวจจับเชื้อไวรัสอีโบล่าจะผลิตขึ้นในนครอู่ฮั่นของมณฑลหูเป่ย และคาดว่าเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและที่อื่นๆ จะได้รับอุปกรณ์แห่งละ 10,000 ชิ้น โดยกระบวนการทำงานของอุปกรณ์ ตั้งแต่คัดตัวอย่างมาตรวจสอบจนถึงวิเคราะห์ผล ใช้เวลาประมาณ 3-5 ชม.
อย่างไรก็ดี กระบวนการผลิตจริงยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้น เนื่องจากยังต้องรอการอนุมัติครั้งสุดท้ายจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งชาติก่อน โดยหวังเสริมว่า “บีจีไอได้ยื่นคำร้องขออนุมัติพิเศษไปยังสำนักงานฯ แล้ว พร้อมหวังว่าพวกเขาจะตอบรับต่อสถานการณ์ฉุกเฉินนี้เช่นเดียวกับสำนักงานฯ ของสหรัฐฯ (FDA) ที่ออกใบอนุญาตพิเศษให้กับอุปกรณ์ฯ ในสัปดาห์ก่อน”
“บีจีไอศึกษาวิจัยเชื้อไวรัสอีโบล่ากับสถาบันวิจัยของกองทัพจีนมานานหลายปี และสามารถคิดค้นอุปกรณ์ดังกล่าวขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้น หลังวิกฤตการแพร่ระบาดลุกลามในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งหากพื้นที่ติดเชื้อต้องการอุปกรณ์ตัวนี้ เราก็พร้อมเดินเครื่องการผลิตขนาดใหญ่ได้”
ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติจีน หรือซีดีซี (CDC) ก็ได้รับตัวอย่างเชื้อไวรัสอีโบล่าจากบริษัท จีนีวิซ (Genewiz) ผู้ให้บริการด้านจีโนมิกส์ในสหรัฐอเมริกา เพื่อทำการวิเคราะห์และพัฒนาวัคซีนรักษาโรค โดยการศึกษาและสังเคราะห์เชื้อฯ เกิดขึ้น ณ เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู ภายใต้คณะกรรมการซีดีซีและสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของจีน
ดร.เอมี เหลียว ประธานจีนีวิซ กล่าวว่า “การสังเคราะห์ยีนส์ของเชื้อไวรัสเป็นรากฐานสำคัญ ที่จะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจการทำงานของเชื้อโรค โครงสร้างผลึกโปรตีนของไวรัส และกลไกการส่งต่อเชื้ออันรวดเร็วได้ดียิ่งขึ้น”
ด้านเป่ยจิงมอร์นิ่งนิวส์ สื่อท้องถิ่นจีน รายงานว่า นครหลวงปักกิ่งมีการเตรียมแผนรับมือผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบล่า โดยจัดรถพยาบาลที่มีประสิทธิภาพกักกันเชื้อโรค ประจำการที่ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินกรุงปักกิ่ง ตลอด 24 ชม. เพื่อใช้ขนส่งผู้ป่วยต้องสงสัย และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรก็ได้กำหนดเส้นทางเดินรถพิเศษให้กับรถพยาบาลเหล่านั้นอีกด้วย
ผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสมรณะดังกล่าว จะถูกแยกตัวและวินิจฉัยโรคจากผู้เชี่ยวชาญ ณ โรงพยาบาลรัฐสองแห่งในเขตโย่วอันและเขตตี้ถัน ซึ่งถูกกำหนดเป็นหน่วยรองรับเหยื่อผู้ติดเชื้อ โดยหากได้รับการยืนยันการติดเชื้อ ก็จะได้รับการรักษาอย่างหลากหลาย รวมถึงการใช้ยาสมุนไพรจีนควบคู่ไปด้วย
ด้านรัฐบาลท้องถิ่นปักกิ่ง เผยอีกว่า อาจมีการยกระดับการตรวจสอบนักเดินทางที่มาจากพื้นที่แพร่เชื้อในแอฟริกาตะวันตกอย่างเข้มงวด และเฝ้าติดตามภาวะร่างกายของพวกเขาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ อีโบล่าเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก พบครั้งแรกที่ประเทศซูดาน และซาอีร์ เมื่อปี 1976 ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว อาเจียน ต่อมามีผื่นขึ้นตามตัว มีจุดเลือดออก หรือมีจ้ำห้อเลือดใต้ผิวหนัง มีการตกเลือดตามอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต กระเพาะอาหาร และลำไส้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการช็อคตามมา และเสียชีวิตในระยะเวลารวดเร็ว ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน