เอเจนซี--ด้วยอานิสงส์จากปฏิบัติการลุยปราบปรามการผูกขาดของกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ในประเทศจีน ทำให้กลุ่มผู้บริโภคในจีนได้กินได้ใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ดังกันในราคาที่ถูกลง จากก่อนหน้าที่ยักษ์ใหญ่แบรนด์ต่างชาติ อาทิ รถยนต์ออดี้(Audi) และยักษ์กาแฟสตาร์บัคส์(Starbucks) ได้ฟันกำไรบานในจีนมากเสียยิ่งกว่าในลอนดอนและนิวยอร์ก
ช่วงนี้มีกระแสข่าวถี่ๆกรณีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดได้ไปบุกสำนักงานบริษัทรายใหญ่ต่างชาติและ ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมผูกขาด ทั้งนี้จีนได้คลอดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2552 โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปและการพัฒนา หรือเอ็นดีอาร์ซี คณะกรรมการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ เป็นต้น
ปฏิบัติการปราบปรามการผูกขาดนี้ เริ่มโหมหนักจากเมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบสำนักงานยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ทั้งสำนักงานบริษัทผลิตซอฟท์แวร์รายใหญ่แห่งไมโครซอฟท์(Microsoft), ควอลคอมม์(Qualcomm), แคทเทอร์พิลลาร์ (Caterpillar), มีด จอห์สัน (Mead Johnson Nutrition) ดานอน(Danone) เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) และเจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) แห่งสหรัฐฯ ก็เป็นเป้ารายล่าสุดที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบอยู่ในสัปดาห์นี้
รายงานข่าวสื่อจีน ไชน่า เดลี่ ระบุในสัปดาห์นี้ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมผูกขาดของกลุ่มบริษัทมากกว่า 1,000 ราย
นับจากเดือนที่แล้วที่คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปและการพัฒนา หรือเอ็นดีอาร์ซี เริ่มหันมาพุ่งเป้าตรวจสอบกลุ่มรถยนต์ ออดี้ บีเอ็มดับเบิลยู (BMW), จากัวร์ แลนด์ โรเวอร์ (Jaguar Land Rover), ไคร์สเลอร์, โตโยต้า, และฮอนด้า ก็พากันประกาศหั่นราคาผลิตภัณฑ์ทั้งรถยนต์และชิ้นส่วน
ล่าสุดสื่อจีนเผยในสัปดาห์นี้ว่า ออดี้อาจเจอค่าปรับ 250 ล้านหยวน โทษฐานผูกขาด
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังผนึกกำลังกันบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด พวกเขากำลังลุยปราบปรามฯอย่างดุเดือดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน” เคนท์ คีด์ล (Kent Kedl) ผู้จัดการบริษัท Control Risks ประจำเอเชียเหนือ/จีน กล่าว
สำหรับโพลก์สวาเกน (Volkswagen) ตลาดจีนเสมือนขุมทองที่ทำกำไรงาม รายได้ที่ทำได้ในตลาดจีนรวมกับกำไรของออดี้ ช่วยอัดฉีดกระแสเงินสดของบริษัท จากการประเมินเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาโดยนาย แม็กซ์ วาร์บูร์ตัน (Max Warburton) นักวิเคราะห์ประจำ Sanford C. Bernstein
นอกเหนือไปจากภาครถยนต์ สตาร์บัคส์ ก็ทำกำไรในอัตรา 35 เปอร์เซนต์ในภาคพื้นเอชียแปซิฟิกและจีน สูงกว่าตลาดอื่นๆอย่างในยุโรปสตาร์บัคส์มีอัตรากำไรที่ 9 เปอร์เซ็นต์ และในอเมริกา 24 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มผู้ผลิตยาก็ฟันกำไรในจีนมากเสียยิ่งกว่าในยุโรป ข้อมูลจาก Philippe Lanone นักวิเคราะห์ประจำ Natixis Securities
ไม่เพียงแค่ต่อต้านการผูกขาด
อย่างไรก็ตาม การบุกตรวจสอบตามกลุ่มสำนักงานบริษัทรายใหญ่ต่างชาติ ก็มีสัญญาณอื่นจากรัฐบาลจีนด้วย นั่นคือการตรวจสอบกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง
กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีถูกเพ่งเล็งและตรวจสอบกันน่วมตั้งแต่ปีที่แล้วหลังจากนาย เอ็ดวาร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) อดีตพนักงานสัญญาจ้างของหน่วยข่าวกรองและความมั่นคงแห่งสหรัฐฯ ออกมาเปิดโปงเครือข่ายสอดแนมลับสุดยอดของทำเนียบขาวที่มีขอบเขตครอบคลุมทั่วโลก รวมทั้งกรณีสหรัฐฯดำเนินคดีกลุ่มนายทหารจีนในข้อกล่าวหาจารกรรมความลับบนโลกไซเบอร์
และในเดือนถัดมาบทความแสดงความคิดเห็นเผยแพร่ในไมโครบล็อกของสื่อกระบอกเสียงพรรคคอมมิวนิสต์จีน พีเพิล เดลี่ ระบุว่า กลุ่มบริษัทตะวันตก ได้แก่ แอปเปิล ไมโครซอฟท์ กูเกิล และเฟซบุ๊ค ให้ความร่วมมือในโครงการลับสุดยอดของอเมริกันในการติดตามและล้วงข้อมูลจีน นอกจากนี้ทางสถานีโทรทัศน์กลางแห่งจีน หรือซีซีทีวียังชี้อีกว่าสามารถใช้ซอฟท์แวร์ไอโพนขโมยความลับของรัฐได้ แต่ทางแอปเปิลปฏิเสธ
กลุ่มแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเผยในเดือนนี้ว่าเมื่อไม่นานมานี้สำนักงานจัดซื้อของจีนแจ้งหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลให้ระงับการซื้อโปรแกรมแอนตี้ไวรัสจากบริษัทไซแมนเทค (Symantec) และ แคสเปอร์สกี้แล็บ (Kaspersky Lab) ด้วยเหตุผลความมั่นคง
นอกจากนี้ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมากลุ่มสื่อรัฐจีนก็ดาหน้าออกมาโหมกระพือกระแสข่าว ชี้ว่ากาแฟสตาร์บัคส์ค้ากำไรเกินควร และสมาร์ทโพนของซัมซุงทำงานไม่ได้เรื่อง ต่อมาซัมซุงได้ออกมาขอโทษผู้บริโภคจีน แต่สตาร์บัคส์กลับได้รับความสนับสนุนจากผู้บริโภค ขณะที่ยักษ์ใหญ่ยาแห่งอังกฤษ กลาสโซสมิทไคลน์ (GlaxoSmithKline) ถูกไต่สวนในข้อกล่าวหาคอรัปชั่นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
ล่าสุด มรสุมอื้อฉาวอีกลูกก็จู่โจมกลุ่มบรรษัทข้ามชาติในแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ แมคโดนัลด์ส และผลิตภัณฑ์ยัมแบรนด์ เคเอฟซี และพิซซ่า ฮัท โดยฝีมือสถานีโทรทัศน์จีนออกมาเปิดโปงว่าร้านสาขาแบรนด์ดังเหล่านี้ใช้เนื้อหมดอายุมาปรุงอาหาร
จนกระทั่งหอการค้าแห่งสหรัฐฯออกมาเตือนจีนว่ากลุ่มธุรกิจอเมริกันจะเมินตลาดจีน และจีนก็จะสูญเสียแท่นเป้าหมายปลายทางการลงทุนหมายเลขหนึ่ง ด้านจีนศอกทันควันว่า “ความกลัวตลาดจีนจะสูญเสียแรงดึงดูดฯนั้น ผิดอย่างสิ้นเชิง” ซินหวาเผยแพร่บทความที่ไม่ลงชื่อผู้เขียน “จีนไม่ยอมให้บริษัทหน้าไหน ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าบริษัทจีนหรือต่างชาติ บริษัทของรัฐหรือเอกชน”
ซินหวายกตัวอย่างกลุ่มบริษัทจีนเองก็ถูกไต่สวนพฤติกรรมผูกขาด ได้แก่ ไชน่า เทเลคอม และไชน่า ยูนิคอม นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้ว (2513)ยักษ์ใหญ่เหล้าขาวชื่อดัง เหมาไถและอู่เหลียงเย่ ถูกปรับ 449 ล้านหยวน โทษฐานผูกขาดการกำหนดราคาสินค้า ไปถึงผู้ผลิตเครื่องประดับเพชร-ทองพร้อมกลุ่มสมาคมผู้ผลิตฯก็ถูกปรับรวมกัน 10.59 ล้านหยวน โทษฐานฮั้วกันปั่นราคาสินค้า
อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างชาติบางกลุ่มก็ประกาศถอนตัวออกจากแผ่นดินใหญ่ อย่างผู้ผลิตเครื่องสำอาง Revlon แถลงในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาว่า จะเลิกหน่วยปฏิบัติการธุรกิจและปิดหน้าร้าน ราว 1,100 แห่งในจีน ในเดือนต.ค.ยักษ์ใหญ่นม เมจิ โฮลดิ้งส แห่งญี่ปุ่น ประกาศถอนตัวออกจากจีนหลัง 20 ปีแล้ว
ขณะนี้กลุ่มบริษัทต่างแดนต้องวุ่นวายในการพลิกดูกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆที่เกี่ยวข้องในจีนซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคใหญ่ที่สุดในโลก
“เราอาจต้องดูการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การปรับเปลี่ยนเกมในกฎระเบียบข้อบังคับ และหากพวกเขายังไม่ชัดเจนในกฎใหม่ บรรยากาศการทำธุรกิจในจีนก็จะยังตกอยู่ในสภาพหาความแน่นอนไม่ได้” นาย เดวิด โลวินเกอร์ (David Loevinger) อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสผู้ประสานงานกิจการจีนของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ที่ TCW Group.