เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - จำนวนแรงงานชายชาวจีน ซึ่งยังหนุ่มแน่น นอนหลับ แล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย หรือที่เรียกกันว่า เป็นโรคไหลตายนั้น เพิ่มสูงอย่างมากในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จากรายงานผลการศึกษาของนักวิจัยล่าสุด
แม้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายได้อย่างชัดเจน แต่ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า แรงงานเหล่านี้เสียชีวิตในเขตพื้นที่เดียวกัน
ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยจากโรงเรียนแพทยศาสตร์จงซานในเมืองก่วงโจว (กวางเจา) มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ระบุว่า มีแรงงานชาวจีนเป็นโรคไหลตายจำนวน 893 คน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของตำรวจในเมืองแห่งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนม.ค. 2544 - ต.ค. 2556
ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่า 3 เท่าจากคดี ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนม.ค. 2533-ธ.ค. 2542 จำนวน 231 คดี
เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเมืองต่งกวน ซึ่งเป็นฐานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท
ตำรวจระบุว่า ไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต โดยจากผลการชันสูตรศพไม่พบว่า ป่วยเป็นโรค หรือได้รับบาดเจ็บ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
ข่าวแรงงานเป็นโรคไหลตาย ที่เคยปรากฏมานั้น ส่วนใหญ่เกิดในชาติแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยผู้เสียชีวิตมักมีอาการหายใจติดขัดก่อนตาย
งานวิจัยล่าสุดก็พบลักษณะการเสียชีวิต ที่คล้ายคลึงกับงานวิจัยของนานาชาติ และบ่งชี้ว่า คนงาน ซึ่งเป็นชายหนุ่มและใช้แรงกายในการทำงานจัดอยู่ ในกลุ่มเสี่ยง ที่จะตายด้วยโรคนี้มากที่สุด โดยผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 90 ในเมืองต่งกวนก็อยู่ในคนกลุ่มนี้
การทำงานติดต่อกันนานหลายชั่วโมง ประกอบกับสถานที่ทำงาน ตลอดจนที่พักอาศัย ซึ่งขาดสุขลักษณะ อากาศไม่ถ่ายเท และคับแคบ ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เสี่ยงนอนหลับตายได้
กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิของผู้ใช้แรงงานในเมืองก่วงตงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาแรงงานอพยพเสียชีวิตจากอาการปัจจุบันทันด่วนนี้มานานแล้ว และเชื่อว่า เป็นผลมาจากการตรากตร่ำทำงานจนเกินกำลัง จากการเปิดเผยของนาย เจิง เฟยหยัง ผู้อำนวยการศูนย์แรงงานอพยพก่วงตงพันอี๋ว์ในก่วงโจว ( Guangdong Panyu Migrant Worker Centre )
เขายังระบุด้วยว่า การเรียกร้องค่าเสียหายแก่ผู้ตาย เนื่องจากทำงานหนัก เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะกฎหมายของจีนไม่รองรับในเรื่องนี้ อีกทั้งเจ้าของโรงงานสามารถโต้แย้งได้ว่า คนงานอื่น ๆ ก็มีชั่วโมงทำงานเท่ากัน แต่เหตุใดจึงยังไม่เสียชีวิต
งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่า ผู้มีอายุระหว่าง 20-40 ปี ซึ่งมักเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวและอยู่ในภาวะถูกกดดันอย่างหนัก จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะเป็นโรคไหลตาย
ยกตัวอย่าง เช่น พบว่า กว่าร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตจำนวน 328 คนในช่วงปี 2544-2549 มีอายุระหว่าง 21-40 ปี นอกจากนั้น เมื่อคิดอัตราเฉลี่ยแล้ว เห็นได้ว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 10 คน เป็นผู้ชายมากกว่า 9 คน