เอเจนซี - เอเจนซี - ลี กาชิง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกงวัย 85 ปี สะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียม และปัญหาสังคม และความห่วงใยจนนอนไม่หลับผ่านบทสุนทรพจน์ของเขา ที่ได้กล่าวแก่เหล่าบัณฑิตมหาวิทยาลัยซัวเถา มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง)
สื่อจีนรายงาน (10 ก.ค.) ภาพสะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียม และปัญหาสังคมผ่านความรู้สึกของนายหลี่ จยาเฉิง หรือที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักกันดีในนาม “ลี กาชิง” มหาเศรษฐีชาวฮ่องกงวัย 85 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นกลุ่มสื่อจีน ได้รายงานบทสุนทรพจน์ของเขา ที่ได้กล่าวแก่เหล่าบัณฑิตมหาวิทยาลัยซัวเถา มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ในวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ลี กาชิง เปิดเผยความในใจว่า “ความไม่เท่าเทียมกันในวงกว้าง การขาดแคลนทรัพยากรอย่างรุนแรง และความไว้เนื้อเชื่อใจที่ไม่เห็นหนทางแห่งความสุข เป็นสามประการหลักที่รบกวนจิตใจจนทำให้เขานอนไม่ค่อยหลับมาตลอด” และกระตุ้นเตือนเหล่าบัณฑิตจบใหม่ไฟแรงว่า แม้อนาคตฮ่องกงจะไม่สวยงามสมบูรณ์แบบตามที่วาดฝัน แต่การ “อุทิศตนและทำหน้าที่ผู้สร้างสรรค์ดูแลเส้นทางแห่งอนาคต ก็เปรียบเสมือนยาขนานดีที่ช่วยเยียวยารักษาการนอนไม่หลับของทุกคนได้”
ทั้งนี้ บทสุนทรพจน์ที่ลี กาชิง มอบเป็นบทเรียนสุดท้ายแก่กลุ่มบัณฑิตซัวเถา ปรากฏใจความดังนี้
“ ... เรียนศาสตราจารย์หลิว หมิงคัง แขกผู้มีเกียรติ คณาจารย์และบัณฑิตทุกท่าน
เป็นโอกาสอันดีที่ได้มายืนตรงนี้อีกครั้ง ท่ามกลางเปลวไฟแห่งความตื่นตัวและกระตือรือร้นของพวกคุณ ผมปฏิเสธไม่ได้ว่ารู้สึกเหมือนตัวเองเรียนจบเป็นบัณฑิตอีกเช่นกัน มันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่ได้เห็นพวกคุณโบยบินผ่านหลักหมายสำคัญของชีวิต มุ่งไปสู่อนาคตข้างหน้า ... ขอแสดงความยินดี พวกคุณทำได้ดีเยี่ยม
ผมกำลังก้าวผ่านจากวัย 85 ไปยัง 86 ในไม่ช้า รู้สึกโชคดีที่ได้พานพบเรื่องราวต่างๆ มากมายเสียจนยากจะจดจำได้ทั้งหมด และมีความสุขที่จะจดจำมากกว่าผมได้เห็นมา แต่แล้วเรื่องอะไรที่ยังทำให้ผมนอนไม่ค่อยหลับล่ะ?
ผมหวั่นเกรงว่าความไม่เท่าเทียมกันในความร่ำรวยและโอกาสซึ่งเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง หากไม่ถูกจัดการแก้ไขก็อาจกลายเป็น “เรื่องปกติธรรมดา” เรื่องใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แม้บางครั้งความเหลื่อมล้ำมันยากจะหลีกเลี่ยง เพราะบางคนย่อมฉกฉวยโอกาสที่กระแสโลกาภิวัฒน์และเศรษฐกิจหยิบยื่นให้ได้ดีกว่าอีกคนก็ตาม
ผมกลัวว่าการขาดแคลนทรัพยากรอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะเพิ่มความท้าทายที่คิดเป็นสัดส่วนมโหฬารต่ออนาคตของพวกเรา
เราจำเป็นต้องพลิกความท้าทายเหล่านี้ให้เป็นโอกาส เทคโนโลยีไม่อาจเป็นยารักษาสารพัดโรคให้เราได้ แต่เราก็จำต้องใช้เทคโนโลยีมาแทรกแซงเพิ่มทางเลือกให้กับเราอยู่ดี
รัฐบาลต้องชี้นำนโยบายจัดสรรปันส่วนที่ยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถสร้างสมดุลที่ดีระหว่างความจำเป็นในการสร้างความเท่าเทียมกับการทำตามเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลต้องก้าวนำความเปลี่ยนแปลง โอบอุ้มนวัตกรรมใหม่ๆ และอัดฉีด “ยาอายุวัฒนะแห่งอิสระ” สู่ระบบการศึกษา ผมเชื่อมาตลอดว่าความล้มเหลวที่จะลงทุนในการศึกษานั้น เท่ากับก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่ออนาคต
สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกไม่มั่นคงมากที่สุดคงเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจ ข้อเท็จจริงในสังคมกำลังแตกละเอียดต่อหน้าต่อตาพวกเรา หากความเชื่อมั่นไม่ได้อยู่ในที่ที่ถูกที่ควรและถูกทำให้แข็งแกร่งขึ้น ผลลัพธ์ย่อมออกมาเลวร้าย ความเชื่อใจช่วยให้เราใช้ชีวิตอยู่ในความสามัคคี หากปราศจากมันผู้คนจำนวนมากย่อมสูญเสียความศรัทธาในระบบ บ่มเพาะความสงสัยถึงความยุติธรรม ตั้งคำถามต่อทุกสิ่งอย่าง และปักใจว่าอะไรๆ จะเละเทะฟ่อนเฟะไปซะหมด
ยามไร้ซึ่งความเชื่อใจเพียงน้อยนิด สังคมจะจมลงสู่วังวนแห่งความเจ็บปวดรวดร้าว ... ความเชื่อใจจึงเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศชาติ!”