xs
xsm
sm
md
lg

จีน - เยอรมัน จับมือกันไว้ รวยชาตินี้ไม่ต้องรอชาติหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นางอังเกล่า แมร์เคิล (ซ้าย) และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ในพิธีลงนามความร่วมมือทางการค้า ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยอังเกล่า แมร์เคิล เป็นผู้นำประเทศที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดคนหนึ่งของยุโรป (ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2005) มีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและธุรกิจกับจีนอย่างแข็งแกร่ง พร้อมทั้งผลงานที่ช่วยกอบกู้เศรษฐกิจเยอรมนีพ้นจากหายนะวิกฤติการเงินยุโรป ซึ่งปัจจัยสำคัญหนึ่งในการรอดภัยและฟื้นตัวได้นั้นคือ ความสัมพันธ์อันดีกับจีนนั่นเอง (ภาพรอยเตอร์ส)
เอเจนซี - ผู้นำเยอรมนี นางอังเกลา แมร์เคิล เยือนจีน 3 วัน เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ลงนามการค้าร่วม และได้รับอนุญาตลงทุนในตลาดหุ้นจีน กว่า 80,000 ล้านหยวน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อมั่นเป็นยุคทศวรรษทองสัมพันธ์จีน-เยอรมนี

ข่าวการเยือนจีนของนางอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ แม้จะเป็นข่าวที่ไม่หวือหวาเท่ากับข่าวเกี่ยวกับกรณีรัฐบาลเยอรมนีจับกุมชายวัย 31 ปี ต้องสงสัยเป็นสายลับที่จารกรรมเอกสารลับของเยอรมนีไปให้กับสหรัฐฯ มานานถึง 2 ปี นอกจากนั้นยังมีการสืบสวนการดักฟังโทรศัพท์ของอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี อันอาจบั่นทอนความร่วมมือและความจริงใจที่มีต่อกันระหว่างเยอรมนีกับสหรัฐฯ ในอนาคต อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปเยือนครั้งที่ 7 ของนางแมร์เคิล นี้ ก็มีความหมายด้วยเป็นสัญญาณย้ำชัดถึงความสัมพันธ์สองชาติ ซึ่งต่างก็ได้รับการเปรียบเปรยว่ามีความก้าวหน้าแนบแน่นคู่กันไปดังฝาแฝด โดยผู้เชี่ยวชาญฯ เปรียบเยอรมนีว่าเป็นจีนแห่งยุโรป ขณะเดียวกันการพัฒนาของจีน ก็นำเข้าเทคโนโลยีอินทรีย์เหล็กจำนวนมากมาเป็นต้นแบบของการพัฒนาฯ จนอาจเรียกจีนว่าเป็นคู่แฝด เยอรมนีแห่งเอเชียได้เช่นกัน

รายงานข่าวกล่าวว่า กำหนดการเยือนจีนของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 6 ก.ค. ถึงวันอังคาร (8 ก.ค.) ทำให้หลายคนที่คิดว่ายุคทศวรรษทองคำแห่งความสัมพันธ์ จีน-เยอรมัน ได้ผ่านไปแล้วนั้น ต้องหลบไปคิดใหม่ทีเดียว แมร์เคิล เดินทางไปจีนพร้อมกับคณะนักธุรกิจชั้นนำของเยอรมัน เพื่อหาโอกาสเปิดช่องทางการค้าขายระหว่างกัน โดยคราวนี้ นายกฯ เยอรมัน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เป็นทุนเดิม ให้ความสนใจมาดูงานพัฒนานวัตกรรมของจีนเพื่อดูลู่ทางลงทุนร่วมกับจีน จึงเดินทางมาที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ก่อนที่จะไปปักกิ่งด้วยซ้ำ

สำหรับเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า จีนมีความหมายมั่นปั้นเมืองให้เป็นนครหลวงแห่งอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และที่นี่มีประชากรราว 10 ล้านคน จัดเป็นอันดับ 3 ของประเทศจีน ในปัจจุบันเป็นทั้งศูนย์กลางด้านการเมือง การทหาร และการศึกษาของภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยหากรวมทั้งมณฑลเสฉวน จะมีประชากรกว่า 110 ล้านคน ซึ่งมากพอๆ กับประชากรเยอรมันทั้งประเทศ (ราว 82 ล้านคน) และคนหนุ่มสาวจีนส่วนใหญ่ ที่ร่ำเรียนทางด้านเทคโนโลยีไฮเทคล้วนต่างมุ่งมาทำงานที่นี่

แมร์เคิล พร้อมตัวแทนนักธุรกิจเยอรมันกว่า 90 รายได้รับการต้อนรับจากนายกเทศมนตรีนครเฉิงตู นายเก่อ หงหลิน พากันไปเยี่ยมชมโรงงานร่วมทุนจีน-เยอรมัน อาทิ โรงงานผลิตรถยนต์โฟล์คสวาเก้น และซีเมนส์ เข้าร่วมฟอรั่มความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาเป็นเมืองใหม่ และฟอรั่มการสนทนาระหว่างจีนกับเยอรมนีปี 2014 ก่อนจะมาหารือกับนายกรัฐมนตรีจีน หลีเค่อเฉียง ที่กรุงปักกิ่ง และรับคำเชิญทานอาหารกับนาย สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และนายนายจาง เต๋อ เจียง ประธานสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน รวมทั้งไปปราศรัยกับนักศึกษาจีนในมหาวิทยาลัยชิงหวา อีกทั้งไม่พลาดที่จะได้พบกับมิตรสหายเก่า อดีตนายกรัฐมนตรีจีน เวิน จยาเป่า

รายงานข่าวกล่าวว่า การเดินทางชมงานในเฉิงตูครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะเตรียมประชุมจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระดับสูงของสองชาติ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ร่วมกันในอนาคตจากนี้ไป โดยการประชุมจะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ นอกจากนั้น วัตถุประสงค์ของการเยือนจีนครั้งนี้ของนาง อังเกลา แมร์เคิล ยังเพื่อบรรลุข้อตกลงความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจ พลังงานสะอาด การประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการลงนามความร่วมมือทางการค้า 6 ฉบับ รวมทั้งข้อตกลงอนุญาตให้นักลงทุนเยอรมัน สามารถลงทุนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 80,000 ล้านหยวน ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความแข็งแกร่งของตลาดการเงินหยวนในการก้าวสู่ความเป็นสกุลเงินโลก

สื่อต่างประเทศได้ระบุว่า ก่อนหน้าที่นางแมร์เคิลจะมาที่เฉิงตู บรรดานักธุรกิจระดับอาวุโสในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ทั้งของจีน และเยอรมัน ต่างก็ได้พบปะหารือก่อนแล้ว อาทิ นายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ป ฯลฯ ส่วนทางด้านเยอรมนี ก็นำมาโดยนายมาร์ติน บรุนเดอร มูลเลอร์ สมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร BASF บริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมัน

จากการสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนฯ พบว่าบรรดานักธุรกิจเยอรมัน มีความมั่นใจกับการลงทุนการค้าในจีนมากกว่าชาติยุโรปอื่นๆ ซึ่งกังวลผลตอบแทนการค้ากับจีน และเริ่มมองหาตลาดใหม่นอกไปจากจีน ด้วยไม่อาจสู้กับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ปัญหาการแข่งขันกับผู้ประกอบการท้องถิ่น อีกทั้งไม่อาจเข้าถึงตลาดจีนได้ โดยสถาบันจีนศึกษา แมรคาเตอร์ (Mercator Institute for China Study) ในกรุงเบอร์ลิน เผยว่าปีนี้ สัดส่วนผู้ประกอบการธุรกิจยุโรปในจีนตกลงมาที่ร้อยละ 57 จากเดิมร้อยละ 86 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจเยอรมันกลับมองโลกในแง่ดี โดยผลสำรวจพบว่ามีความมั่นใจในการทำธุรกิจในจีน เซบาสเตียน เฮลมานน์ ผู้อำนวยการสถาบันแมรคาเตอร์ฯ กล่าวว่า นี่เป็นทศวรรษทองของการค้าจีน เยอรมัน แม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้างแต่ก็ยังมีความก้าวหน้าฯ

ในด้านความเสี่ยงของการค้ากับจีนนั้น ผลสำรวจพบว่า แคมเปญต่อต้านคอร์รัปชั่น มีผลให้ยอดขายสินค้าหรูหราอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญของชาติยุโรป อย่างฝรั่งเศสตกฮวบ นอกจากนั้นยังอาจความเสี่ยงด้านระบบธนาคารจีน และหนี้ธุรกิจซึ่งบรรดากิจการระดับเล็ก-กลางของเยอรมันอาจได้รับผลกระทบบ้าง เพราะมีปัญหาการชำระหนี้ค้างนานถึง 6 เดือน โดยกิจการเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ประกอบการเยอรมัน ที่บริหารแบบครอบครัว และต่างมีส่วนร่วมในความรุ่งเรืองทางการค้ากับจีนมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจเยอรมนีนั้นพบว่า เยอรมนีฟื้นตัวจากวิกฤติรวดเร็วกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะภาคส่งออก ซึ่งมีตลาดสำคัญ 3 อันดับแรก คือฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และจีน

แมร์เคิล เป็นผู้นำประเทศที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดคนหนึ่งของยุโรป (ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2005) มีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและธุรกิจกับจีนอย่างแข็งแกร่ง พร้อมทั้งผลงานที่ช่วยกอบกู้เศรษฐกิจเยอรมนีพ้นจากหายนะวิกฤติการเงินยุโรป ซึ่งปัจจัยสำคัญในการรอดภัยนั้นคือความสัมพันธ์อันดีกับจีนทั้งนี้รายงานข่าว ยังกล่าวว่า ลำพังในปีนี้ปีเดียว ผู้นำสองชาติต่างผลัดเวียนกันไปเยือนซึ่งกันและกัน ตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เดินทางไปเยือนฯ พอเมษายนเดือนถัดมา รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี นายแฟรงค์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ก็มาจีนบ้าง เช่นเดียวกับรองนายกรัฐมนตรีเยอรมนี และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงาน นายซิกมาร์ กาเบรียล ก็เดินทางมาในเวลาไล่เรี่ยกัน

สำหรับครั้งล่าสุดนี้ นอกจากเศรษฐกิจการค้า ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น สถานการณ์ร้อนต่างๆ ในภูมิภาคและโลก ที่สำคัญที่สุดคือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้การประชุมผู้นำเยอรมนี-จีนที่จะมีขึ้น ณ กรุงเบอร์ลิน ในเดือนตุลาคมนี้ ลุล่วงไปด้วยดี อันจะสร้างความรุ่งเรืองโชติช่วงให้แก่กันและกันในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น