เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ว่ากันว่าห้องสุขาสาธารณะบนแดนมังกร ซึ่งสกปรกเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศมากมายขวัญผวา และหลายคนรีรอ ยังไม่ไปเที่ยวเมืองจีนก็เพราะเรื่องนี้
ทว่าปัญหา “เร่งด่วน” ของชาติ ที่แก้ไขไม่ตกมานาน ในที่สุดก็พบทางออกแล้ว เมื่อนักวิจัยจีนค้นพบ “อาวุธชีวภาพ” ที่สามารถดูดกลิ่นเหม็น อันร้ายกาจได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ซึ่งจะนำมาทดลองใช้กับห้องน้ำในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) นำร่องเป็นแห่งแรก
“ ห้องน้ำปลอดกลิ่น” ปรากฏเป็นหัวข้อเด่นในเว็บไซต์ของสถาบันวิทยาศาสตร์จีนเมื่อเดือนมิ.ย. 2557 โดยแบคทีเรียฮีโร่ ที่ค้นพบอยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส ซึ่งมนุษย์นำมาผลิตโยเกิร์ต เนยแข็ง เบียร์ และช็อกโกแลต
แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสจะกินของเสียในร่างกายคนเรา แล้วปล่อยกรดแลคติก ซึ่งกำจัดการเติบโตของแบคทีเรีย ที่สร้างกลิ่นเหม็นส่วนใหญ่ได้
วิธีการ ที่นักวิทยาศาสตร์จีน ค้นพบสามารถนำมาใช้ทั้งในรูปของผงแป้ง หรือของเหลว และมีราคาถูก โดยขนาดบรรจุขวดครึ่งลิตรมีราคาประมาณ 20 หยวน ( ราว 100 บาท) ซึ่งใช้ทำความสะอาดห้องน้ำได้หลายห้อง
ดร.เหยียน จื้ออิง นักแบคทีเรียวิทยาของประจำสถาบันชีววิทยาเฉิงตู ซึ่งอยู่ในสังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์จีน และเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัยของโครงการเปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวในมณฑลเสฉวน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย รวมทั้งอุทยานแห่งชาติหุบเขาจิ่วไจ้ จะเป็นพวกแรก ที่ได้สัมผัสกับบรรยากาศอันสดชื่นของห้องสุขาสาธารณะที่นี่ ซึ่งจะนำเทคโนโลยี ที่ค้นพบมาใช้เป็นแห่งแรก
ทั้งนี้ ห้องสุขาสาธารณะหลายแห่งในเขต ที่ยังไม่ค่อยเจริญในจีนนั้น ไม่เป็นแบบชักโครก จึงอาจถูกทอดทิ้งให้เกิดกลิ่นสยองมาเป็นแรมเดือน หรือแรมปี
หลังจากประสบความสำเร็จในการค้นพบแบคทีเรียกำจัดกลิ่นเหม็นได้แล้ว นักวิจัยคณะนี้ยังได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับจุลินทรีย์ ที่สร้างกลิ่นหอม โดยได้ใช้เวลาหลายปีในการแยกจุลินทรีย์จากลำไส้ของคนและหมู ซึ่งมีสภาวะ ไม่ต่างอะไรกับบ่อขยะ แล้วนำมาทดลองเลี้ยงในโลกภายนอก
ดร.เหยียนระบุว่า วิธีการนี้สามารถใช้กำจัดกลิ่นเหม็นจากขยะอินทรีย์ เช่นฟาร์มสัตว์ หรือบ่อกำจัดขยะในเมือง โดยทางการเมืองก่วงโจวได้ติดต่อคณะนักวิจัย เพื่อนำมาทดลองใช้แล้ว
ในอนาคตหากมีการนำมาเทคโนโลยี ที่สถาบันวิทยาศาสตร์จีนคิดค้นและพัฒนาขึ้นนี้มาใช้ทั่วประเทศ ทางสถาบันก็มีกำลังการผลิตผงแป้งได้ถึง 1,200 ตันต่อปี
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้ได้ผลในบางสภาวะเท่านั้น เช่น ไม่สามารถใช้ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งห้องน้ำมีความร้อนไม่เพียงพอ เนื่องจากแบคทีเรียจะเติบโตในอุณหภูมิอากาศไม่ต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส นอกจากนั้น จุลินทรีย์เหล่านี้ยังต้องกินอาหาร เพื่อดำรงชีวิตอีกด้วย จึงยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง