xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ธรรมดา เม็ดเงินค้างาช้างในจีน ช่วยอุดหนุนกลุ่มก่อการร้ายในแอฟริกากับตะวันออกกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์- การลักลอบค้างาช้างในประเทศจีน ไม่เพียงแต่สร้างปัญหาด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่เงินค่างาช้างยังหมุนสะพัดอุดหนุนกลุ่มติดอาวุธในแอฟริกาและตะวันออกกลางหลายกลุ่ม กลายเป็นประเด็นการคุกคามความมั่นคงระดับชาติ
ความต้องการงาช้างจำนวนอย่างไม่รู้จักพอในประเทศจีน มีส่วนสนับสนุนการเงินให้กับกลุ่มก่อการร้ายในแอฟริกาและตะวันออกกลาง (ภาพ: เอเจนซี)
ความต้องการงาช้างอย่างไม่สิ้นสุดในประเทศจีน เป็นเชื้อเพลิงให้เกิดความรุนแรงและการนองเลือดทั่วทั้งทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง เพราะกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง อาทิ อัล-ชาบับ (Al-Shabaab) และกลุ่ม L.R.A . ใช้งาช้าง หรือเรียกกันว่า “ทองคำขาว” เป็นแหล่งหาทุนซื้ออาวุธ

ทั้งนี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme หรือ UNEP) ออกรายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ กองกำลังกบฎ L.R.A (Lord's Resistance Army) สามารถทำเงินจากการค้างาช้างได้ปีละ 4-12 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในรายงานยังอ้างคำกล่าวเมื่อปีก่อน (2556) ของนางฮิลลารี ร็อดแดม คลินตัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า กลุ่มติดอาวุธ เคลื่อนไหวกิจกรรมก่อการร้าย โดยทุนส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการลักลอบค้างาช้าง

ในขณะที่ปัจจุบัน ราคางาช้างก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นสามเท่าจากเมื่อสี่ปีก่อน คิดเป็น 2,100 เหรียญสหรัฐต่อหนึ่งกิโลกรัม (ราวๆ กิโลกรัมละ 63,000 บาท) ดังนั้น กลุ่มก่อการร้ายและกองกำลังติดอาวุธจึงทำกำไรอย่างงามจากธุรกิจดังกล่าว

โดยกลุ่มที่ทรงอิทธิพลที่สุดกลุ่มหนึ่ง คือ อัล-ชาบับ ซึ่งเป็นเครือข่ายสาขาของอัล-กออิดะห์ ที่มีฐานอยู่ในประเทศโซมาเลีย

อัล-ชาบับ มีกำลังทหารราวๆ 4,000-6,000 คน เป็นกลุ่มที่ก่อเหตุลอบสังหารฝ่ายนิติบัญญัติของโซมาเลียเมื่อวันพฤหัสบดี(3 ก.ค.) ที่ผ่านมา และเคยบุกโจมตีห้างสรรพสินค้าไนโรบี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 67 คน เมื่อเดือน ก.ย. ปีก่อน

กลุ่มอัล-ชาบับ มีบทบาทเป็นพ่อค้าคนกลางและเป็นผู้ซื้อ แตกต่างจากกองกำลังกบฎ L.R.A และกลุ่มนักรบอาหรับยันยาวิด (Janjaweed) ในซูดาน ซึ่งเป็นผู้ล่าและฆ่าช้างเพื่อเอางาไปขาย

หลังได้ออร์เดอร์จากลูกค้า อัล-ชาบับก็จะส่งออร์เดอร์ไปให้พันธมิตรในเคนยาและโซมาเลียเพื่อรับของ จากนั้นก็จะใช้ความเชี่ยวชาญในการลักลอบ ขนงาช้างลงเรือในมัมบาซา หรือ ดาร์-เอส-ซาลาม ในแทนซาเนีย แอนเดรีย ครอสต้า ผู้อำนวยการบริหาร Elephant Action League และอดีตที่ปรึกษาหน่วยความมั่นคงและข่าวกรอง ให้ข้อมูล

“ในแอฟริกา กลุ่มอัล-ชาบับถือเป็นลูกค้าที่มีชื่อมาก พวกเขาให้ราคาดี จ่ายตรงเวลา และไม่ตุกติกเล่นตลก โดยปกติพวกเขาจัดการรับของที่ไหนสักแห่งและย้ายลงเรือพายเล็กออกนอกฝั่งอย่างรวดเร็ว เหมือนกับที่ค้ายาเสพติด” ครอสต้า ระบุ

พวกเขา (อัล-ชาบับ) สั่งซื้องาช้าทุกเดือนๆละ 1 ถึง 3 ตัน และใช้กำไรที่ได้ไปกับการซื้ออาวุธ ครอสต้า ระบุเพิ่มเติม

ทั้งนี้ งาช้างที่ขายกัน มักมีตลาดปลายทางที่ฮ่องกงและแผ่นดินใหญ่ และเงินที่ได้ก็ช่วยสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายหลายแสนดอลล่าร์ แอนเดรีย ครอสต้า กล่าว

โดยจีนเป็นตลาดผู้บริโภคงาช้า ใหญ่ที่สุดในโลก และมีการขนลงเรือเข้ามาในฮ่องกงเพื่อใช้เป็นทางผ่านก่อนเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ ส่วนปริมาณงาช้างของตลาดจีนคิดเป็น 60-90 เปอร์เซ็นต์ของงาช้างทั้งหมดที่ส่งมาจากแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม จากของกลางที่ยึดได้ ครอสต้า เห็นว่า ปริมาณงาช้างในจีน อาจอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งหมด เพราะจากปฏิบัติการคอบบร้าสอง (Cobra II) ซึ่งดำเนินการโดยองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) เพื่อปราบปรามอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่า ก็พบว่า คดี 200 คดีจาก 350 คดีในเรื่องงาช้าง เกี่ยวข้องกับจีน

"ผู้คนต้องรู้ว่าเบื้องหลังการค้างาช้างที่ดูสวยหรูนี้ คือ ห่วงโซ่อาชญากรรมและการนองเลือด" ครอสต้า ผู้เข้าร่วมการไต่สวนลับที่ดำเนินมา 18 เดือน เกี่ยวกับองค์การต่างๆในขบวนการการค้าผิดกฎหมาย

“มีคนเสนองาช้าง อาวุธ และกระทั่งยูเรเนียมให้ผม ผู้ซื้องาช้างจึงควรเข้าใจว่า คนประเภทไหนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้”

อนึ่ง ปีที่ผ่านมา (2556) มีการยึดงาช้างในฮ่องกงได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึง 8,041 กิโลกรัม สูงกว่าปี 2555 ถึง 43 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มจากปี 2541 ถึง 300 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขจากกรมเกษตร ประมง และการอนุรักษ์ฮ่องกง เผย

ด้านโฆษกของกรมศุลกากรฮ่องกงระบุ ฮ่องกงยังคงร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของแผ่นดินใหญ่เพื่อป้องกันการลักลอบค้างาช้าง แต่ก็ระบุด้วยว่า “ยังไม่พบหลักฐาน” ที่ชี้ได้ว่าฮ่องกงเป็นแหล่งส่งผ่านการค้างาช้าง

ด้านการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora หรือเรียกโดยย่อว่า ไซเตส - CITES) ซึ่งจะจัดขึ้นในสัปดาห์นี้ ที่เจนีวา ก็อาจระบุประเด็นความเชื่อมโนยงระหว่างการค้างาช้างกับกลุ่มก่อการร้ายไว้ในวาระการประชุม รวมทั้งถกประเด็นที่ค้างไว้เรื่องกลไกการตัดสินใจ (decision-making mechanism หรือ DMM) ที่จะทำให้เกิดการซื้อขายงาช้างอย่างถูกกฎหมายในประเทศที่ต้องการมากอย่างจีน และประเทศผู้ขายในแอฟริกา

“DMM เป็นสิ่งชี้ขาดอนาคตของประชากรช้างแอฟริกันกลุ่มสุดท้ายที่เหลืออยู่” อเล็กซ์ ฮอฟฟอร์ด จากองค์กรช่วยเหลือสัตว์ป่า WildAid ระบุ “ มันพิสูจน์ให้เห็นกันหลายครั้งแล้วว่า การค้างาช้างอย่างถูกกฎหมายช่วยบังหน้าการค้าแบบเถื่อน”

ในปี 2542 และ 2551 จีนเคยยอมให้มีการซื้องาช้างอย่างถูกกฎหมายภายใต้การควบคุมของรัฐบาล แต่ผู้ขายพยายามฟอกงาช้างผิดกฎหมายในตลาดขนาดเล็กที่ถูกกฎหมาย ฮอฟฟอร์ด กล่าว

ดังนั้น “ประเด็นหลักจึงอยู่ที่การหาประโยชน์จากตลาดที่ถูกต้องตามกฎหมาย” แมรี ไรซ์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การสืบสวนสภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Investigation Agency) ระบุ

“บทบาทของจีนมีผลมากในการลดความต้องการงาช้างผิดกฎหมาย แต่ความต้องการงาช้างถูกกฎหมายในจีนก็ยังคงมีอยู่” ไรซ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนจีนในไซเตส (CITES) ก็มิได้ออกมาชี้แจงแต่อย่างใด

อีกทั้ง ที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยมีการถกกันอย่างจริงจังใน เรื่องที่ว่า ช้างแอฟริกากำลังจะสูญพันธุ์ภายในสิบปีนี้

“การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายเป็นอาชญากรรมร้ายแรง มูลค่าการค้าในแต่ละปี สูงถึง 80,000 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 330,000 ล้านบาท) นอกจากคุกคามอนาคตในการรักษาสายพันธุสัตว์ป่าทั้งหมดแล้ว ยังได้ทำลายสังคมที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว ทำให้สถานการณ์คอรัปชั่นยิ่งขยายวงเลวร้าย และบ่อนทำลายมาตรการขจัดความยากจน” มาร์ติน วัลลีย์ ผู้ประสานงาน International Wildlife Trade Campaign ของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น