เอพี - บัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สร้างสีสันให้การหารือกันว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นวานนี้ (28 มิ.ย.) ด้วยการ “อุปการะ” ลูกสิงโตวัย 6 เดือน
ลูกสิงโตเพศเมีย ซึ่งอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในอุทยานแห่งชาติกรุงไนโรบีของเคนยาตัวนี้ จะถูกนำไปเลี้ยงดูที่สถานรับเลี้ยงสัตว์ไนโรบี (Nairobi Animal Orphanage) โดยบันได้ตั้งชื่อให้มันว่า “ตูไมนี” ซึงหมายถึง “ความหวัง” ในภาษาสวาฮีลี ที่ใช้สื่อสารกันในประเทศเคนยา ภายหลังที่เขา “ตั้งความหวังของว่า ประชาชนทั่วโลกจะสามารถอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”
บัน กล่าวว่า “ผมคาดหวังจากใจว่า เจ้าสิงโตตัวนี้จะเติบโตขึ้นมาสมบูรณ์แข็งแรง และอาจจะดุร้ายด้วยซ้ำ” พร้อมวาดหวังเรื่องสิ่งแวดล้อม ภายหลังที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติเปิดฉากขึ้นเป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้
สมัชชาครั้งนี้นับเป็นการประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ระหว่างเจ้าหน้าที่ยูเอ็นในระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยมี โดยผู้เข้าร่วมกว่า 1,200 คนจากชาติสมาชิก 193 ประเทศจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ที่กรุงไนโรบี เมืองซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) และบันคาดหวังว่า เขาจะได้เห็นเหล่าชาติสมาชิกยูเอ็นลงมติยอมรับข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ระหว่างการประชุมอย่างเป็นทางการที่กรุงลิมา ของเปรู ในเดือนธันวาคมนี้
การก่ออาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อม และการก่อการร้ายระดับนานาชาติคือประเด็นหลักในวาระของที่ประชุมสมัชชาครั้งนี้ ไม้เถื่อนและผลิตภัณฑ์ที่มาจากการก่ออาชญากรรมต่อสัตว์ป่า เช่น งาช้าง และนอแรด ถูกลอบค้าผ่านเส้นทางเดียวกับที่ขบวนการค้าอาวุธเถื่อนใช้ กลุ่มหัวรุนแรง “อัล-ชาบับ” ในโซมาเลีย สามารถสร้างเม็ดเงินได้หลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปีจากการค้าถ่านไม้ผิดกฎหมาย ขณะที่กองทัพต่อต้านของพระเจ้า (The Lord's Resistance Army) ที่สหรัฐฯ ส่งกองกำลังเข้าไปต่อสู้ทั่วภูมิภาคแอฟริกากลาง ก็ลอบค้างาช้างด้วยเช่นกัน
บัน กล่าวเตือนว่า กิจกรรมที่น่ารังเกียจและเป็นการก่ออาชญากรรมในประเทศเช่นนี้อาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็นการก่อการร้ายระดับนานาชาติ และยังเรียกร้องให้เหล่าผู้นำโลกจัดการกับการก่อการร้ายอย่างครอบคลุม โดยเริ่มต้นจากในพรมแดนของประเทศตนเอง
บัน กล่าว “องค์การสหประชาชาติกำลังพยายามให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น และร่วมมือกับประเทศในทวีปแอฟริกา ผ่านการดำเนินยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก เหล่าผู้นำทางการเมืองควรหารือกันอย่างรอบด้าน และดำเนินนโยบายที่ครอบคลุมเพื่อให้สามารถตอบสนองคนทุกกลุ่ม นี่คือหลักการขั้นพื้นฐานที่ผมคาดหวังให้ผู้นำระดับโลกลงมือทำ”
เมื่อกล่าวถึงกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ “โบโกฮาราม” ที่ก่อเหตุลักพาตัวนักเรียนหญิงชาวไนจีเรียไปกว่า 200 คนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บันกล่าวว่าไม่มีประเทศใดควรดำเนินภารกิจต่อต้านก่อการร้ายแบบตัวคนเดียว ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้ส่งทูตพิเศษไปพบประธานาธิบดี กูดลัก โจนาธาน แห่งไนจีเรียเพื่อเสนอความช่วยเหลือต่างๆ ให้แก่ชาติแอฟริกาแห่งนี้มาแล้ว 2 ครั้ง
เมื่อเช้าวานนี้ (28) ประธานาธิบดี อูฮูรู เคนยัตตา แห่งเคนยา และบัน ได้หารือกันถึงวิธีการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่กองกำลังความมั่นคงของเคนยา นอกจากนี้ผู้นำทั้งสองยังปรึกษากันถึงประเด็นด้านความมั่นคงในโซมาเลีย ซูดานใต้ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนคองโกอีกด้วย
ลูกสิงโตตัวใหม่ของบันไม่ใช่สัตว์ต่างแดนตัวแรกที่เขาได้รับระหว่างดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ โดยเมื่อปี 2009 มองโกเลียเคยให้ม้าหายากชื่อ เองค์ไทวัน หรือ “สันติภาพ” และเมื่อปี 2008 ประธานาธิบดี ซัลวา คีร์ แห่งซูดานใต้ ก็มอบกระทิงสีขาวชื่อ บัน คีมู ให้แก่เขา