xs
xsm
sm
md
lg

(ชมภาพ) สตรีเท้าดอกบัวคนสุดท้าย ประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เท้าของนางจาง ยุ่นยิ่ง หญิงชราในวัยกว่า 80 ปี เส้นผมหงอกขาวทั้งศีรษะ แต่ยังคงมีรอยยิ้ม แม้ว่าการเดินเหินของเธอจะดูเหมือนเด็กๆ เพราะสรีระข้อเท้าที่ผิดธรรมชาติ จากการมัดเท้านั่นเอง (ภาพโจ ฟาร์เรล)
เอเยนซี - ช่างภาพอังกฤษ เผยภาพสตรีจีนที่ถูกมัดเท้าตามประเพณีความเชื่อเท้าดอกบัว โดยออกค้นหาและถ่ายภาพเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจเหล่านี้ไว้ แม้จะมีเวลาอีกไม่นานก็ตาม

สื่อต่างประเทศ เผย (20 มิ.ย.) ภาพสตรีจีนที่ถูกมัดเท้า ตาม “ประเพณีการรัดเท้าของผู้หญิงจีนโบราณ” หรือเรียกอีกอย่างว่า เท้าดอกบัว ตามค่านิยมความงามซึ่งผู้หญิงชนชั้นสูง งามบอบบาง และบริสุทธิ จะมีผู้มาสู่ขอนั้น จะดูที่เท้าว่าต้องยาวไม่เกิน 3 นิ้ว อันเป็นเสมือนคุณลักษณะสตรี-บุตรสาวในครอบครัว ที่จะมีผู้ต้องการสู่ขอออกเรือนมีครอบครัว

รายงานข่าว ได้เผยภาพของนางจาง ยุ่นยิ่ง และหญิงชราอีก 3 คนในวัยกว่า 80 ปี เส้นผมหงอกขาวทั้งศีรษะ แต่ยังคงมีรอยยิ้ม แม้ว่าการเดินเหินของเธอจะดูเหมือนเด็กๆ เพราะสรีระข้อเท้าที่ผิดธรรมชาติ จากการมัดเท้านั่นเอง

ภาพถ่ายของสตรีเท้าดอกบัว ถูกเผยแพร่ โดย โจ ฟาร์เรล ช่างภาพสตรีชาวอังกฤษ ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อน ได้เริ่มเดินทางไปจีนเพื่อค้นหาสตรีจีนผู้ผ่านประเพณีมัดเท้า ที่ยังคงหลงเหลือมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน โดยเธอได้รู้จักพบเจอถึง 4 คน ได้แก่ นางโหว จุ่นหรง นางจ้าว หวาหง นางสู่ว์ ซื่อหรง และนางจาง ยุ่นยิ่ง ผู้ซึ่งโจ ฟาร์เรลยังคงเดินทางไปเยี่ยมทุกปี เพื่อพูดคุยบันทึกเรื่องราวชีวิตฯ

แต่ละขวบปีที่ผ่าน ฟาร์เรล บอกว่าเธอได้พบกับหญิงจีนอีกหลายคนที่มีเท้าดอกบัว โดยทุกคนล่วงเลยสู่วัยชรา อายุย่าง 90 ปีทั้งสิ้น เธอเหล่านี้คือประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจที่บอกเล่าถึงอัตลักษณ์ และค่านิยมความงามของหญิงจีนในอดีต

ฟาร์เรล บอกว่า เธอต้องทำงานแข่งกับเวลา ด้วยแต่ละวันที่ผ่านไป อาจคือวันสุดท้ายของหญิงชราเท้าดอกบัว และที่ผ่านมานั้น สตรี 3 คน ซึ่งเธอได้ทันพบเห็น ก็สิ้นอายุจากไปในเวลาไล่เรี่ยกันแล้ว

ทั้งนี้ ฟาร์เรล มองประวัติศาสตร์อันชวนฉงน อย่างเข้าใจว่า การมัดเท้าของสตรีจีนในอดีต ก็ไม่แตกต่างจากสาวทันสมัยในปัจจุบัน ซึ่งศัลยกรรมความงามด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดฟัน ตัดกราม ฉีดโบทอกซ์ เสริมอก สักผิวหนัง ปลูกผม ฯลฯ โดยการมัดเท้าของจีนนี้ เป็นการแสดงสถานะของสตรี ผู้ปกครองของเธอมัดเท้าจัดรูปเพื่อให้ได้เปรียบในการถูกเลือกเป็นคู่ครอง ตามความเชื่อที่ว่า เท้าเล็กของหญิงสาวเป็นสิ่งดีงาม ผู้หญิงที่ดีอยู่ในโอวาทของพ่อ เชื่อฟังสามีหรือลูกชาย อันเป็นกรอบความคิดในยุคสมัยที่บุรุษเป็นใหญ่

ประเพณีการมัดเท้าถูกยกเลิกไปเมื่อตอนรัฐบาลคอมมิวนิสต์ลุยกวาดล้างวัฒนธรรมเก่าเมื่อกลางศตวรรษที่ผ่านมา โดยในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น ได้มีการกวาดล้างวัฒนธรรมประเพณีเก่าของจีนมากมาย รวมทั้งประเพณีมัดเท้าดอกบัวนี้ด้วย

ลมหายใจและทุกย่างก้าวที่ยังคงย่ำไปของสตรีเหล่านี้ คือชีวิตที่ผ่านประวัติศาสตร์ ผ่านความรุ่งเรืองและเสื่อม ผ่านสงครามกลางเมือง ผ่านการกวาดล้างวัฒนธรรมบ้านแตก พลัดพราก และอพยพฯ ของผู้คนในแผ่นดิน มาสู่วัฒนธรรมสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 20

อย่างไรก็ตาม น่าเศร้าใจว่าสตรี 3 ใน 4 คน ที่ฟาร์เรลได้พบเจอ กลับสิ้นอายุไปแล้ว ในเวลาไม่กีปีมานี้เอง ฟาร์เรลยอมรับว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เธอโชคดีได้พบสตรีทั้ง 4 คนนี้ ได้พบเห็นความงามที่ดำรงอยู่ภายในของสตรีเหล่านี้ ซึ่งเบ่งบานดุจดอกบัวแย้มบริสุทธิ์ อีกทั้งได้ทันบันทึกเรื่องราวอันเป็นดังหนึ่งลมหายใจแห่งศตวรรษจีน
นางสู่ว์ ซื่อหรง กับสามี โดยนางสู่ว์ เป็นสตรีเท้าดอกบัวเพียงคนเดียวที่โจ ฟาร์เรลได้พบ ที่สามีของตนนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ (ภาพโจ ฟาร์เรล)
นางจ้าว หวาหง อีกหนึ่งสตรีเท้าดอกบัวที่โจ ฟาร์เรลถ่ายบันทึกภาพไว้ในปี พ.ศ. 2553 (ภาพโจ ฟาร์เรล)
นางโหว จุ่นหรง ภาพนี้โจ ฟาร์เรลถ่ายไว้เมื่อปีพ.ศ. 2553 (ภาพโจ ฟาร์เรล)
นางโหว จุ่นหรง ภาพนี้โจ ฟาร์เรลถ่ายไว้เมื่อปีพ.ศ. 2553 (ภาพโจ ฟาร์เรล)
กำลังโหลดความคิดเห็น