เอเจนซี--กรณีร้องทุกข์เกี่ยวกับมลพิษอากาศในกรุงปักกิ่ง เพิ่มเป็นสองเท่าในช่วง 5 เดือนของปีนี้(2557) อันเป็นสัญญาณชี้ระดับความไม่พอใจของประชาชนต่อการที่ต้องจ่ายราคาให้แก่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของเทศบาลนครปักกิ่งแถลงเมื่อวันศุกร์(13 มิ.ย.) ระบุมีกรณีร้องทุกข์เกี่ยวกับหมอกมลพิษจากเดือนม.ค.-พ.ค. 12,599 กรณี คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 124 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า(2556)
ขณะนี้จีนกำลังผจญมลพิษอากาศอ่วม ในเดือนมี.ค. นากรัฐมนตรีหลี เค่อเฉียง ประกาศ “สงครามต่อต้านหมอกมลพิษ” เพื่อคลี่คลายกระแสไม่พอใจของประชาชนต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในประเทศ ที่เน่าเละไปทั้งอากาศ แม่น้ำ และผืนดิน
สำนักงานสิ่งแวดล้อมเมืองหลวงแดนมังกร เผยมากกว่าร้อยละ 70 ของกรณีร้องทุกข์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมระหว่างช่วงเดือนม.ค.-พ.ค.นี้ วิตกเรื่องอากาศเสีย
ทางการจีนก็ได้พยายามออกมาตรการหลายระลอก เพื่อขจัดความเสี่ยงที่อาจก่อความวุ่นวายในด้านนี้ การประกาศสงครามต่อต้านมลพิษ มีทั้งเปิดศูนย์ฮ็อตไลน์ให้ประชาชนโทรเข้ามารร้องทุกข์ฯ จัดตั้งทีมแก้ไขปัญหาอย่างฉับไว ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาในการรณรงค์ปราบปรามผู้ละเมิดกฎปกป้องสิ่งแวดล้อม
กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับปรับแก้ใหม่ล่าสุด ระบุว่าบรรดาเจ้าหน้าที่จะต้องโปร่งใสและรับผิดชอบ ทั้งสัญญาจะปรับปรุงการเข้าถึงศาลสถิตยุติธรรมสำหรับประชาชนได้รับความเสียหายจากมลพิษต่างๆ
ในประกาศอีกฉบับของสำนักงานสิ่งแวดล้อมปักกิ่ง ระบุในเดือนมิ.ย.นี้เจ้าหน้าที่ได้ลงโทษบริษัทต่างๆ 114 รายไปแล้วหลังจากที่เดินหน้ารณรงค์กวาดล้างกลุ่มละเมิดด้านสิ่งแวดล้อมในภาคธุรกิจต่างๆ ได้แก่ ภาคบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ภาคผลิตและซ่อมแซมรถยนต์
• มังกรฟิตล้างบางอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม
ก่อนหน้าในวันพฤหัสฯ(12 พ.ค.) สำนักข่าวซินหวาของทางการจีน รายงานว่าสำนักงานอัยการแห่งรัฐ ได้ตั้งข้อหาผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม มากกว่า 20,000 รายเมื่อปีที่แล้ว(2556) โดยมีการเข้าจับกุมตัว กว่า 7,000 ราย
นอกจากนี้ ในประกาศสงครามต่อต้านมลพิษ ยังระบุให้สำนักอัยการของศาลประชาชนสูงสุด “ลงดาบ” ให้หนักข้อมากขึ้นในปีนี้ กำราบกลุ่มบริษัทที่ปล่อยมลพิษรวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปกป้องบริษัทเหล่านี้
ในมาตรการระดับประเทศนี้ สำนักข่าวซินหวารายงานว่าสำนักอัยการแห่งรัฐ ได้จัดตั้ง “กลไกโต้ตอบอย่างรวดเร็ว” เพื่อรับมือกับอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม เฉพาะในเดือนมี.ค.-เม.ย.มานี้ มีการไต่สวนฯ 228 กรณี และรับรองการจับกุมผู้ต้องสงสัยละเมิดฯ 1,375 คน
รายงานยังระบุอีกว่าในสี่เดือนแรกของปี 2557 นี้ มีผู้ต้องสงสัยละเมิดฯ 349 คน ถูกนำตัวมาไต่สวนในข้อหาละเลยหน้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยจำนวนผู้ที่ถูกนำตัวมาไต่สวนหรือดำเนินคดีดังกล่าวนี้ เพิ่มขึ้นเท่ากับ 1,545 กรณีนับจากช่วงต้นปีที่แล้ว(2556)
โดยหลายกรณี เป็นกรณีเจ้าหน้าที่ “รับสินบน” ละเมิดอำนาจหน้าที่ในการรับรองโครงการที่ปล่อยมลพิษ รวมทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ทำตัวเป็นร่มคุ้มครองผู้ปล่อยมลพิษ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ว่าศาลและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยังขาดมือไม้ในการจัดการกรณีละเมิดสิ่งแวดล้อมที่บานตะไทขึ้นทุกวัน.