xs
xsm
sm
md
lg

พบเพียง 3 ใน 74 เมืองใหญ่ของจีนอากาศถึงเกณฑ์ปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเปรียบเทียบระดับมลพิษในอากาศเหนือจตุรัสเทียนอันเหมินระหว่างการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติในกรุงปักกิ่ง – รอยเตอร์
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - สังเวยให้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เมืองใหญ่ 74 แห่งแดนมังกร มีเพียง 3 เมืองเท่านั้น ที่คุณภาพอากาศถึงเกณฑ์มาตรฐานแห่งชาติ

จากการเปิดเผยของนายอู๋ เสี่ยวฉิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงปกป้องสิ่งแวดล้อมของจีน เมืองทั้ง 3 แห่งนี้ได้แก่เมืองไหโขว่ ในมณฑลไห่หนัน (ไหหลำ) กรุงลาซาในทิเบต และโจวซานในมณฑลเจ้อเจียง

ขณะที่นครเซินเจิ้นติดอันดับ 10 เมือง ที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุด

ส่วนพื้นที่แถบกรุงปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย ซึ่งถูกหมอกควันปกคลุมนั้น ประสบมลพิษในอากาศมากถึงกว่าร้อยละ 60 ของวันเวลาในปีที่แล้ว จึงจัดว่า มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในจีน

ภูมิภาคดังกล่าวมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5 ) ซึ่งมีละอองเล็กกว่า 2.5 ไมครอนในระดับเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 106 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลกที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่แถบนี้มีถึง 7 เมือง ที่ติดอันดับ 10 เมือง ที่มีมลพิษในอากาศมากที่สุด

ด้านกลุ่มเมือง ที่ตั้งอยู่ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และจูเจียงจัดเป็นเมือง ที่เผชิญปัญหาหมอกควันเรื้อรัง

นายอู๋ชี้ว่า จีนกำลังสูญเสียสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นค่าตอบแทนสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างหนักหนาสาหัส โดยขณะนี้กำลังมีการพิจารณาแก้ไขทบทวนกฎหมายป้องกันสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มค่าปรับสำหรับผู้ก่อมลพิษ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า ขั้นตอนการแก้ไขทบทวนดำเนินมานานกว่า 1 ปีแล้ว เนื่องจากมีการเจรจาต่อรองกันอย่างดุเดือดในกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์

นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังไม่แน่ใจว่า การประกาศทำสงครามกับปัญหามลพิษอย่างขึงขังของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น จะไปได้สักกี่น้ำ เพราะปรากฏสัญญาณความขัดแย้งให้เห็นกันแล้ว เมื่อรัฐบาลปักกิ่งยังคงตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ร้อยละ 7.5 ซึ่งทำให้การรักษาสิ่งแวดล้อมประสบความคืบหน้าได้ลำบาก

นอกจากนั้น นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังกังวลว่า การรณรงค์ของรัฐบาลอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตามมา เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนให้ย้ายกระบวนการผลิตพลังงานสกปรก เช่น ถ่านหิน ไปอยู่ยังภูมิภาค ที่ยังไม่เจริญ

อย่างไรก็ตาม นายอู๋กลับปกป้องนโยบายดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ภูมิภาคเหล่านั้นมีความสามารถในการรองรับมลพิษได้มากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น