นายเดวิด ท็อด รอย (David Tod Roy) เดินเข้าไปยังร้านหนังสือมือสองในนครหนันจิงเมื่อปี 2493 ขณะนั้นเขาเป็น มิสชั่นนารี่อเมริกันหนุ่มน้อยวัย 16 ปี ที่กำลังมองหาหนังสือโป๊ๆเปลือยๆ การแสวงหาของเขาในครั้งนั้น นำเขามาพบกับนวนิยายอีโรติก อันลือลั่นของจีน “จินผิงเหมย” (金瓶梅) ฉบับดั้งเดิม ที่ยังไม่ผ่านการเซ็นเซอร์แต่อย่างใด
จินผิงเหมย เป็นนวนิยายอีโรติกชั้นคลาสสิก เป็นเรื่องราวชะตาชีวิตของพ่อค้าจอมฉ้อฉล ที่รุ่งโรจน์และอัปปาง ประพันธ์โดยนักเขียนนิรนามในปลายศตวรรษที่ 16
ก่อนหน้านั้น นายรอยเคยอ่าน จินผิงเหมย พากย์ภาษาอังกฤษ ที่แปลเก็บความอย่างไม่สมบูรณ์ และใช้ภาษาละตินตกแต่งบทพรรณนาฉากร่วมรักอันโจ่งครึ่มน่าสะอิดสะเอียน สำหรับจินผิงเหมย ฉบับที่นายรอยพบในร้านหนังสือมือสองที่เมืองหนันจิงนั้น เป็นฉบับเปดั้งเดิมพากย์ภาษาจีน ที่เจ้าของหนังสือคงได้โยนทิ้งหลังจากที่ผู้นำคอมมิวนิสต์เหมา เจ๋อตง ครองอำนาจปกครองประเทศ เพราะกลัวถูกจับ เนื่องจากจินผิงเหมย ถูกจัดอยู่ในบัญชีสิ่งต้องสงสัยทางการเมืองและจริยธรรม
“ด้วยวัยรุ่นเช่นนั้น การได้อ่านนวนิยายรักที่บรรยายฉากร่วมรักดิบเถื่อน มันตื่นเต้นมาก" นาย รอยเล่าอดีต ปัจจุบันเขาอายุ 80 ปี เป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก "แต่ผมได้พบเสน่ห์ในอีกด้านของมัน"
เช่นเดียวกับกลุ่มผู้อ่านที่ได้ติดตามเสน่ห์ของนวนิยายเล่มนี้ จากฉบับภาษาอังกฤษที่รอยได้พากเพียรใช้เวลาถึง 40 ปี ทยอยแปลและตีพิมพ์ออกมาจนถึงเล่มที่ห้าเล่มสุดท้ายเมื่อไม่กี่เดือนมานี้
นักเขียนนวนิยาย สตีเฟ่น มาร์ช (Stephen Marche) เขียนในคอลัมน์แนะนำหนังสือ The Los Angeles Review of Books เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากที่สำนักพิมพ์ Princeton University Press ตีพิมพ์ จินผิงเหมย พากย์ภาษาอังกฤษฉบับสมบูรณ์ ในชื่อหนังสือ The Plum in the Golden Vase มาร์ชยกย่องงานแปลเล่มนี้ของรอย ว่าได้ถ่ายทอดเรื่องราวนวนิยาย ทีอุดมด้วยความรู้เยี่ยงสารานุกรมแห่งราชวงศ์หมิง ในลีลาแบบฮอลลิวู้ด
เหล่านักวิชาการทั้้งหลายมิได้ผิดหวังในความคงแก่เรียนของเขาเลย รอยได้เก็บรายละเอียดเชิงวัฒนธรรมหรือเชิงอรรถเชิงวรรณกรรมอย่างมิมีหลุดมีพลาดเลย
“เขายึดถืออย่างเคร่งครัดว่าเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องรู้ทุกอย่างในหนังสือเล่มนี้อย่างหมดเปลือก หลายจุดที่อ้างขึ้นมาอย่างดูเหมือนบังเอิญ เขาก็มิปล่อยวาง ละทิ้งหรือข้ามไป" เว่ย ซัง อาจารย์ด้านวรรณคดีจีนแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าว "มันต้องอาศัยความดื้อรั้นมากพอในการบรรลุโครงการนี้"
นอกจากนี้ผู้อ่านทั่วไปก็ต้องใช้ความดื้อรั้นปานเดียวกันในการอ่านงานหนาหนักถึงห้าเล่มนี้ ที่อุดมด้วยรายละเอียดเยี่ยง ยูลิสซีส (Ulysses) ของนักเขียนชื่อก้องโลกเจมส์ จอยซ์" รอยให้เชิงอรรถจินผิงเหมยในฉบับแปลของเขา กว่า 4,400 แห่ง
ทั้งเนื้อหาอ้างอิงเชิงวรรณคดีที่คลุมเครือและคำแนะนำความรู้ประกอบในการอ่าน อย่างเช่น "การใช้กลีบดอกไม้ (impatiens blossom)และน้ำคั้นจากกระเทียมสำหรับย้อมเล็บของผู้หญิง" ไปถึงแสลงในยุคสมัยหมิงที่คลุมเครือ
“มันมิใช่เพียงงานแปลเท่านั้น หากเป็นหนังสืออ้างอิง" อี้หง จาง นักวิชาการแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์จ (University of Pittsburgh) ผู้ได้แปลเชิงอรรถจำนวนหนึ่งของรอยเป็นภาษาจีน สำหรับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา "มันได้เปิดหน้าต่างสู่วัฒนธรรมและวรรณคดีจีน"
และเรื่องเพศ เป็นสิ่งที่หล่อเลี้้ยงเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ มีไม่กี่คนที่ได้อ่านมันจริงๆ ในยุคเหมา กลุ่มที่สามารถเข้าถึงจินผิงเหมยฉบับดั้งเดิมได้นั้น มีเพียงกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ได้รับการมอบหมายให้ศึกษาสภาพการณ์คอรัปชั่นในราชสำนัก และสถาบันการศึกษากลุ่มหนึ่ง แม้กระทั่งปัจจุบัน จินผิงเหมยฉบับสมบูรณ์ก็ยังหายากในประเทศจีน แม้ว่าจะสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์จีนก็ตาม
ระดับความดิบเถื่อนยังคงสร้างความตกตะลึงแม้กับกลุ่มนักวิชาการด้านวรรณกรรมในโลกตระวันตก โดยเฉพาะบทที่ 27 อันโด่งดัง ที่พ่อค้านาม ซีเหมิน ชิ่ง กระทำแก่ชู้รักระดับปลายแถวของตน
"เมื่อผมบรรยายวรรณกรรมเล่มนี้ นักศึกษาหลายคนยังตกตะลึง แม้พวกเขารู้กิตติศัพท์ของนวนิยายนี้มาก่อน" แพทริเซีย ไซเบอร์ (Patricia Sieber) อาจารย์ด้านวรรณกรรมจีน แห่งมหาวิทยาลัยมลรัฐโอไฮโอ "การใช้วัถตุแปลกพิศดารเป็นเครื่องมือช่วยสำเร็จความใคร่ การใช้ยาโป๊อย่างน่าตกใจ การร่วมเพศอย่างสามานย์ในทุกรูปแบบ"
แต่ จินผิงเหมย เป็นมากกว่าเรื่องเซ็กซ์ เป็นเรื่องเล่าจีนขนาดยาวฉบับแรก ที่มิได้มุ่งนำเสนอเรื่องวีรบุรุษในตำนานและขุนพลในสนามรบ แต่ได้ฉายภาพของประชาชนทั่วไปและชีวิตประจำวัน ทั้งรายละเอียดยิบย่อยเกี่ยวกับอาหาร เสื้อผ้า จารีตในครอบครัว ยา การละเล่น และพิธีศพ รวมทั้งขุนนางที่หิวกระหายสินบน
“นวนิยายได้บรรยายถึงรายละเอียดอย่างพิศดารเกี่ยวกับสังคมฟอนแฟะและเสื่อมโทรมทางจริยธรรม" รอย กล่าว
รอยเริ่่่มลงมือแปลนวนิยายเล่มนี้ในทศวรรษที่ 1970 หลังจากนัั้นก็มีการตีพิมพ์ ฉบับแปลภาษาอังกฤษของ Clement Egerton ปี 1939 ที่ได้ปรับบทบรรยายฉากรักที่ตกแต่งด้วยภาษาละติน กลับมาเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังคงละทิ้งเนื้อหาอ้างอิงจากบทกวี สำนวน ต่างๆหลายๆตอน ที่รอยกล่่าวว่า เป็นเครื่องปรุงรสที่่เป็นแก่นสารสำคัญ
รอยเริ่มด้วยการคัดลอกบทตอนทุกบรรทัดจากวรรณคดีจีน รวบรวมไว้ในสมุดเชิงอรรถ ซึ่งค่อยๆทบทวีเป็นพันๆชิ้น และอ่านวรรณคดีทุกชิ้นที่ปรากฏในปลายศตวรรษที่ 16
จินผิงเหมยเล่มแรกของรอย เผยแพร่เมื่อปี 2536 เล่มถัดมาปรากฏในอีกแปดปีต่อมา หลายคนเรียกร้องให้เขาทำงานเร็วกว่านี้โดยตัดทอนเชิงอรรถ จนมีข่าวลือในเว็บไซต์จีนว่า รอยเสียชีวิตคางานแปลไปเสียแล้ว
กลุ่มนักวิชาการนับถือรอย (ซึ่งมีพี่ชาย คือ เจ.สเตเพิลตัน รอย (J. Stapleton Roy) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศจีน ระหว่างปี 2534-2538) เป็นผู้ชุบชีวิต "จินผิงเหมย" ลบชื่อฉาวโฉ่ในฐานะนวนิยายลามกวิตถารที่โลกตะวันตกกล่าวขวัญกัน และเปิดประตูสู่การศึกษานวนิยายในมุมมองทางการเมือง
นักแสดงความเห็นในจีน เปรียบนวนิบายเล่มนี้เสมือนกระจกสะท้อนเรื่องราวการเมืองและสังคมคอรัปชั่น ที่ยึดครองพื้นที่สื่อในปัจจุบัน "คุณจะพบคนอย่าง ซีเหมิน ชิ่งได้ทุกหนแห่งในเวลานี้" จางในพิตต์สเบิร์จ กล่าว "ไม่ใช่แค่ในจีน แต่เป็นทั่วทุกมุมโลก"
สำหรับ จินผิงเหมยพากย์ไทย มีฉบับแปล(ไม่สมบูรณ์) อาทิ ฉบับของยาขอบ ใช้ชื่อหนังสือ "บุปผาในกุณฑีทอง" และ ฉบับของเนียน กูรมะโรหิต ชื่อหนังสือ "ดอกเหมยในแจกันทอง"