xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรมชีวิตครอบครัวจีนภายใต้นโยบายลูกคนเดียว

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

โปสเตอร์รณรงค์นโยบายลูกคนเดียวขงอสำนักงานวางแผนครอบครัวจีน (ภาพ เอเจนซี)
หลังจากที่ประชุมเต็มคณะพรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยอนุญาตให้ครอบครัวในเขตเมืองมีลูกคนที่สองได้ ภายใต้เงื่อนไขที่สามีหรือภรรยา ฝ่ายหนึ่งเป็นลูกคนเดียว อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ที่ผ่านๆมา กระแสข่าวปัญหาที่เชื่อมโยงกับนโยบายลูกคนเดียวออกมาหนาตา ดูเหมือนจะเป็นการสร้างแรงกดดันผู้นำจีนปฏิบัติตามคำสัญญา

ล่าสุดในวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค. หยัง เหวินจวง ผู้อำนวยการฝ่ายสั่งการแห่งคณะกรรมการวางแผนครอบครัว เผย ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อ ว่ามาตรการจะมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า 2514 หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้เตรียมความพร้อมแล้วเสร็จ และสภานิติบัญญัติท้องถิ่นรับรองการปรับแก้กฏหมายในขั้นตอนสุดท้าย

ขณะที่ผู้นำจีนดูกลัวนักหนาในปัญหาจัดหาทรัพยากรมาสนองการบริโภคประชาชน ความวิตกนี้ได้สะท้อนออกมาจากสื่อกระบอกเสียงของรัฐช่วยกันลุยประโคมข่าวไม่หยุดหย่อน ตลอดเดือนที่ผ่านมา เพื่อโน้มน้าวประชาชนให้รู้สึกว่า "อาหารGMO ปลอดภัย" ขณะที่รัฐบาลกำลังคลอดนโยบายสนับสนุนการขายอาหาร GMO เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชากร 1,350 ล้านคน (ตามสถิติของหน่วยงานรัฐ) มีอาหารกินเพียงพอ

แต่ผู้นำจีนดูยอมจำนนต่อการเปลี่ยนแปลงกลุ่มประชากรที่จะสร้างปัญหาใหญ่ต่อเศรษฐกิจมากกว่า ปัจจุบันกลุ่มประชากรวัยทำงานในจีน มีอยู่ราว 940 ล้านคน ขณะที่ช่วง 2-3 ปีมานี้ กลุ่มวัยทำงานลดลง 3.45 ล้านคนปีต่อปีจนถึงในปีที่แล้ว (2555) นับเป็นอัตราลดอย่างสมบูรณ์ (absolute decrease) เป็นครั้งแรก ในขณะที่กลุ่มประชากรวัยชรากว่า 60 ปี ขยายตัว ถึง 194 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของประชากรจีนในปี 2593

จีนบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวมาแต่ยุคผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง รวมกว่า 30 ปี อนุญาตครอบครัวในเขตเมืองมีลูก "หนึ่งบ้าน หนึ่งคน" เท่านั้น ยกเว้นครอบครัวชนบทอาจมีลูกได้สองคนถ้าลูกคนแรกเป็นหญิง รัฐบาลรณรงค์ติดป้ายคำขวัญ ที่ฟังแล้วหนาวสะท้าน เช่น “ สิบความตาย ดีกว่า หนึ่งกำเนิด” หรือ “จงทำแท้งมัน! จงทำให้มันจบสิ้น!"

แต่นโยบายดังกล่าวก็ได้ส่งผลสะเทือนอย่างรอบทิศทาง ทั้งส่งแรงกระเพื่อมอย่างกว้างไกล
WANTED”-- ขณะที่เกิดข่าวลือว่าผู้กำกับดัง จาง อี้โหมว มีลูก 7 คน จากภรรยา 4 คน ก็เกิดกระแสกดดันอย่างหนักให้จาง ออกมาชี้แจง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “ตงฟางเว่ยเป้า” ลงโฆษณาเต็มหน้าประกาศหา “บุคคลที่ต้องการ” ขณะนี้ ทนายยื่นฟ้องจางในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนลูกคนเดียว เรียกร้องค่าปรับ 1,000 ล้านหยวน หรือ 5,000 ล้านบาท (ภาพ สื่อจีน)
ชาวปักกิ่งซึ่งมีลูกคนเดียว เล่าถึงชีวิตครอบครัวลูกคนเดียวว่า เมื่อนึกถึงมันขึ้นมาทีไร ก็รู้สึกกลัวแปลกๆพิลึกๆว่า “คุณลองนึกดูว่าเด็กที่มีคนคอยประคบประหงมพะนอถึง 6 คน คือ ปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ ดูเป็นชีวิตที่มีความสุข แต่ชีวิตก็จะกลับสวิงไปอีกด้าน...เมื่อลูกผมโตอายุ 30 ปี และผมอายุ 60 ปี และปู่ย่าตายาย ต่างก็มีอายุปาไปตั้ง 80 กว่าปีกัน ถึงตอนนั้น พวกเขาจะต้องดูแลคนแก่ถึง 6 คนด้วยกัน และหากลูกแต่งงานกับลูกโทนอีก ก็ต้องรับภาระดูแลคนแก่ 12 คน คุณคิดดูจะดูแลกันยังไง! รัฐบาลต้องคิดหนักจะแก้ปัญหาอย่างไร”

ชาวจีนนั้นยึดถือการมีลูกหลานเต็มบ้านเป็นโชควาสนาเป็นความสุขความอบอุ่นในครอบครัว การบังคับให้มีลูกคนเดียว ยังดูเป็นการฝืนธรรมชาติ หลายครอบครัวที่มีเงินยอมเสียค่าปรับก้อนโต กรณีที่ฮือฮามากในขณะนี้คือไม่กี่เดือนมานี้ มีข่าวลือผู้กำกับชื่อดัง จาง อี้โหมว มีภรรยา 4 คน และลูก 7 คน และเกิดกระแสกดดันให้จาง อี้โหมว ออกมาชี้แจง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมืองหนันจิง “ตงฟางเว่ยเป้า”ได้ลงโฆษณา “บุคคลที่ต้องการ” ตามล่าตัวจาง อี้โหมว จนใน 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา จาง อี้โหมวก็ออกมาแถลงยอมรับและขอโทษต่อสาธารณชน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่หน่วยวางแผนครอบครัวประจำเขตปินหูของเมืองอู๋ซีแห่งมณฑลเจียงซู ซึ่งนางเฉิน ถิง ภรรยาของจาง มีสำมะโนครัวอยู่นั้น ได้แถลงยืนยันว่าทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 3 คน ในปี 2544, 2547 และ2549 โดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่วางแผนครอบครัวและยังเป็นลูกนอกสมรส เนื่องจากจาง อี้โหมวและเฉินแต่งงานกันในปี 2554

ขณะนี้ทนายได้ยื่นฟ้องร้องทางกฏหมายต่อจาง อี้โหมว ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนนโยบายวางแผนครอบครัว และสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์สาธารณะ ในคำฟ้องร้องที่ยื่นไปยังศาลประชาชนแห่งเขตปินหู ได้เรียกร้องค่าปรับถึง 1,000 ล้านหยวน หรือ ราว 5,000 ล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นค่าชดเชยบริโภคทรัพยากรสาธารณะ และอีกครึ่งหนึ่งค่าปรับสินไหมทางกฎหมาย ทั้งนี้ ค่าปรับสำหรับการละเมิดนโยบายลูกคนเดียว คำนวณจากจำนวนบุตรและรายได้ต่อปีของผู้ละเมิด

การดำเนินนโยบายลูกคนเดียวของจีน ตกเป็นเป้าโจมตีมาตลอดว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้มาตรการนี้อย่างเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยมีการบังคับทำแท้งอย่างโหดเหี้ยม โดยที่กลุ่มคนรวยสามารถมีลูกเกินหนึ่งคนกันได้อย่างง่ายๆ เพียงเสียค่าปรับในระดับที่ขนหน้าแข้งไม่ร่วง แต่ระหว่างเกิดกรณีของผู้กำกับคนดังจาง อี้โหมว ชาวเน็ตจีนกลับได้อาศัยจังหวะนี้โจมตีตัวนโยบายลูกคนเดียวโดยตรง โดยหวังว่าจะช่วยเร่งให้เลิกนโยบายไปเสีย

อีกกรณีที่เศร้ารันทดที่ดูจะสะท้อนถึงการคอรัปชั่นและไร้มนุษยธรรมซึ่งเป็นบาดแผลใหญ่จากการบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียว ในวันจันทร์(9 ธ.ค.)ที่ผ่านมา ข่าวสื่อออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ประชาชนจีน รายงานว่า นาย ไอ้ ก่วงต้ง เกษตรกรในเมืองเหลียงเอ้อจวงในมณฑลหูเป่ย ได้ซดยาฆ่าแมลงดับคาสำนักงานพรรคคอมมิวนิสต์ในท้องถิ่น หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ยึดทรัพย์ของเขา คือ เสบียงข้าวโพด 3.5 ตัน เป็นค่าปรับฐานฝ่าฝืนนโยบายลูกคนเดียว

นายไอ้ และภรรยา มีลูกด้วยกัน 5 คน เป็นลูกสาว 4 คน และลูกชายคนสุดท้อง ครอบครัวมีรายได้จากการขายผลผลิตข้าวโพด ราว 5,000 หยวน/ปี เมื่อภรรยานายไอ้คลอดลูกสาวคนที่สองในปี 2548 เจ้าหน้าที่ก็เรียกค่าปรับ 7,000 หยวน หรือ 35,000 บาท และรีดค่าปรับ 60,000 หยวน หรือ ราว 300,000 บาท สำหรับการมีลูกคนที่สาม ในสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ก็ได้ยึดเสบียงข้าวโพดซึ่งเป็นแหล่งรายได้เดียวของครอบครัวไปถึงฤดูเก็บเกี่ยวปีหน้า
เด็กชายหลิว เจี่ย บุตรชายของนาง หลิว เฟย ซึ่งเป็นคนงานในโกดังสินค้าในกรุงปักกิ่ง นาง หลิว เฟย ถูกปรับ 330,000 หยวน หรือราว 1. 65 ล้านบาท คิดเป็น 14 เท่าของค่าจ้างหนึ่งปีของเธอ ในความผิดมีลูกคนที่สอง หลิวไม่สามารถจ่ายค่าปรับก้อนนี้ได้ ซึ่งหมายถึงว่าลูกของเธอจะไม่มีสิทธิพื้นฐานอาทิ การเข้าเรียน และการรักษาพยาบาล นางหลิวสิ้นหวังในการหาเงินมาจ่ายค่าปรับ จึงคิดขายไตตัวเอง เด็กชายเจี่ยวัย 8  ขวบ วิงวอนแม่ให้เอาไตของเขาไปขายแทน ภาพเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. (ภาพรอยเตอร์ส)
ครอบครัวจีนจำนวนมากได้อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย ไปคลอดลูกต่างแดน ลูกที่เกิดมาก็พลอยได้สิทธิพลเมืองในดินแดนที่ถือกำเนิด จนธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อไปคลอดลูก (Birth Tourism) ผุดเป็นดอกเห็ดโดยเฉพาะที่ฮ่องกงหญิงจีนจำนวนมากไปคลอดลูกที่ฮ่องกงระหว่างสิบปีมานี้ สถิติปี 2554 ระบุหญิงจีนคลอดลูกที่ฮ่องกงถึง 40,000 คน ถึงขนาดชาวฮ่องกงออกมาประท้วงเปรียบชาวจีนเป็นตั๊กแตนที่แห่มาแย่งทรัพยากรในดินแดน นอกจากนี้ กระแสหญิงจีนไปคลอดลูกในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯก็ยิ่งขยายตัวมากขึ้นถึง ราว 5,000 คนในปี 2552จากจำนวนเพียง 600 คนในปี 2550

กรณีของครอบครัวที่ต้องการให้ลูกคนที่สองไปถือกำเนิดในสหรัฐฯรายหนึ่ง สะท้อนปัญหาสังคมจีนที่พันกันยุ่งขิง นาย ฉิน เหว่ย ทำงานอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ จ่ายภาษีให้แก่เซี่ยงไฮ้ มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่เขาก็ยังคงเป็นผู้อาศัยชั่วคราวที่ไม่มีสิทธิรับผลประโยชน์ประกันสังคมใดๆของเซี่ยงไฮ้ “ลูกของผมก็ไม่มีสิทธิได้ขึ้นทะเบียนสำมะโนครัวของเซี่ยงไฮ้เช่นกัน ดังนั้น ผมจึงไม่เคยมีความรู้สึกเป็นเจ้าของเมือง หรือเจ้าของประเทศนี้มากมายนัก คนต่างถิ่นกับคนต่างชาติ ต่างก็มีคำว่า “ต่าง” เหมือนกัน ทำไม...ผมไม่ไปเป็นคนต่างชาติเสียเลยล่ะ?”

แต่ภรรยาซินดี้กลับไม่เห็นด้วย และได้ไปปรึกษาคนกลาง “เราไม่มีปัญหาเรื่องเงิน การได้สัญชาติอเมริกันมีความสำคัญมากจริงหรือ? สามีของฉันสิ้นหวังกับระบบที่เป็นอยู่ในประเทศจีนมาก สังคมที่นี่จะพังพินาจในไม่ช้าก็เร็ว ฉันไม่เห็นด้วย...ไม่นึกเลยว่าเขาจะนำความคิดแบบนี้มาเชื่อมโยงกับเหตุผลที่จะให้ลูกไปเกิดที่อเมริกา”

เหลียนเย่ว์คอลัมนิสต์รับปรึกษาปัญหาชีวิตในสื่อจีนได้ตอบคำถาม โดยหนึ่งในนั้นคือ “ถ้าสามีของคุณคิดว่าประเทศจีนไม่มีความหวัง จะพินาจไปในไม่ช้า เหตุผลนี้ก็น่ารับฟัง ถ้าเป็นอย่างที่เขาคิดจริงๆ สังคมจีนล่มสลายไปแล้ว ตอนนั้นลูกของคุณคิดจะไปอยู่ที่อเมริกาก็สายไปเสียแล้ว จากทัศนะที่มองโลกในแง่ดีของผม ประเทศจีนก็ยังมีความหวัง อย่างไรก็ตาม จีนก็ไม่ควรจะลิดรอนสิทธิอันพึงมีพึงได้ของลูกคุณ”

ในที่สุด ซินดี้ก็ตัดสินใจไปคลอดลูกที่สหรัฐฯ

กรณีเหล่านี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งลูกมหึมา ชาวจีนจำนวนมหาศาลต้องประสบความวุ่นวายและโศกนาฏกรรมในชีวิตจากนโยบายลูกคนเดียว นับเป็นปัญหาเขาควายที่จีนต้องเผชิญและคลี่คลายให้ทันการณ์.
กำลังโหลดความคิดเห็น