เอเอฟพี - อัตราการหย่าร้างพุ่งสูงในกรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นสองเมืองที่มั่งคั่งสุดของจีน หลังจากทางการประกาศเพิ่มการจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีช่องโหว่ให้คู่สมรสใช้วิธีแยกทางกัน เพื่อเลี่ยงภาษี
จากตัวเลขของทางการจีนระบุว่า มีการหย่าร้างของคู่สมรสเกือบ 40,000 คู่ในกรุงปักกิ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเพิ่มถึงร้อยละ 41 จากช่วงเดียวกันของปี 2555 ส่วนนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีความกังวลสูงเรื่องภาษีอสังหาริมทรัพย์ มีการหย่างร้างพุ่งขึ้นเกือบร้อยละ 40 ในช่วงเดียวกัน หรือเกือบ44,000 คู่
ขณะที่มหานครฉงชิ่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และยังไม่ประกาศมาตรการเกี่ยวกับภาษีดังกล่าว พบว่า การหย่าร้างเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 7 เล็กน้อยเท่านั้น
เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา จีนประกาศจัดเก็บภาษีกำไรร้อยละ 20 ทั่วประเทศจากเจ้าของ ซึ่งขายบ้านของตนเอง อย่างไรก็ตาม มีการกำหนดเงื่อนไขว่า คู่สมรส ซึ่งครอบครองบ้าน 2 หลัง และหย่าขาดกัน โดยแบ่งบ้านครอบครองกันคนละหลังนั้น ไม่ต้องเสียภาษีดังกล่าว เมื่อมีการขายบ้าน
ปักกิ่งยู้ทเดลี่ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลจีนรายงานว่า อัตราการหย่าร้างในเมืองหลวงเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนอย่างมาก ขณะที่นายจัง ต้าเหว่ย ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยของเซนทาไลน์ไชน่า (Centaline China) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในกรุงปักกิ่งระบุว่า คู่สมรสที่หย่าร้างเหล่านี้มีจำนวนหนึ่ง ที่ทำไปเพื่อเลี่ยงภาษีกำไรจากการขายบ้าน และจะกลับมาแต่งงานกันใหม่อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากราคาบ้านพุ่งทะยานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน ดังนั้น หากมีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่จะทำให้รัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีกำไรการขายอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มเมืองชั้นหนึ่งได้จำนวนมาก โดยก่อนหน้าการประกาศนั้น เจ้าของบ้านจ่ายภาษีเพียงร้อยละ 1 หรือ 2 ของราคาการขายเท่านั้น และยังมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ ที่ขายบ้าน ซึ่งมีอยู่เพียงหลังเดียว โดยที่ครอบครองมานานกว่า 5 ปีอีกด้วย
อัตราการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นทำให้สำนักจดทะเบียนสมรสแห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ถึงกับติดป้ายประกาศเตือนคู่สมรสคิดให้รอบคอบ ก่อนจะหย่า เพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยง
นายจัง เถา ทนายความด้านการหย่าร้างในนครเซี่ยงไฮ้เห็นว่า ผู้วางนโยบายคงไม่สามารถปิดช่องโหว่ ซึ่งเป็นพื้นที่สีเทา ที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการอะไรได้ หากคู่สมรสยืนกรานจะหย่าขาดกัน
ทั้งนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์เป็นประเด็นอ่อนไหวในจีน และรัฐบาลพยายามหาหนทางควบคุมราคาบ้าน ที่แพงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยนอกเหนือจากการบังคับใช้การเก็บภาษีกำไรการขายแล้ว ยังมีการใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อสกัดความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศด้วย เช่น การจำกัดการซื้อบ้านหลังที่ 2 และหลังที่ 2 การเพิ่มการวางเงินดาวน์ขั้นต่ำสุด และการจัดเก็บภาษีผู้เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งมิใช่คนท้องถิ่น หรือครอบครองบ้านหลายหลังในบางเมือง