เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - อาลีบาบากรุ๊ปโฮลดิ้งส์ บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อันดับหนึ่งแดนมังกรเล็งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ผลักดันแผนขายหุ้นไอพีโอจำนวน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากถูกตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงปฏิเสธ
ผู้บริหารระดับสูงของอาลีบาบาเข้าพบเจ้าหน้าที่ของอังกฤษระหว่างนายบอริส จอห์นสัน นายเทศมนตรีกรุงลอนดอนมาเยือนเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเมื่อสัปดาห์ก่อน จากการเปิดเผยของแหล่งข่าว ที่ทราบเรื่องการเจรจานี้โดยตรง
นายคิต มอลต์เฮาส์ ซึ่งเป็นตัวแทนของนายจอห์นสัน ได้หารือในหลายเรื่อง ตั้งแต่การลงทุน และประเด็นเกี่ยวกับตลาด รวมทั้งความเป็นไปได้ที่อาลีบาบาจะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน โดยผู้บริหารของอาลีบาบาแสดง “ความสนใจอย่างยิ่ง” ในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ขณะที่นายมอลต์เฮาส์กล่าวว่า เขาเปิดกว้างสำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนเป็นตลาดรอง
ด้านเจ้าหน้าที่ของอาลีบาบาปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับการหารือดังกล่าวกับผู้สื่อข่าวของเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับอาลีบาบายืนยันว่า บริษัทมีการติดต่อกับตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนจริง
ข่าวที่มีการเปิดเผยออกมานี้บ่งชี้ว่า บริษัทอาลีบาบา ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหังโจว ก่อตั้งโดยนายแจ๊ค หม่า อวิ๋น ครูผู้หันมาเอาดีในการเป็นเจ้าของกิจการ ยังคงมองหาตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ เป็นทางเลือก หลังจากไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้คุมกฎในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเรื่องการจัดตั้งโครงสร้างผู้ถือหุ้นของอาลีบาบา ซึ่งขัดกับกฎของตลาดที่ระบุให้ผู้ถือหุ้น 1 คนมีสิทธิ์ออกเสียง 1 เสียง เนื่องจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของอาลีบาบาอนุญาตให้คณะผู้บริหารระดับสูงแต่งตั้งผู้เข้ามานั่งในคณะกรรมการบริหารของบริษัทส่วนใหญ่ได้
อาลีบาบาประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์ก และตลาดหุ้นแนสแด็กยอมรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของอาลีบาบา แต่วงการวาณิชธนกิจ ซึ่งติดตามมหากาพย์ของอาลีบาบามาหลายเดือนเชื่อว่า แผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอาลีบาบายังเป็นเรื่องอีกนาน ซึ่งอะไรๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นนิวยอร์ก ลอนดอน หรือแม้กระทั่งสิงค์โปร์ต่างต้อนรับขับสู้ดีในตอนแรก แต่ท้ายที่สุดก็ต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
หากในที่สุดแล้ว อาลีบาบาเลือกจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ก็จะเป็นข่าวดีสำหรับธนาคารในวอลล์สตรีอย่างโกลด์แมนแซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ซึ่งแหล่งข่าวในตลาดระบุว่า เป็นผู้แนะนำอาลีบาบา เช่นเดียวกับเครดิตสวิส
อย่างไรก็ตาม ธนาคารที่อาลีบาบาจะเลือกให้เป็นผู้จำหน่ายหลักทรัพย์ก็จะต้องรับบทบาทสำคัญในการบรรเทาความวิตกของนักลงทุนในวอลล์สตรีต เพราะชื่อเสียงของหม่า ประธานของอาลีบาบา ที่เคยช็อกวอลล์สตรีเมื่อเดือนพ.ค. 2554 เมื่อนักลงทุนทราบข่าวการโอนอาลีเพย์ (Alipay) ซึ่งเป็นระบบชำระเงินออนไลน์ ที่อาลีบาบาสร้างขึ้นและเป็นเจ้าของ ไปเป็นของบริษัทเอกชน ที่หม่าเป็นเจ้าของนอกกลุ่มอาลีบาบา ยาฮู ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในอาลีบาบาและผู้จัดการกองทุนของสหรัฐฯ บางรายไม่พอใจถึงขั้นขู่จะฟ้องหม่าต่อศาลในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ต่อมา ยาฮูและอาลีบาบา ก็สามารถปรับความเข้าใจกันได้ในที่สุด