ไชน่าเดลี - รายงานการวิจัยของธนาคารเครดิตสวิสเอจีระบุ จีนเป็นชาติ ที่มีส่วนช่วยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในการขยายความมั่งคั่งในโลกเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากภาคครัวเรือน ที่ร่ำรวยขึ้นท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วบนแดนมังกร
ความมั่งคั่งสุทธิภาคครัวเรือนในจีนเพิ่มร้อยละ 6.7 หรือ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 22.2 ล้านล้านดอลลาร์ ตั้งแต่กลางปี 2555-2556 โดยเป็นรองจากสหรัฐฯ ซึ่งภาคครัวเรือนมีความมั่งคั่งสุทธิเพิ่มร้อยละ 12.7 หรือ 8.1 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 72 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกัน ขณะที่ความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 หรือ 11.3 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 241 ล้านล้านดอลลาร์
ฟ่าน จัว อวิ๋น หัวหน้าทีมวาณิชธนกิจฝ่ายภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเครดิตสวิส กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีน ที่คาดกันว่า จะชะลอลงนั้น จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่ขัดขวางความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของภาคครัวเรือน โดยจีนจะมีเศรษฐีเพิ่มมากถึง 2,110,000 ล้านคนภายในปี 2561 ซึ่งเพิ่มร้อยละ 88 จาก 1,120,000 คนในปี 2556
ปัจจุบัน จีนยังมีอภิมหาเศรษฐี ซึ่งแต่ละคนมีทรัพย์สินมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์จำนวน 5,831 คน หรือร้อยละ 5.9 ของอภิมหาเศรษฐีทั้งหมดในโลก ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกา
ฟ่านระบุว่า จีนจะยังคงเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนการขยายความมั่งคั่งภาคครัวเรือนในโลกต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
นอกจากนั้น จีนยังมีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่สูง โดยจำนวนมหาเศรษฐีพันล้านเพิ่มอย่างรวดเร็วจาก 2 คน ในปี 2548 เป็น 64 คนในปี 2553 สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างความมั่นคั่งไปสู่ระดับบน เปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ซึ่งจำนวนมหาเศรษฐีพันล้านหดตัวลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังเป็นชาติเดียวในเอเชีย ที่ความมั่งคั่งสุทธิภาคครัวเรือนลดลงในปีที่แล้ว
ขณะที่รายงานของอลิอันซ์เอสอี บริษัทประกันภัยของเยอรมนี ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธ (9 ต.ค.) วันเดียวกับรายงานของเครดิตสวิสเอจี ระบุว่า ความมั่งคั่งต่อหัวประชากรของจีนติดอันดับ 38 ของโลก โดยมีความมั่งคั่งต่อหัวเฉลี่ย 6,406 ดอลลาร์ และปัจจุบันจีนมีประชากร 413 ล้านคนที่เป็นชนชั้นกลาง และเป็นผู้มีส่วนมากที่สุดในการทำให้ชนชั้นกลางในโลกขยายตัวเมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม อลิอันซ์ระบุด้วยว่า การปล่อยกู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วบนแดนมังกรกำลังส่งสัญญาณอันตราย โดยหนี้ในจีนขยายตัวเร็วกว่าสินทรัพย์ ซึ่งแสดงว่า มีการให้กู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจ ที่มีการกู้ยืมเงินในระดับสูงย่อมมีโอกาส ที่เศรษฐกิจจะดิ่งกระแทกอย่างรุนแรงได้มากกว่า ในกรณีที่ราคาของสินทรัพย์ดิ่งลง