xs
xsm
sm
md
lg

จีนจ่อชาติรวยอันดับ 2 ในโลก แต่ช่องว่างคนจนขยายน่าตกใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มคนมั่งคั่งซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับ 10 เปอร์เซนต์ของประชากรทั้งหมด กว่า 1,300 ล้านคนในประเทศจีน มีรายได้ต่อหัวโดยเฉลี่นสูงเป็น 65 เท่า ของกลุ่มที่ยากจนที่สุด ในภาพ: คนงานก่อสร้างกำลังกินอาหารกลางวันในเขตก่อสร้างแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง31 ส.ค. 2553 (ภาพรอยเตอร์)
พีเพิ่ลเดลี - จีนเตรียมผงาดเป็นชาติมั่งคั่งรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ แต่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ขยายกว้างเป็นเงาตามตัว

จากรายงานความมั่งคั่งทั่วโลกประจำปีของธนาคารเครดิต สวิส เอจี ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสฯ (20 ต.ค.) ระบุ ญี่ปุ่น ซึ่งประสบภาวะเศรษฐกิจชะงักงันมานาน กำลังจะถูกจีนแย่งตำแหน่งชาติผู้ร่ำรวยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกในอีกไม่ช้า หลังจากเพิ่งแซงหน้าในฐานะชาติเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในรายงาน ซึ่งเป็นการวิเคราะห์การกระจายความมั่งคั่งในกว่า 200 ประเทศ ก็ชี้ด้วยว่า การสะสมความมั่งคั่งบนแดนมังกรเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างน่าตกใจ โดยสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำของการกระจายความร่ำรวยในประเทศหนึ่ง ระบุว่าความเหลื่อล้ำในจีนแตะถึงระดับอันตรายแล้ว

รายงานคาดการณ์ว่า ความมั่งคั่งรวมทั้งหมด ที่อยู่ในมือของผู้คนบนแผ่นดินใหญ่จะพุ่งสูงถึง 39 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 5 ปีข้างหน้าคือในปี 2559 จากปัจจุบัน ที่ความมั่งคั่งของจีนอยู่ที่ 20 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอยู่อันดับ 3 โดยจากเดือนม.ค. 2553-มิ.ย. 2554 จีนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านดอลลาร์

อัตราความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่ 1 คนในจีนเพิ่มกว่า 3 เท่าจาก 6,000 ดอลลาร์ในปี 2543 เป็น 21,000 ดอลลาร์ในปีนี้ โดยในกลุ่มของประชากรผู้ใหญ่ ร้อยละ 37 เป็นชนชั้นกลาง และแต่ละคนมีทรัพย์สิน10,000 ดอลลาร์-100,000 ดอลลาร์

ขณะที่ราวร้อยละ 6 มีทรัพย์สินไม่ถึง 1,000 ดอลลาร์ต่อคน และร้อยละ 2.3 มีทรัพย์สินสูงกว่า 100,000 ดอลลาร์ต่อคน โดยพวกที่มีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นได้แก่เจ้าของบริษัทผู้ประกอบการ ที่ประสบความสำเร็จ ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพสาขาใดสาขาหนึ่ง และนักลงทุน

นอกจากนั้น จีนยังมีมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นกว่า1 ล้านคนเป็นครั้งแรกในปีนี้ และมีอภิมหาเศรษฐีกว่า 5 พันคน ซึ่งแต่ละคนมีทรัพย์สินสุทธิเฉลี่ยสูงกว่า 50 ล้านดอลลาร์ อันเป็นตัวเลขที่สูงรองจากสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีจีนีในจีนเพิ่มถึง 0.5 เมื่อปีที่แล้ว หลังจากแตะระดับ 0.4 ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายมานานกว่า 10 ปีแล้ว ในขณะที่ชาติพัฒนาในยุโรปและแคนาดามีแนวโน้มอยู่ที่ระดับ 0.24 - 0.36 ซึ่งถือว่า มีความเท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ในระดับที่ดี

ทั้งนี้ ดัชนีจีนี ซึ่งอยู่ระดับต่ำหมายถึงมีการกระจายความมั่งคั่ง ที่เท่าเทียมกันมากกว่า โดยเลขศูนย์หมายถึงความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ ขณะที่เลขหนึ่งหมายถึงความไม่เท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น