(บรรยายภาพ) รับขวัญวันไหว้พระจันทร์--บรรยากาศรับ “เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง”ของจีน หรือที่ชาวไทยคุ้นเคยในชื่อ เทศกาลวันไหว้พระจันทร์ (ภาพบน-เอพี) เริ่มคึกคักจากต้นเดือนก.ย. ขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศห้ามใช้งบหลวงซื้อขนมไหว้พระจันทร์ เพื่อสกัดการคอรัปชั่น ซึ่งมักแฝงอยู่ในกล่องของขวัญวันเทศกาล สำหรับเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ 10 ค่ำ เดือน 10 ปีนี้ตรงกับวันที่ 19 ก.ย. (ภาพบน-เอพี)คนงานกำลังทำความสะอาดป้ายโฆษณาที่ทำเป็นรูปขนมไหว้พระจันทร์ขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านในสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงปักกิ่ง (ภาพล่าง-รอยเตอร์) พนักงานขายกำลังโชว์รูปปั้นขนมไหว้พระจันทร์ทำจากทองคำในร้านค้าที่เมืองไท่หยวน มณฑลซันซี เมื่อวันที่ 10 ก.ย. รูปปั้นขนมไหว้พระจันทร์ทองคำ ที่ทางร้านออกแบบมาเพื่อต้อนรับวันไหว้พระจันทร์นี้ มีสนนราคา ได้แก่ (ซ้าย) น้ำหนัก 24.32 กรัม เท่ากับ 9,400 หยวน หรือ ราว 47,000 บาท และ (ขวา) น้ำหนัก 38 กรัม เท่ากับ 14,000 หยวน หรือ ราว 70,000 บาท.
เอเจนซี-สำหรับชาวจีนในแผ่นดินจีน ขนมไหว้พระจันทร์ดูเป็นเป็นสัญลักษณ์เชิงประเพณีมากกว่าความเอร็ดอร่อย บางกลุ่มไม่ชอบขนมไหว้พระจันทร์เลยด้วยซ้ำ แต่หลายปีมานี้ขนมไหว้พระจันทร์ กลับกลายเป็น “ของหวานอันโอชะ” สำหรับคนบางกลุ่ม จนทำให้ผู้นำจีนต้องระดมมาตรการต่างๆออกมาสกัดขนมไหว้พระจันทร์ “สุดหอมหวาน” ของโลกมนุษย์ ที่สอดไส้ด้วยวัตถุดิบราคาแพงระยับ
ในยุคเศรษฐกิจบูมที่ชนชั้นกลางขยายใหญ่ กอปรด้วยความเป็นจ้าววัฒนธรรมการมอบของขวัญเพื่อแสดงสถานภาพและสร้างภาพลักษณ์ ยิ่งไปกว่านี้วัฒนธรรมระบบเส้นสายอันเป็นที่กล่าวขวัญในสังคมจีน ทำให้ช่วงเทศกาลกลายเป็นโอกาสทองในการมอบของขวัญเป็นสินบน
กล่องขนมไหว้พระจันทร์หรูก็หลั่งไหลออกมาสนองความต้องการตลาดกลุ่มมั่งคั่ง และกระแสการมอบกล่องขนมไหว้พระจันทร์เพื่อหวังผลประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกด้านธุรกิจต่างๆไปถึงคอรัปชั่น
“ขนมไหว้พระจันทร์บรรจุในกล่องหรู” ที่ผุดพรายในจีนหลายปีมานี้ มิใช่เพียงขนมหวานไส้เม็ดบัว ไส้ถั่ว และไข่แดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของดวงจันทร์ บางชิ้นมีไส้ราคาแพง อาทิ เป๋าฮื้อ หูฉลาม หรือรังนก นอกจากนี้ภายในกล่องยังสอดไส้เป็นเหรียญทองคำ เหล้าชั้นดี โทรศัพท์มือถือ และแหวนเพชร แม้กระทั่งในเขตชนบทอย่างมณฑลซันซี ก็ยังมีขนมไหว้พระจันทร์ทองคำ ขายในราคามากกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 30,000 บาท
กลุ่มธนาคารและร้านค้าเพชรพลอยก็โดดเข้าร่วมขบวน บริษัท China Gold Coin ในกรุงปักกิ่ง นำเสนอขนมไหว้พระจันทร์ที่ทำจากทองคำ มูลค่า 19,250 หยวน หรือ คิดเป็นเงินไทยราว96,250 บาท
“บางบริษัทและนักธุรกิจผู้ละโมบยิ่งช่วยกันโหมกระพือกระแส ด้วยการให้สินบนขนมไหว้พระจันทร์ พร้อมทองคำ เพชร หรืออัญมณีล้ำค่า มูลค่านับพันๆเหรียญสหรัฐ" เหลย เอิน(Shaun Rein) กรรมการผู้จัดการแห่ง China Market Research Group ในนครเซี่ยงไฮ้ เผย
กล่องขนมไหว้พระจันทร์ยังไส้สอดพิสดารมีทั้งเงินสดเป็นฟ่อนๆ หรือคูปองสำหรับใช้จ่ายซื้อสินค้าต่างๆ บางบริษัทยังให้ขนมไหว้พระจันทร์เป็นของขวัญแก่พนักงาน เป็นช่องทางในการเลี่ยงภาษี โดยมิได้ให้ขนมไหว้พระจันทร์จริงๆ บริษัทเหล่านี้ได้ซื้อคูปองในราคาส่วนลดจากผู้ผลิตเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนที่ร้านค้า แต่พนักงานหลายคนมิได้นำคูปองไปแลกขนมไหว้พระจันทร์มากิน แต่กลับขายเอาเงินสดให้แก่กลุ่มผู้ค้าที่เปิดร้านรับซื้อคูปองขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งผุดขึ้นในเมืองต่างๆ อาทิ นครเซี่ยงไฮ้
“พวกบริษัทต่างพอใจเนื่องจากสามารถหลีกเลี่ยงภาษี ส่วนพนักงานก็พอใจเนื่องจากได้เงินเพิ่มโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้”
ด้วยการกระทำที่เกินขอบเขตจนทำให้ในปีก่อนๆนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการ ระบุให้ เจ้าหน้าที่ และพนักงาน จ่ายภาษีรายได้ จากขนมไหว้พระจันทร์ที่ได้รับเป็นของขวัญ ล่าสุดในต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมานี้ คณะกรรมการควบคุมวินัยแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ก็ออกประกาศห้ามใช้งบประมาณของรัฐ ซื้อขนมไหว้พระจันทร์ และของขวัญที่เชื่อมโยงกับเทศกาล
“วิถีที่เสื่อมถอยทำให้วัฒนธรรมการเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆในหลายปีมานี้ แปดเปื้อนด้วยการมอบของขวัญที่ฟุ้งเฟ้อ อย่างเช่น ชุดขนมไหว้พระจันทร์ในกล่องหรู สิ่งเหล่านี้ได้ทำลายล้างคุณธรรมความประหยัดของชาติ” รองนายกรัฐมนตรี หวัง ฉีซัน กล่าวในช่วงก่อนเทศกาลไหว้พระจันทร์
“ในปีนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม ไม่อยากรับกล่องขนมไหว้พระจันทร์ราคาแพงๆ บางคนถึงกับปฏิเสธขนมไหว้พระจันทร์ไปเสียเลย” อีริค คาร์สัน แห่งสำนักงานกฎหมาย Covington & Burling ในกรุงปักกิ่ง และผู้เชี่ยวชาญด้านการปราบปรามคอรัปชั่น
นายคาร์สันเล่า เขาได้ยินมาว่าหน่วยงานรัฐบางหน่วยถึงกับสั่งการให้เจ้าหน้าที่ห้องเก็บจดหมายและพัสดุภัณฑ์ ตรวจสอบกล่องขนมไหว้พระจันทร์ก่อนรับ
มาตรการปราบปรามคอรัปชั่นของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทำให้ธุรกิจที่หากินในช่วงเทศกาล ซบเซาลงในปีนี้
นายจางเป็น 1 ในพ่อค้าเก็งกำไรที่มีร้านบนถนนหนันจิงทิศตะวันออกย่านช้อปปิ้งใจกลางนครเซี่ยงไฮ้ ที่หน้าร้านของเขา ติดป้ายรับคูปองขนมไหว้พระจันทร์ พ่อค้าเก็งกำไรจะรับซื้อคูปองในราคากึ่งหนึ่งของราคาหน้าตั๋ว และเสนอขาย 75 เปอร์เซนต์ ของราคาหน้าตั๋ว
“ธุรกิจไม่บูมเหมือนเมื่อปีที่แล้ว ตกลงไปราว 20 เปอร์เซนต์ ส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่ค่อยมีลูกค้าจากหน่วยงานรัฐ” จัง ผู้ค้าที่มีร้านในย่านถนนช้อปปิ้งในนครเซี่ยงไฮ้ กล่าว
การประกาศห้ามใช้งบหลวงซื้อขนมไหว้พระจันทร์ ก็ส่งผลให้ความต้องการในตลาดขนมไหว้จันทร์ ซึ่งจะทะยานสูงที่สุดในช่วงก่อนวันไหว้พระจันทร์ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 19 ก.ย.นั้น ตกลงไปถนัดเช่นกัน
ในปีที่แล้ว(2555) ยอดขายขนมไหว้พระจันทร์ในเมืองจีน สูง 280,000 ตัน มูลค่า 16,000 ล้านหยวน จากข้อมูลสถิติของสมาคมอุตสาหกรรมขนมหวานและเบเกอรี่แห่งจีน (China Association of Bakery and Confectionery Industry) “แต่ด้วยมาตรการปราบปรามสิ่งฟุ้งเฟ้อ อาจทำให้ยอดขายขนมไหว้พระจันทร์ในปีนี้ ร่วงผล็อยลงไป” เจ้าหน้าที่แซ่อี๋ว์ คาดการณ์
เฉียน ฉีเหลียง เจ้าของโรงงานผลิตขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งเป็นกิจการของรัฐในนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่าพัฒนาการทางการเมืองในปีนี้ส่งผลต่อยอดขายขนมไหว้พระจันทร์ในตลาดบน ยอดขายโดยรวมตกลงไป 20 เปอร์เซนต์ ทำให้ต้องปรับปรุงตัวสินค้า ความต้องการขนมไหว้พระจันทร์ไส้แบบเก่าราคาถูก เพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซนต์.
ชมเดือนทอแสงงามในแดนมังกร สืบตำนานไหว้พระจัน