xs
xsm
sm
md
lg

เมืองจูไห่ออกกฎฯ ปรับภัตตาคารถึงหมื่นหยวน หากปล่อยให้ลูกค้ากินเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลเมืองจูไห่วางแผนปรับภัตตาคารที่ปล่อยให้ลูกค้ากินอาหารเหลือ (ภาพรอยเตอร์ส)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - รัฐบาลเมืองจูไห่เล็งใช้มาตรการเหล็ก ปรับภัตตาคารที่ปล่อยให้ลูกค้ากินอาหารเหลือถึง 10,000 หยวน (ประมาณ 50,000 บาท)

คณะกรรมการกระตุ้นพัฒนาอารยธรรมทางจิตวิญญาณของจูไห่ได้เผยร่างมาตรการ (8 ส.ค.) โดยระบุว่า จะได้เขียนกฎบนฉลากแปะไว้บนโต๊ะอาหารทุกโต๊ะในทุกภัตตาคารและร้านอาหารของเมือง

ส่วนภัตตาคารที่อนุญาตให้ลูกค้านั่งเพียงคนเดียวแล้วสั่งอาหารจำนวนมาก และรับประทานไม่หมด เหลือล้นเกินปริมาณ และปล่อยให้ลูกค้าเดินออกจากร้านไปโดยคิดเงินปรกติ ถือเป็นการทำความผิด ครั้งแรกจะตักเตือน หากพบเห็นเป็นครั้งที่สอง ภัตตาคารจะต้องจ่ายค่าปรับวงเงินระหว่าง 2,000 ถึง 10,000 หยวน

ทว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุว่า อาหารเหลือปริมาณมากน้อยเพียงใดจึงจะเข้าข่ายถูกปรับ

หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน จูไห่ก็จะกลายเป็นเมืองแรกบนแผ่นดินใหญ่ที่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับประเด็นความฟุ่มเฟือยทางการใช้จ่ายทางสังคม

ทว่านักกฎหมายบางคนและผู้รู้ลึกเรื่องอุตสาหกรรมเผยว่า การออกกฎเช่นนี้ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ มีเพียงออกไว้เพื่อเพ่งเล็งเจ้าหน้าที่ระดับสูงให้มากขึ้นเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้เรียกร้องให้ทุกหน่วยงานภาครัฐและสำนักงานผู้แทนต่าง ๆ รักษานโยบายประหยัดและต่อต้านความสุรุ่ยสุร่าย สีเผยว่า วัฒนธรรมของคนจีนก็คือ ขยันและประหยัด เป็นหลักการพื้นฐานของนโยบาย และควรจะเผยแพร่ให้กระจายไปทั่วสังคม

จากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ปริมาณอาหารที่เหลือทิ้งในภัตตาคารทั่วประเทศนั้นเพียงพอที่จะเลี้ยงคนอีก 200 ล้านคนต่อปีทีเดียว

เจ้าของภัตตาคารหลายแห่งในจูไห่เผยว่า ร่างมาตรการดังกล่าวยากที่จะนำมาใช้จริง และไม่เป็นธรรมกับธุรกิจของเขา

"องค์กรไหนจะมาเป็นกรรมการตัดสินว่าจะปรับเท่าไหร่ มาตรฐานคืออะไร กินข้าวเหลือปรับ 2,000 หยวน หรือว่ากินอาหารเหลือครึ่งจานปรับ 10,000 หยวน" เจ้าของกิจการร้านอาหารรายหนึ่งถาม

"ในฐานะเจ้าของร้าน ผมไม่สามารถบังคับลูกค้าให้ห่ออาหารเหลือกลับบ้านได้"

"บางทีผมอาจทำได้เพียงติดสินบนเจ้าหน้าที่ที่มาตรวจอาหารเหลือก็เท่านั้น"

หลี่ ซูเฉวียน นักกฎหมายที่จูไห่เผยว่า นโยบายดังกล่าวยังมีช่องโหว่อยู่มาก เจ้าหน้าที่จากกรรมการกระตุ้นและพัฒนาอารยธรรมฯ ไม่ใช่องค์กรออกกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ได้

รายละเอียดในแต่ละข้อออกมาไม่มีลักษณะมืออาชีพหรือเข้มงวดกวดขันใช้ได้จริง มันเหมือนการรณรงค์มากกว่า หลี่กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น