เอเจนซี--ชาวจีนแทบ “เฮ!” กันทั่วประเทศเมื่อสำนักข่าวซินหวา อ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการวางแผนครอบครัวจีน เผยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าคณะกรรมการวางแผนครอบครัวกำลังพิจารณายกเลิกนโยบายลูกคนเดียวภายในปี 2558 โดยในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าจะเริ่มผ่อนปรน อนุญาตให้คู่สามี-ภรรยา มีลูกคนที่สองได้ หากสามีหรือภรรยา คนใดคนหนึ่ง เป็นลูกคนเดียว
กลุ่มสื่อจีนรายงานข่าวกันคึกโครมเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการวางแผนครอบครัวกำลัง “ปรับปรุงนโยบายลูกคนเดียว” คลอดกฎหมายใหม่ไฟเขียวให้ทุกครอบครัว มีลูกคนที่สองได้ภายในปี 2558 หรือสองปีข้างหน้านี้
รายงานข่าวได้อ้างแหล่งข่าว นายเหมา ฉุนอัน ผู้อำนวยการผ่ายโฆษณาการคณะกรรมการวางแผนครอบครัวและสุขภาพแห่งชาติ(National Health and Family Planning Commission) กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวซินหวา ว่า “หน่วยงานของเราได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับขนาด คุณภาพ โครงสร้าง และการกระจายตัวของประชากร จึงได้เสนอปรับนโยบาย โดยจะเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง ออมชอมระหว่างสถานการณ์ปัจจุบันและเป้าหมายระยะยาว”
กลุ่มนักวิจัยของหน่วยงานรัฐ ชี้เหตุผลสำคัญในการปรับปรุงนโยบายลูกคนเดียว เพื่อแก้ไขปัญหากลุ่มประชากรวัยชราที่นับวันขยายใหญ่และภาวะขาดแคลนแรงงาน ตัวเลขคาดการณ์ระบุ กลุ่มประชากรวัย 65 ปี ขึ้นไป จะเพิ่มแตะระดับ 29 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2593 โดยเพิ่มจาก 9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2554 นอกจากนี้ การสำรวจยังระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว(2555) กลุ่มประชากรวัยทำงาน ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี สืบเนื่องจากนโยบายลูกคนเดียว
อย่างไรก็ตาม ต่อมา เหมา ฉุนอัน ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อฮ่องกง เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ ปรามความลิงโลดของชาวจีนที่ส่วนใหญ่อยากมีลูกสองคน ว่า “การตีความ “การปรับปรุงนโยบายวางแผนครอบครัว” เป็นสัญญาณการผ่อนปรนนโยบาย ที่จะอนุญาตให้มีลูกสองคน” นั้น ไม่ถูกต้อง..การอนุญาตให้คู่สามี-ภรรยามีลูกสองคนนั้น เป็นอีกเรื่องที่ต่างไปจากการทบทวนนโยบายวางแผนครอบครัว”
ทั้งนี้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรในแผ่นดินใหญ่ต่างแสดงความประหลาดใจกับรายงานข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ ที่โฆษกคณะกรรมการวางแผนครอบครัวออกมาให้ข่าวเกี่ยวกับการปรับปรุงนโยบายลูกคนเดียว
“เท่าที่ผมทราบ การสนับสนุนเปลี่ยนแปลงนโยบายลูกคนเดียวจะต้องได้รับฉันทามติจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะกรรมาการฯ...แต่ผู้ที่จะตัดสินชี้ขาด มีเพียงผู้นำระดับสูงสุดของประเทศเท่านั้น” หวง หรงชิง ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากร สถาบันเศรษฐศาสตร์ประชากร แห่ง Capital University of Economics and Business
ทั้งนี้ นโยบายลูกคนเดียวที่รัฐบาลจีนดำเนินมาแต่ปี 2523 โดยผ่อนปรนให้ครอบครัวในชนบทหรือเกษตรกร ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของประชากรทั้งประเทศ มีลูกคนที่สอง ถ้าหากว่าทายาทคนแรกเป็นผู้หญิง นอกจากนี้ ครอบครัวชนกลุ่มน้อยสามารถมีลูกได้สองหรือมากกว่า
ในช่วงหลายปีมานี้ มีการถกเถียงนโยบายลูกคนเดียวกันฝุ่นตลบ ขณะที่กระแสต้องการลูกคนที่สองมากขึ้นๆ กระทั่งจีนได้คลายกฎเหล็กลูกคนเดียว อนุญาตให้คู่สามี-ภรรยา มีลูกคนที่สองได้ หากทั้งสองเป็นลูกคนเดียว ส่วนกลุ่มครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองต้องเสียค่าปรับอย่างโหดหากมีลูกคนที่สอง อย่างไรก็ตาม บางเมืองอย่างเช่น เซี่ยงไฮ้ ได้ผ่อนปรนนโยบาย เนื่องจากอัตราเกิดที่ตกต่ำลง
ขณะเดียวกัน นโยบายลูกคนเดียวได้ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อาทิ อัตราประชากรผู้สูงอายุทะยานสูงจนน่าวิตก ความไม่สมดุลระหว่างเพศชาย-เพศหญิง
“อัตราเกิดในหลายพื้นที่ลดต่ำมากเกินไปเนื่องจากปัญหาสังคมที่ค่าครองชีพสูง เช่น ในปี 2573 เซี่ยงไฮ้จะมี ประชากรวัย 60 ปี ขึ้นไป เท่ากับ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของเมือง” เย่ ถิงฟัง ผู้เชี่ยวชาญประชากรแห่งบัณฑิตยสถาน กล่าว
นอกจากนี้ ยังเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยประชาชนหลายร้อยล้านคนถูกบังคับทำแท้งและทำหมัน เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เกิดกรณีที่โหดเหี้ยมเป็นข่าวฮือฮา ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ 7 เดือน ไม่มีเงินเสียค่าปรับ 40,000 หยวน หรือราว สองแสนบาท สำหรับโทษฐานมีลูกคนที่สอง ถูกเจ้าหน้าที่วางแผนครอบครัวจับฉีดยาทำแท้ง ศพตัวอ่อนทารก ถูกนำมาวางข้างๆตัวแม่
รัฐบาลจีนคุยว่านโยบายวางแผนครอบครัว ทำให้เด็กถึง 400 ล้านคน ไม่ได้เกิดมา สร้างภาระให้แก่ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 1,300 ล้านคน และคาดว่าจะถึง 1,400 ล้านคนในปี 2563
“การผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวจะเริ่มในราวปลายปีนี้(2556) โดยเชื่อว่าผู้นำที่มีแนวคิดปฏิรูปอย่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกฯหลี่ เค่อเฉียง จะฉวยโอกาสยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวเพื่อเสริมสร้างอำนาจของพวกเขา แสดงให้ประชาชนเห็นความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลง และปฏิรูป” ถิง หลู่ และเสี่ยวจยา จื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชาวจีน ประจำธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริลล์ ลินช์ (Bank of America Merrill Lynch- BoFAML) กล่าว