xs
xsm
sm
md
lg

จีนสะสมตึกสูงระฟ้าไว้เกินครึ่งโลก ผลพวง “ความอยากอวด” ของคนรวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพทิวทัศน์ยอดตึกสูงที่ตั้งตระหง่านทั่วเกาะฮ่องกงของจีน (ภาพ - เอเยนซี)
เอเยนซี - ปัจจุบันหลายเมืองใหญ่ในจีนกำลังก่อสร้างตึกสูงระฟ้าจำนวนมาก ซึ่งจากผลการเก็บสถิติล่าสุดระบุว่า ปริมาณการก่อสร้างตึกสูงทั่วทั้งโลก สามารถพบได้ในจีนกว่าร้อยละ 80 โดยเป็นผลมากจากความต้องการ “โอ้อวด” ความร่ำรวยของเศรษฐีเกิดใหม่แดนมังกร ทว่า ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากต่างออกโรงเตือน รีบหยุดทัศนคติความคิดเช่นนี้

สืบเนื่องจากกรณีการระงับโครงการก่อสร้างตึกสูงเสียดฟ้า “สกายซิตี้” ที่เมืองฉังซา มณฑลหูหนัน เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน หลังการวางศิลาฤกษ์และดำเนินการก่อสร้างไปได้เพียงสี่วันเท่านั้น สาเหตุเพราะยังไม่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมที่ชาวจีนพากันถกเถียงอย่างสนุกปาก และนำมาซึ่งคำถามสำคัญที่ว่า ...

“จีนจำเป็นต้องมีตึกสูงระฟ้ามากเพียงนั้นเชียวหรือ?”

รายงานข่าวกล่าวว่า จากการเก็บสถิติล่าสุดพบว่า ปริมาณตึกสูงที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการก่อสร้างทั่วทั้งโลก อยู่ในจีนถึง 87 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากจัดลำดับ 20 อันดับตึกสูงที่สุดในโลกแล้ว จีนจะมีตึกสูงติดอันดับถึง 10 หลังด้วยกัน ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาวิจัยเผยว่า หากโครงการตึกสูงเสียดฟ้าเหล่านั้นดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้น จีนจะมีตึกสูงเกิดใหม่ทุกๆ 5 วันภายในระยะเวลา 3 ปี และหลังจากนั้นอีก 5 ปี ปริมาณตึกระฟ้าในจีนจะพุ่งสูงเกิน 800 แห่ง มากกว่าจำนวนตึกสูงของสหรัฐฯ ในปัจจุบันถึง 4 เท่าเลยทีเดียว

อนึ่ง หากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีตึกสูงตั้งตระหง่านอยู่มากมายอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น กลับพบความแตกต่างบางอย่างที่น่าสนใจ มหานครนิวยอร์กของอเมริกาเริ่มมีการสร้างตึกสูงระฟ้าขึ้นในช่วงทศวรรษ 30 เพื่อแสดงออกถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและวิทยาการสมัยใหม่ในขณะนั้น ส่วนญี่ปุ่นก็เริ่มมีตึกสูงในช่วงทศวรรษ 60 ที่โชว์ความสามารถของการฟื้นฟูประเทศหลังผ่านพ้นสงครามครั้งสำคัญ

ทว่า จีน ประเทศยักษ์ใหญ่ที่ปัจจุบันมีพลังอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ กลับสร้างตึกสูงมากมายเพียงเพราะต้องการ “โอ้อวด” ความร่ำรวยเงินทองของเศรษฐีรุ่นใหม่ที่ทยอยผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด

หากมองไปที่ปัจจัยด้านการขยายตัวของจำนวนประชากรและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การปรับปรุงแก้ไขอัตราการใช้พื้นที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ย่อมเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรกระทำ แต่ว่าเมืองฉังซา ที่การพัฒนายังอยู่ในระดับไม่สมบูรณ์ จึงไม่จำเป็นต้องก่อสร้าง “ตึกที่สูงที่สุดในโลก” เช่นนั้น สิ่งสำคัญกว่าคือ การปรับปรุงและพัฒนาการบริหาร กฎเกณฑ์ ระบบคมนาคมขนส่ง สิ่งแวดล้อม บริการสาธารณะของเมืองให้มีคุณภาพมากขึ้นนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น