เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์--รายงานติดตามการเดินทางทางอากาศทั่วโลก ระบุ สนามบินและสายการบินของแผ่นดินใหญ่ แย่ที่สุด ในด้านความตรงเวลาทั้งเที่ยวบินขาออกและขาเข้า และที่ยิ่งน่าห่วงก็คือ ผลประกอบการของสนามบินและสายการบินจีน ตกต่ำมากในช่วง 6 เดือนมานี้
FlightStats ศูนย์ข้อมูลการเดินทางทางทางอากาศซึ่งมีฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา สำรวจการยกเลิกเที่ยวบินและเที่ยวบินล่าช้าของสนามบินนานาชาติแห่งหลัก 35 แห่งทั่วโลก ปรากฏผลว่า สนามบินนานาชาตินครหลวงปักกิ่ง และมหานครซั่งไห่ (เซี่ยงไฮ้) ได้คะแนนต่ำที่สุด
การสำรวจชุดล่าสุดของ FlightStats นี้ ระบุว่า ในเดือนที่แล้ว มีเพียง 18.3 เปอร์เซนต์ ของเที่ยวบิน 22,019 เที่ยวบิน ที่ออกจากสนามบินนานาชาตินครหลวงปักกิ่ง (Beijing Capital International Airport /PEK) ที่ออกตรงเวลา ขณะที่ 42 เปอร์เซนต์ ล่าช้า 45 นาที หรือมากกว่า
สถานการณ์เที่ยวบินที่สนามบินนานาชาติปักกิ่ง ตกอยู่ในสภาพเลวร้ายที่สุดในเดือนม.ค. โดยมีเที่ยวบินที่ออกตรงเวลา เพียง 29 เปอร์เซนต์เท่านั้น ส่วนสนามบินนานาชาติหวาเฉียวของนครซั่งไฮ้ มีอัตราเที่ยวบินล่าช้า ย่ำแย่เป็นอันดับที่สอง โดยอัตราเที่ยวบินตรงเวลา เท่ากับ 24 เปอร์เซนต์ ลดลงจากเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งอัตราเที่ยวบินตรงเวลา อยู่ที่ 38.9 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ อันดับสภาพย่ำแย่นี้ของสนามบินนานาชาตินครซั่งไห่มิได้เปลี่ยนแปลง
ด้านสนามบินนานาชาติฮ่องกง การสำรวจชี้ว่า มีอัตราเที่ยวบินล่าช้าและยกเลิกเที่ยวบินเพิ่มขึ้น ร่วงจากอันดับที่ 22 ในเดือนม.ค.มาที่อันดับ 29 ในเดือนมิ.ย.
นอกไปจากสนามบินนานาชาติในปักกิ่งและซั่งไห่ ที่ตกอยู่ในสภาพเที่ยวบินล่าช้าอย่างเลวร้ายแล้ว ผลการสำรวจฯยังระบุว่า สนามบินนานาชาติแห่งอื่นๆในจีน ทั้งที่ก่วงโจว คุนหมิง หนันหนิง เฉิงตู ฉังซา และอูลู่มู่ฉี ต่างก็ไม่สามารถจัดการให้เที่ยวบินตรงเวลาได้เกินครึ่ง
ขณะที่สนามบินในญี่ปุ่นทั้งหมด มีอัตราเที่ยวบินตรงเวลา สูงถึง 90 เปอร์เซนต์ หรือมากกว่า สนามบินฮาเนดะในกรุงโตเกียว ครองแชมป์เที่ยวบินตรงเวลา 95 เปอร์เซนต์ ดีกว่าเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว 3 จุด
ผลประกอบการสายการบินของจีน ยังน่าผิดหวังพอๆกัน อาทิ China United Airlines มีอัตราเที่ยวบินที่มาถึงสนามบินตรงเวลา เพียง 27 เปอร์เซนต์ นอกจากนี้ สายการบินในท้องถิ่นของซั่งไห่ และซย่าเหมิน ก็มีสภาพย่ำแย่ในลำดับรองลงมา
นอกไปจากนี้ สายการบินรายใหญ่ระดับชาติของจีน อย่างเช่น Air China และ China Southern ก็มีอัตราเที่ยวบินล่าช้าอย่างมโหฬารเช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญในแผ่นดินใหญ่ชี้สาเหตุของปัญหานี้ มาจากการควบคุมน่านฟ้าของทางการทหารอย่างเข้มงวดเกินเหตุและการวางแผนพัฒนาเขตเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ
“เกือบ 80 เปอร์เซนต์ ของน่านฟ้าจีน ถูกกันไว้สำหรับการใช้งานด้านการทหาร ในประเทศอื่น เช่น สหรัฐฯ แทบไม่มีเรื่องเช่นนี้เลย” ผู้บริหารระดับสูงของไห่หนัน แอร์ไลน์ กล่าว
“ผมเกรงว่า หากมิมีโศกนาฏกรรมใหญ่อุบัติขึ้น กองทัพก็ยังไม่ยอมปล่อยน่านฟ้าให้เป็นอิสระแน่”
โจว เจี้ยนจวิน แห่งสถาบันการจัดการด้านการบินพลเรือนแห่งจีน (Civil Aviation Management Institute of China) เผยว่า ปฏิบัติการทางทหารมิใช่เพียงเหตุผลเดียว ที่ทำให้เที่ยวบินล่าช้า การที่เที่ยวบินในจีนล่าช้า ยังมาจากการที่เมืองใหญ่ๆพยายามผูกขาดธุรกิจการบิน โดยกำหนดให้ผู้โดยสารจากเมืองใกล้เคียงมาใช้สนามบินของพวกเขา สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดการจรจรติดขัดอย่างเลวร้ายมากตามสนามบินหลักๆในประเทศจีน ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางไปถึงขนาดเล็ก ก็ต้องกระเสือกกระสนประคองธุรกิจให้รอด
โจวยังบอกว่าบรรดาสนามบินขนาดใหญ่เอาแต่ดึงผู้โดยสารเข้ามา แต่ไม่ค่อยใส่ใจปรับปรุงระบบการจัดการของตน เพื่อรับมือกับการจราจรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
“การขยายเชิงปริมาณได้ท่วมจมคุณภาพ นี่คือประเด็นทั่วไปของจีนในเวลานี้” โจวกล่าว
แม้ปักกิ่งพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ก็แทบไม่เกิดมรรคผลใด
สถานการณ์เที่ยวบินล่าช้าที่เลวร้ายทำให้เกิดการประท้วงรุนแรงอยู่บ่อย ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ มีรายงานข่าวออกมาเนืองๆว่ากลุ่มผู้โดยสารโกรธจนพังเคาน์เตอร์สายการบิน อีกทั้งทำร้ายเจ้าหน้าที่ก็มี
หลายคนยอมแพ้ เลิกเดินทางโดยเครื่องบิน หันมาพึ่งใช้ทางเลือกอื่น โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง