xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำฯ ปากีสถาน เตรียมจับมือจีน เชื่อมศก. ซินเจียง - กวาดาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่าเรือกวาดาร์ ‘สร้อยไข่มุก’ (珍珠链) ซึ่งเชื่อมภาคตะวันตกของจีน ไปสู่แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของแอฟริกาและตะวันออกกลาง ผ่านทะเลอาหรับและช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz) ที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางด้านพลังงาน อีกทั้งยังเอื้อให้จีนสร้างฐานทัพเรือเพื่อแผ่ขยายอำนาจครอบคลุมทะเลอาหรับ (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี - ปากีสถานเตรียมจับมือจีน สร้างระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ปากีสถาน เชื่อมซินเจียง กับกวาดาร์ ในวาระการเยือนจีนครั้งแรกของผู้นำปากีสถาน สัปดาห์นี้

สื่อต่างประเทศรายงาน (30 มิ.ย.) อ้างบทสัมภาษณ์ในสื่อจีน รวมทั้งสื่อฮ่องกงเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ว่า นาวาซ ชารีฟ เกริ่นถึงการเปลี่ยนโฉมหน้าของภูมิภาคฯ ด้วย ระเบียงเศรษฐกิจซึ่งจะเชื่อมความมั่งคั่งทางทรัพยากรฝั่งตะวันตกของจีน กับท่าเรือกวาดาร์ ในปากีสถาน

ในกำหนดการเยือน 6 วัน ของผู้นำปากีสถาน จะเป็นการหารือแลกเปลี่ยนในระดับสูงของสองชาติ อีกครั้ง หลังจากที่เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้เดินทางไปเยือนปากีสถาน และลงนามความร่วมมือระหว่างกันไปก่อนแล้ว

สำหรับ ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ปากีสถาน นี้ จะประกอบด้วยการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชื่อมเส้นทางรถไฟ และท่อส่งพลังงาน ซึ่งจะทำให้จีนสามารถเข้าถึงทะเลอาหรับ และมหาสมุทรอินเดีย

นาวาซ ชารีฟ กล่าวคาดหวังว่า ระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งจะเริ่มจากเมืองคัชการ์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูรย์ ไปจนถึง กวาดาร์ ปากีสถาน นี้ จะมีบทบาทในการพลิกโฉมภูมิภาคนี้ และยินดีจะหารือความร่วมมือระหว่าง 2 ชาติในทุกเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องพลังงาน และปัจจัยสาธารณูปโภคอื่นๆ โดยต่างฝ่ายจะเข้าไปลงทุนกันได้ และจะพัฒนาให้ภูมิภาคเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว
แผนที่แนวระเบียงเศรษฐกิจ เชื่อมจาก คาสือ หรือคัชการ์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ถึง กวาดาร์ (ภาพ SCMP)
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน นายชารีฟ ก็ได้แถลงปาฐกถา พร้อมแสดงความสนใจในการสร้างทางรถไฟเชื่อมจากกวาดาร์ ไป คัชการ์ ซึ่งคาดว่าในการพูดคุยกับคณะกรรมาธิการปฎิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีน วันอังคารนี้ (2 ก.ค.) ก็คงจะได้มีการพูดคุยเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ โครงการท่าเรือกวาดาร์ ซึ่งอยู่ใกล้กับช่องแคบฮอร์มุซ เป็นโครงการที่ปากีสถาน ส่งมอบให้บริษัทจีน ไชน่า โอเวอร์ซีส์ พอร์ท โฮลดิ้ง ดูแลเมื่อปีที่แล้ว เปรียบเป็น ‘สร้อยไข่มุก’ (珍珠链) ที่เชื่อมภาคตะวันตกของจีน ไปสู่แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของแอฟริกาและตะวันออกกลาง ผ่านทะเลอาหรับและช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz) ที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางด้านพลังงาน อีกทั้งยังเอื้อให้จีนสร้างฐานทัพเรือเพื่อแผ่ขยายอำนาจครอบคลุมทะเลอาหรับ

หวัง เต้อหวา ผู้เชี่ยวชาญ กิจการเอเชียใต้ ของสถาบันระหว่างประเทศ เซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ระเบียงเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยเลือกใหม่ในการรองรับการค้าพาณิชย์ ถ้าหากช่องแคบมะลาถูกปิดกั้น และจีนคงจะจับมือกับปากีสถานและชาติเพื่อนบ้านทางฝั่งตะวันตกของตน เพื่อคานอำนาจกับ สหรัฐฯ ที่เขยิบเข้ามาวางกำลังในเอเชียแปซิฟิก ผูกสัมพันธ์กับบรรดาเพื่อนบ้านทางฝั่งตะวันออกของจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น