xs
xsm
sm
md
lg

“อินเทอร์เน็ต” … อาวุธกำจัดคอรัปชั่นสังคมจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากเว็ปไซต์)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ปัญหาใหญ่ที่บั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของสังคมจีนปัจจุบัน หนีไม่พ้น “การทุจริตคดโกง” ของบรรดานักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ การป้องกันและปราบปรามของหน่วยงานต่างๆ ก็ดูล่าช้า ทว่า ล่าสุด ประชาชนแดนมังกรได้ใช้เครื่องมือใกล้ตัวอย่าง “อินเทอร์เน็ต” มาช่วยกำจัดปัญหาเหล่านี้ ภายใต้แนวคิด “แค่คลื๊กเดียว … ถอนรากถอนโคนพวกคอรัปชั่น”

หนังสือ Blue Book of New Media ของคณะนักวิจัยจากสำนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน (the Chinese Academy of Social Sciences - CASS) ระบุว่า การเปิดโปงกรณีการกระทำผิดของบรรดาผู้นำและเจ้าหน้าที่รัฐในโลกออนไลน์ ได้กระตุ้นความสนใจของสาธารณชน และดึงดูดผู้คนในสังคมมาเข้าร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้น

ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2553 และปี พ.ศ.2555 พบว่า มีกรณีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า 156 คดี ที่ถูกนำมาเปิดโปงบนโลกไซเบอร์เป็นที่แรก โดยคดีหลักๆ จะเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง 44 กรณี และการใช้อำนาจในทางที่ผิด 16 กรณี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทั่วไป ปรากฏเพียง 78 คดีเท่านั้น โดยมีกรณีการกระทำผิดวินัยร้ายแรง 29 คดี และกรณีการใช้อำนาจในทางที่ผิด 10 คดี ที่เผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ของจีน

ซึ่งความสำเร็จของการเปิดโปงการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐผ่านโลกไซเบอร์รายล่าสุดนั้นคือ กรณีของหลิว เถี่ยหนัน อดีตรองประธานคณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติจีน โดยหลิวถูกปลดออกจากตำแหน่งเมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากบรรณาธิการของนิตยสาร Caijing ได้ใช้เว็ปไมโครบล็อคส่วนตัวเปิดโปงการทุจริตของนายหลิวเมื่อช่วงปลายปีก่อน

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยฯ เผยว่า กระบวนการเปิดโปงการกระทำผิดบนโลกออนไลน์นั้น ต้องใช้เวลานานกว่าจะบังเกิดผล โดยปีที่ผ่านมา มีกรณีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเพียง 5 คดี ที่เมื่อถูกเปิดโปงบนโลกออนไลน์แล้วได้รับการตรวจสอบและลงโทษ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยจากอีกกว่า 950 กรณีการทุจริตอื่นๆ

นอกจากนี้ นักวิจัยฯ เตือนว่า กระแสสื่อใหม่อย่าง “อินเทอร์เน็ต” ที่เพิ่มขึ้นนี้ ยังท้าทายความสามารถของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่จะจัดการกับ “ข่าวลือ” ที่เกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งคอยบดขยี้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และสร้างความวิตกกังวลต่อภาคส่วนต่างๆ ในสังคม

ศาสตราจารย์ถัง สี่ว์จวิน รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชน ประจำสถาบันวิชาการสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่า “เป็นเรื่องยากมากที่จะหลีกเลี่ยงข่าวลือในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะหากรัฐบาลล้มเหลวที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ถูกสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ออกมา”

ก่อนหน้านี้ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เริ่มใช้มาตรการบางอย่างมาต่อกรกับข่าวลือ ดังเช่น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2554 เวยปั๋ว (Weibo) และคิวคิว (QQ) สองเว็ปไมโครบล็อค (คล้ายทวิตเตอร์) ชื่อดังของจีน ได้ปิดระบบการแสดงความคิดเห็นเป็นเวลา 3 วัน หลังจากมีข่าวลือการก่อรัฐประหาร ที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่พอใจของนายปั๋ว ซีไหล อดีตผู้ว่าการมหานครฉงชิ่ง ซึ่งถูกเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวและการกระทำผิดต่างๆ

ทั้งนี้ จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน ระบุว่า ยอดตัวเลขชาวเน็ตจีนเมื่อปีล่าสุดอยู่ที่ 564 ล้านคน โดยมี 309 ล้านคนที่เปิดใช้เว็ปไมโครบล็อคส่วนตัวด้วย และจากการคาดการณ์ของนักวิจัยสถาบัน CASS นั้น เผยว่า ยอดชาวเน็ตจีนอาจพุ่งสูงกว่า 600 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น