xs
xsm
sm
md
lg

จีนออกกฎห้ามสูบฯ ในเขตพระราชวังต้องห้าม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระราชวังต้องห้าม ( 紫禁城; Forbidden City) เป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้ในสมัยโบราณ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1963 (ค.ศ. 1420) และยังคงได้รับการบูรณะอย่างสม่ำเสมอ ให้ดำรงสภาพเดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี - จีนออกกฎห้ามสูบบุหรี่ในเขตโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์กู้กง หรือพระราชวังโบราณ ณ กรุงปักกิ่ง ป้องกันความเสี่ยงไฟไหม้ ท่ามกลางเสียงสนับสนุนต้องการให้ขยายไปยังทุกโบราณสถาน และมรดกโลกของจีน

สื่อต่างประเทศรายงาน (25 พ.ค.) ว่า ทางการท้องถิ่นได้ประกาศกฎห้ามสูบบุหรี่อย่างเป็นทางการ ในเขตพิพิธภัณฑ์กู้กง หรือพระราชวังโบราณ ณ กรุงปักกิ่ง ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยภัณฑรักษ์ของพิพิธภัณฑ์กู้กง กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อย่างมีมารยาท และขจัดความเสี่ยงเกิดเพลิงไหม้ที่เกิดจากการสูบบุหรี่

รายงานข่าวกล่าวว่า ผู้เช้าชมจะได้รับกำไลนักท่องเที่ยว ซึ่งระบุข้อห้ามสูบบุหรี่ทั้งในและรอบนอกของพระราชวัง แต่อย่างไรก็ตาม ภัณฑรักษ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ยังไม่มีอำนาจบังคับกฎนี้ จึงทำได้เพียงตักเตือน แนะนำขอความร่วมมือ ก่อนที่จะแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ด้านผู้สนับสนุนกฎดังกล่าว ต่างเห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวครั้งนี้ และยังแสดงความเห็นว่า มีโบราณสถาน และพื้นที่มรดกโลกของจีนอีกมาก ที่ควรนำกฎห้ามสูบฯ นี้ไปใช้บังคับ และเรียกร้องให้นักท่องเที่ยวร่วมกันรณรงค์เรื่องนี้อย่างกว้างขวางไม่ใช่เพียงคำนึงถึงเรื่องไฟไหม้ แต่ยังเป็นเรื่องของสุขภาพโดยรวมด้วย

ข้อมูลสาธารณสุขจีนเผยว่า ปัจจุบันแดนมังกรมีสิงห์อมควันมากกว่า 300 ล้านคน ซึ่งโดยคร่าว ๆ แล้ว มากเท่ากับจำนวนประชากรในสหรัฐฯ กันเลยทีเดียว ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนเตือนจีน ซึ่งเป็นชาติผู้ผลิตและผู้สูบบุหรี่รายใหญ่ที่สุดในโลกว่า การสูบบุหรี่ของประชาชนมากมายเช่นนี้ เหมือนจีนกำลังกำระเบิดเวลาด้านสุขภาพไว้ในมือ

ทั้งนี้ พระราชวังต้องห้าม ( 紫禁城; Forbidden City) เป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้ในสมัยโบราณ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1963 (ค.ศ. 1420) และยังคงได้รับการบูรณะอย่างสม่ำเสมอ ให้ดำรงสภาพเดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด พระราชวังต้องห้ามตั้งอยู่ใจกลางของกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน เป็นพระราชวังหลวงมาตั้งแต่สมัยกลางราชวงศ์หมิงจนถึงราชวงศ์ชิง พระราชวังต้องห้ามยังรู้จักกันในนาม พิพิธภัณฑ์กู้กง
กำลังโหลดความคิดเห็น