xs
xsm
sm
md
lg

“หมู่บ้านงู” อันดับหนึ่งของจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2013 นาย หวง กวงอี้ว์ ป่วยด้วยโรคกระดูกสันหลังอักเสบติดยึด (ankylosing spondylitis) กำลังจับงูในฟาร์มที่จื่อซือเฉียว
เอเยนซี- ชาวบ้าน ณ หมู่บ้านจื่อซือเฉียว (子思桥村) ตำบลชิงเต๋อ (德清县) ทางด้านตะวันออกของมณฑลเจ้อเจียง (浙江省) ต่างเลี้ยงงูเพื่อค้าเป็นอาหารและยารักษาโรค เนื่องจากเลี้ยงงูครอบคลุมเกือบทุกสายพันธุ์ มากด้วยปริมาณ ทั้งมีคุณภาพคับแก้ว จึงได้รับสมญานามว่า “หมู่บ้านงูอันดับหนึ่ง” (中国第一蛇村) ของประเทศจีน
ศูนย์ศึกษาวิจัยงูเต๋อชิง มหาวิทยาลับเจ้อเจียง บริษัทค้าผลิตภัณฑ์งู และพิพิธภัณฑ์งู (ภาพจากเวบไซต์คณะกรรมการเยาวชนพรรคฯ)
งูไม่เพียงเป็นสัตว์ที่มีแรงต้านทานมากที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นสัตว์ที่มีระยะสืบพันธุ์ยาวที่สุดในโลกอีกด้วย เนื่องเพราะงูเป็นสัตว์ชนิดเดียวในโลกที่มีอวัยวะสืบพันธุ์ 2 อัน มีฮอร์โมนเพศชายที่เข้มข้นมากกว่าองคชาติของเสือและกวาง 10 เท่า มากกว่าองคชาติของแมวน้ำ 8 เท่า องคชาติของงูมีกรดอะมิโนที่มนุษย์ต้องการแต่ผสมเองไม่ได้ถึง 19 ชนิด มีปริมาณฮีโมโกรบิน 30 เท่าของเนื้อวัว และมีธาตุเหล็กมากกว่าปลาถึง 50-100 เท่า องคชาติของงูมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงของไต เพิ่มปริมาณเม็ดเลือด และเพิ่มพลังหยาง

บรรพบุรุษชาวจีนยุคแรกบูชางูในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่ามังกรที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติจีนมีพื้นฐานมาจากรูปลักษณ์ของงู เมื่อ 2,000 ปีก่อนในตำรับสมุนไพรจีนพื้นบ้าน 《神农本草》ได้มีการบันทึกถึงดีงูในฐานะยาประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถจำแนกเป็นตำรับเกือบ 100 สูตร โดยเฉพาะคัมภีร์ในฮ่องเต้ฮวาง《黄帝内经》ของสายเต๋านั้น ใช้ทั้งหนังงู ปอด องคชาติ น้ำมัน ดี และเลือด เป็นวัตถุดิบชั้นยอดสำหรับการรักษาโรค

นับแต่ทศวรรษที่ 80 ชาวบ้านจื่อซือเฉียว มณฑลเจ้อเจียง เริ่มเลี้ยงงูเพื่อเป็นอาหารและปรุงเป็นยาจีน ปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้มีประชากรเพียง 800 กว่าคน 160 หลังคาเรือน แต่มีงูกว่า 3 ล้านตัว ด้วยคุณภาพที่คับแก้ว ครอบคลุมเกือบทุกสายพันธุ์ ทั้งมีปริมาณมาก คือ ที่มาของสมญานาม “หมู่บ้านงูอันดับหนึ่ง” ของประเทศจีน

ในสายตาของคนทั่วไปงู คือ สัญลักษณ์ของสิ่งมีพิษ แต่ในสายตาของนายหยางหงชั่ง (杨洪昌) ประธานสมาคมผู้เลี้ยงงู ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ฮ่องเต้งู” (蛇王) เนื่องจากเป็นทั้งผู้นำในการเลี้ยงงูตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา และยังเป็นผู้ริเริ่มการรักษาด้วยงูนั้น ตลอดหัวจรดหางของงู คือ สิ่งอันเป็นที่รักซึ่งนำความสุขสมบูรณ์ให้แก่มนุษย์ เรียกได้ว่า เป็นกรุสมบัติแห่งเวชศาสตร์

ก่อนหน้านี้บ้านของนายหยางยากจนข้นแค้น เพื่อที่จะรักษาอาการป่วย เขาตระเวนไปทุกโรงพยาบาลในตำบล ทว่า การแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีทางรักษา แพทย์จึงได้แต่แนะนำให้หาทางรักษาด้วยงู เขาจึงเข้าป่าด้วยตัวเองและเริ่มต้นค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับสูตรยาที่ใช้งูเป็นส่วนผสมหลัก หลังจากที่อาการป่วยของนายหยางดีขึ้น ชาวบ้านก็พากันเลี้ยงชีพด้วยกิจการค้างูแทนการเกษตรกรรมแต่เดิม

ทั้งนี้ การเพาะเลี้ยงด้วยวิธีดั้งเดิมนั้น คือ การจับงูเพศผู้และเพศเมียมาไว้รวมกัน แต่ปัจจุบันนายหยางมีการวิจัยที่ลึกซึ้งถึงลักษณะเจริญพันธุ์ของเพศเมีย รวมถึงการศึกษาเรื่องอดอาหาร ที่ส่งผลให้อัตราการเกิดอีกด้วย นอกจากนี้ นายหยางหงชั่ง ยังเป็นผู้รวมศูนย์บำบัด จุดท่องเที่ยว และร้านค้าไว้ ณ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมงูเต๋อชิง (德清蛇文化博物馆) ภายในศูนย์แห่งนี้ประกอบไปด้วยห้องที่รักษาความร้อนไว้และงูนับร้อยที่นอนขดอยู่ในกล่องไม้ หนึ่งในนั้น คือ งูที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนเจ้าของนาม “งูห้าก้าว” สิ่งมีชีวิตใดก็ตามถูกกัดแล้วจะตายภายหลังเดินได้แค่ห้าก้าว อย่างไรก็ดี ความน่าสะพรึงกลัวนี้ไม่มีอิทธิพลต่อนายหยาง เขากล่าวว่า “เราปรารถนาให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและมีความสุขสมในปีมะเส็งนี้”

เกา สุ่ยหวา (高水华) ชายวัย 50 ปี ได้เลี้ยงงูเป็นอาชีพมากว่า 30 ปี แทนที่การทำนาและจับปลา “ก่อนหน้านี้พวกเรายากจน เราไม่มีหนทางอื่นดังนั้นเราจึงเริ่มเลี้ยงงู บางคนไม่นิยมรับประทานงูเพราะอาจดูประหลาด แต่เคยรู้บางไหมว่างูแต่ละชนิดมีวิธีการปรุงเฉพาะไม่เหมือนกัน ธุรกิจอาจดูดีขึ้นในปีนี้เพราะเข้าสู่ปีมะเส็ง” เขากล่าวพลางยื่นแก้วเหล้าดององคชาติงูให้กับแขกผู้มาเยือนและหลานชายของเขากล่าวเสริมสรรพคุณว่า “เป็นน้ำโทนิคเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับท่านชาย” 

หวง กวงอี๋ว์ (黄光宇) ชายวัย 25 ปี ชาวก่วงซี (广西) ผู้ทุกข์ทรมานจากโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบ ได้เดินทางจากทางใต้ของประเทศมาที่หมู่บ้านแห่งนี้ ภายหลังรับรู้เรื่องราวการบำบัดด้วยงู หวงต้องดื่มยาดองส่วนผสมของงูหลายสายพันธุ์ทุกวัน “ราคามันไม่ถูกเลย แต่คุณรู้ไหมว่าปีที่แล้วผมแทบเดินไม่ได้”

หยาง ซิ่วปาง (杨秀帮) ผู้เพาะเลี้ยงงูมากว่า 20 ปี กล่าวว่า รายรับประจำของเขาเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ความต้องการงูเพื่อใช้เป็นส่วนผสมตำรับยาจีนภายในประเทศมีสูงมาก ผลิตภัณฑ์จากงูในหมู่บ้านถูกส่งออกไปหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลี

อนึ่ง ความต้องการงูในฐานะยาชูกำลัง และยารักษาโรคที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ส่งผลให้กรมป่าไม้บรรจุงูเข้าในบัญชีสัตว์ที่ต้องนำมาใช้ศึกษาเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ กำหนดให้งู 43 พันธุ์เป็นสัตว์ป่าอนุรักษ์ พร้อมทั้งออกกฎห้ามใช้งูมาปรุงอาหารเพื่อการค้า แต่สามารถนำงูมาวิจัยด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตเป็นยา อันเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในทางที่เกิดประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดดูวิดีโอสารคดีหมู่บ้านงูอันดับหนึ่งของจีน
กระบวนการฆ่างูและแบ่งชิ้นส่วน (ภาพจากเวบไซต์ BBS )

การลอกหนังงู (ภาพจากเวบไซต์ BBS)
แฮมเบอร์เกอร์เนื้องู (ภาพจากเวบไซต์เฟิ่งฮวาง (凤凰))
การลอกดีงูเพื่อทำยาชูกำลัง (ภาพจากเวบไซต์เฟิ่งฮวาง (凤凰)
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2013 โถเหล้าดองงู วางจำหน่ายในฟาร์ม ที่หมู่บ้านจื่อซือเฉียว
กำลังโหลดความคิดเห็น