xs
xsm
sm
md
lg

บริติช เคานซิล ฮ่องกง ปลดป้ายโฆษณาฯ หวั่นปลุก "ยุคอาณานิคม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฆษกของบริติชฯ กล่าวว่า คำว่า The GREAT นั้นใช้เป็นแคมเปญใหญ่ ในการประชาสัมพันธ์นิทรรศกาลการศึกษาของบริติช เคานซิล ซึ่งเป็นแคมเปญที่จะจัดขึ้นทั่วโลก แต่คำๆ นี้ อาจจะอ่อนไหวต่อกรณีของฮ่องกง จึงตัดสินใจปลดโปสเตอร์ออกไปทันที เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อกัน (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี - บริติช เคานซิล ปลดป้ายโฆษณานิทรรศการการศึกษา หวั่นเกิดความเข้าใจผิด หลังถูกฉวยใช้ไปต่อต้านรัฐบาลฮ่องกง

เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ เผย (24 ม.ค.) ว่า บริติช เคานซิล องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศอังกฤษและนานาประเทศในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาการต่าง ๆ ได้ปลดป้ายโฆษณาที่สะดุดตาผู้คนด้วยคำขวัญว่า "This is GREAT Britain" ซึ่งหลายคนแปลความหมายได้ว่า "ที่นี่ คือสหราชอาณาจักร" สร้างกระแสอ่อนไหวทางสังคม ขณะเริ่มมีกลุ่มคนใช้ธงฮ่องกง ใต้จักรวรรดิ์นิยมอังกฤษเพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลฮ่องกง

รายงานข่าวกล่าวว่า ป้ายโฆษณาของบริติช เคานซิล ที่ติดอยู่บริเวณทางขึ้นลงสถานีรถไฟใต้ดิน อันเป็นป้ายสนับสนุนกิจกรรมนิทรรศการการศึกษา ซึ่งถูกปลดออกไปก่อนแล้วนี้ ได้สร้างกระแสความคิดเห็นในหมู่ชุมชนออนไลน์ และมีชาวเน็ตฯ เข้าไปโพสต์ความเห็นที่เฟซบุ๊ก ของสถานกงสุลอังกฤษจำนวนมาก โดยมีจำนวนมากที่สนับสนุนข้อความดังกล่าว

ด้านบริติช เคานซิลให้เหตุผลในการปลดป้ายออกว่า เพราะคำบางคำ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด โดยโฆษกของบริติชฯ กล่าวว่า คำว่า "The GREAT" นั้นใช้เป็นแคมเปญใหญ่ ในการประชาสัมพันธ์นิทรรศการการศึกษาของบริติช เคานซิล ซึ่งเป็นแคมเปญที่จะจัดขึ้นทั่วโลก แต่คำๆ นี้ อาจจะอ่อนไหวต่อกรณีของฮ่องกง จึงตัดสินใจปลดโปสเตอร์ออกไปทันที เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อกัน

ขณะที่ เอ็มทีอาร์ คอร์ปอเรชั่น เจ้าของสถานีฯ ไม่ได้ให้ความเห็นอะไร นอกจากชี้แจงเพียงว่า ติดตั้งป้ายดังกล่าวตามสัญญาฯ เช่าพื้นที่โฆษณาของลูกค้าฯ

สำหรับข้อความในเฟซบุ๊กนั้น มีชาวเน็ตฯ คนหนึ่ง โพสต์ว่า "ใช่ นี่คือฮ่องกง, สหราชอาณาจักร!" ขณะที่อีกคนว่า "สหราชอาณาจักรสร้างฮ่องกงยิ่งใหญ่"

รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ การชุมนุมประท้วงรัฐบาลฮ่องกง ผู้ชุมนุมต่อต้านหลายคน ได้โบกธงฮ่องกงในยุคที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ เพื่อแสดงความรู้สึกไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจีน ซึ่ง เจมส์ ซัง นักรัฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยซิตี้ ฮ่องกง กล่าวแสดงความเห็นว่า ประชาชน ที่เป็นคนหนุ่มสาวเหล่านั้น ล้วนเกิดในช่วง 20-30 ปีมานี้เอง อันเป็นช่วงที่เขาพบเจอแต่ความรุ่งเรืองของฮ่องกง

ก่อนหน้านั้น ฮ่องกงเคยเป็นดินแดนแห่งความอยุติธรรม เต็มไปด้วยปัญหาสังคม ทุจริตคอร์รัปชั่น ช่องว่างความเหลื่อมล้ำยากจน อีกทั้งขาดสวัสดิการ จนกระทั่งเมื่อมีการก่อตั้ง หน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตฮ่องกง คณะกรรมการอิสระเพื่อการปราบปรามการคอร์รัปชั่นในฮ่องกง หรือ Independent Commission Against Corruption (ICAC) อันเลื่องชื่อฯ ขึ้นในปี พ.ศ. 2517 เมื่อนั้นเองคือยุคเข้าสู่ความรุ่งเรืองของฮ่องกง แม้คนรุ่นที่เกิดก่อนยุคทศวรรษ 70 จะไม่รู้สึกดีกับการอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ แต่สำหรับผู้ประท้วงวัยหนุ่มสาว กลับรู้สึกแย่หลังฮ่องกงถูกโอนกลับคืนสู่จีน ซึ่งหลังจากเวลานั้น ชาวฮ่องกงก็เจอมรสุมทั้ง วิกฤติต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 วิกฤติโรคซาร์ พ.ศ. 2546 และล่าสุดก็ไม่รอดจากวิกฤติการเงิน พ.ศ. 2551 คนเหล่านั้น จึงนึกถึงแต่วันที่ฮ่องกงยังอยู่ใต้การปกครองอังกฤษ ซึ่งปราศจากเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เศรษฐกิจรุ่งเรือง บริการสาธารณะทั่วถึง เลยไม่แปลกใจว่าทำไมคนกลุ่มนี้นับวันจะเชิดชูรัฐบาลอังกฤษ
ภาพเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในฮ่องกง เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ชุมนุมฯ หลายคน ได้โบกธงฮ่องกงในยุคที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ เพื่อแสดงความรู้สึกไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจีน (ภาพเอเยนซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น