เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักข่าวหนังสือพิมพ์เซาเทิร์นวีกลี่ยอมยุติการผละงานประท้วงกรณีหัวหน้าฝ่ายโฆษณาการมณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) สั่งถอดข่าวหน้าแรก และนำบทสดุดีพรรคคอมมิวนิสต์เสียบแทน อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องเสรีภาพของสื่อมวลชนยังดำเนินต่อไป
แหล่งข่าวใกล้ชิดกับกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เซาเทิร์นวีกลี่ระบุว่า นักข่าวตกลงกลับเข้าทำงานเมื่อวันอังคาร (8 ม.ค.) หลังจากนายหู ชุนหวา ดาวรุ่งทางการเมือง ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขามณฑลก่วงตงเมื่อเดือนที่แล้ว ได้เข้าเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยการเผชิญหน้าระหว่างนักข่าวกับฝ่ายโฆษณาการ
ขณะที่แหล่งข่าวอีก 2 แหล่ง ซึ่งใกล้ชิดกับกองบรรณาธิการเช่นกันระบุว่า นักข่าวตัดสินใจกลับเข้าทำงาน หลังจากมีการเจรจากับฝ่ายบริหารเมื่อวันอังคาร โดยหนังสือพิมพ์จะกลับมาพิมพ์จำหน่ายตามปกติในสัปดาห์นี้ และทีมงานส่วนใหญ่จะไม่ถูกลงโทษ
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า นายหูได้กล่าวเป็นนัยว่านายถั่ว เจิ้น หัวหน้าฝ่ายโฆษณาการประจำมณฑลจะถูกปลดจากตำแหน่งในที่สุด แต่นายหูยังไม่สั่งการในทันที เพื่อรักษาหน้าของนายถั่ว
ทั้งนี้ การออกมาชุมนุมประท้วงของประชาชนและนักข่าวเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (7 ม.ค.) หลังจากฝ่ายโฆษณาการสั่งให้ถอดจดหมายวันปีใหม่ถึงผู้อ่าน ซึ่งเป็นบทความต้อนรับปีใหม่ตามธรรมเนียม ที่ปฏิบัติมาของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ โดยมีเนื้อหาเรียกร้องการมีรัฐบาล ที่บริหารประเทศภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และนำบทสดุดีพรรคคอมมิวนิสต์มาใส่แทน สร้างความโกรธแค้นแก่ประชาชน ที่ระบบเซ็นเซอร์เข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อ และส่งผลให้นักข่าวจำนวนหนึ่งของเซาเทิร์นวีกลี่เข้าร่วมการประท้วงด้วย
ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงครั้งนี้ ขณะที่นักข่าวระบุว่า ไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับสื่อมวลชนต่างประเทศ โดยนักข่าวกล่าวว่า การนำกรณีนี้มาอภิปรายถกเถียงอาจไม่เป็นประโยชน์กับพวกตน และทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวยังมีความสับสน โดยจากการเปิดเผยของแหล่งข่าวอีกแหล่งหนึ่งระบุว่า ฝ่ายโฆษณาการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มีคำสั่งไปถึงบรรณาธิการอาวุโส โดยระบุว่า ทางพรรคจะยังคงควบคุมสื่อสารมวลชน และนายถั่วไม่ต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้ แม้มีเสียงเรียกร้องให้เขาลาออกก็ตาม
มีรายงานว่า แม้นักข่าวจะยอมกลับเข้าทำงานแล้ว แต่ผู้ประท้วงประมาณ 100 คนยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ของหนังสือพิมพ์เซาเทิร์นวีกลี่ในเมืองก่วงโจว โดยเรียกร้องให้ยุติระบบเซ็นเซอร์
การตัดสินใจกลับเข้าทำงานของนักข่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสัญญาณว่า รัฐบาลกลางอาจตำหนิเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็นฝึมือของ “ กองกำลังภายนอก” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหา ที่มักนำมาใช้ เพื่อใส่ร้ายการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของประชาชน เช่นการประท้วงการยึดที่ดินของชาวบ้านในหมู่บ้านอูข่านเมื่อปี 2544
บรรดาบรรณาธิการของสำนักข่าวบนแผ่นดินใหญ่ระบุว่า แม้ทางการมิได้ออกแถลงการอย่างชัดเจนในการกล่าวหานั้น แต่หนังสือพิมพ์ของจีนหลายฉบับได้พิมพ์ซ้ำบทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ โกลบอลไทมส์ ซึ่งระบุว่า เหตุการณ์ประท้วงที่มณฑลก่วงตงถูกยั่วยุโดยกองกำลังภายนอก พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า นายเฉิน กวงเฉิน นักรณรงค์ตาบอด ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้ส่งเสียงสนับสนุนเซาเทิร์นวีกลี่
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์หลายฉบับมิได้ลงบทวิจารณ์นี้ เช่น ปักกิ่งนิวส์ , โอเรียนเทล มอร์นิ่งโพสต์, กวางโจวเดลี่ และเซาเทิร์น เมโทรโปลิส เดลี่ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์พี่น้องของเซาเทิร์นวีกลี่
บทวิจารณ์นี้ยังระบุด้วยว่า มีนักเคลื่อนไหวนอกประเทศจีนกำลังหวังว่าจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างสื่อมวลชนแผ่นดินใหญ่กับทางการ
ด้านวิกตอเรีย นูแลนด์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า การเซ็นเซอร์สื่อเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความปรารถนาของจีนในการสร้างสังคมและเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสาร