เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ฮ่องกงประสบวิกฤตขาดแคลนสัตวแพทย์ด้านปศุสัตว์อย่างหนัก หวั่นอาจเป็นสาเหตุให้โรคติดต่อจากสัตว์แพร่ระบาด และเป็นภัยคุกคามต่อสุขอนามัยของประชาชนได้
วิกฤตการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากในปัจจุบันเขตปกครองพิเศษฮ่องกงไม่มีโรงเรียนสัตวแพทย์ นอกจากนั้น กว่าร้อยละ 90 ของสัตวแพทย์ ที่ทำงานอยู่ในฮ่องกงจำนวน 400 คน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นหมอ ที่รักษาสัตว์เลี้ยงในบ้าน
ปัญหาขาดแคลนดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับอันตราย ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นกับมนุษย์ จากเชื้อโรค ซึ่งร้อยละ 70 มาจากสัตว์ โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นของการเจ็บป่วยด้วยโรค ที่มาจากสัตว์ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่นโรคซาร์ส และไข้หวัดนก
นายโฮเวิร์ด หว่อง ไกฮาย (Howard Wong Kai-hay) สัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อระบุว่า ฮ่องกงอาจเป็นสถานที่หนึ่งในจำนวนไม่กี่แห่งในโลก ที่เลี้ยงปศุสัตว์และผลิตเนื้อสัตว์ โดยปราศจากการตรวจสอบดูแลจากสัตวแพทย์
“มันเป็นเรื่องน่าอายไม่น้อย … โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำหนดให้เนื้อสัตว์จากประเทศอื่น ๆ ต้องได้มาตรฐานสูง”
นายหว่อง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต (life science) ของมหาวิทยาลัยซิตี้ กล่าวด้วยว่า ฮ่องกงเป็นพื้นที่หนึ่งในเอเชีย ที่เกิดโรคมากมาย จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยด้านปศุสัตว์มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ขณะที่ดร.เจน เกรย์ หัวหน้าศัลยสัตวแพทย์ของสมาคมป้องกันการทารุนสัตว์ ( SPCA) ระบุว่า ฮ่องกงไร้การฝึกสอนอบรมสัตวแพทย์อย่างสิ้นเชิง
เมื่อไม่มีสถาบันผลิตสัตวแพทย์ ผู้คนในฮ่องกงที่ต้องการยึดอาชีพนี้จึงต้องไปเรียนในต่างประเทศ และหลายคนอยู่ทำงานต่อที่นั่นภายหลังสำเร็จการศึกษา
ปัจจุบัน มีสัตวแพทย์ ที่จดทะเบียนในฮ่องกงจำนวน 650 คน แต่อยู่ทำงานที่นี่ประมาณราว 400 คนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า มีสัตวแพทย์เพียง 68 คนต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคนบนเกาะฮ่องกง เทียบกับ 281 คนในญี่ปุ่นและ 332 คนในออสเตรเลีย
แรงกดดันยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อจำนวนผู้เลี้ยงสัตว์ในฮ่องกงมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเพิ่มร้อยละ 40 เป็น 415,000 คนเมื่อปีที่แล้ว
นักกฎหมายด้านเกษตรกรรมและการประมงระบุว่า นอกจากมีสัตวแพทย์ไม่พอแล้ว สัตวแพทย์ส่วนใหญ่ยังกระตือรือล้น ที่จะเปิดคลินิกรักษาสัตว์เป็นกิจการส่วนตัวมากกว่าไปทำงานในฟาร์ม โดยปัจจุบันฟาร์มในฮ่องกง ซึ่งมีอยู่ 70 แห่ง ส่วนใหญ่ขาดสัตวแพทย์ประจำบ้านในการตรวจสอบดูแลการผลิตสุกรโดยเฉลี่ยวันละ 255 ตัว และไก่เป็น 10,300 ตัว
หากเกิดโรคระบาดขึ้น เกษตรกรต้องแจ้งกระทรวงเกษตร ,การประมง และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (AFCD) ซึ่งจะส่งสัตวแพทย์ไปดูแล อย่างไรก็ตาม หากมีสัตวแพทย์ประจำบ้านก็จะสามารถตรวจพบอาการของโรคได้แต่เนิ่น ๆ ซึ่งเกษตรกรอาจไม่ทราบ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยซิตี้มีความประสงค์ก่อตั้งโรงเรียนสัตวแพทย์แห่งแรกของฮ่องกงในปี 2557 ประกอบด้วยฟาร์มสำหรับฝึกอบรม , โรงพยาบาล และห้องทดลอง โดยทางมหาวิทยาลัยได้ยื่นเสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการเงินทุนมหาวิทยาลัย (University Grants Committee) ซึ่งจะมีการพิจารณาอนุมัติให้เงินทุนในเดือนม.ค. นี้