รอยเตอร์ - เหตุการณ์ลามะและชาวทิเบตจุดไฟเผาตัวตายตกเป็นข่าว ที่สะเทือนใจและน่าตะลึงพรึงเพริดแก่ชาวโลกในตอนแรก ๆ ทว่าพอนานไปก็เหมือนกับท้องน้ำ ที่กระเพื่อมระลอกคลื่น แล้วก็หายไป
ซ้ำร้ายเปลวไฟที่ลุกท่วมร่างผู้พลีชีพจะทำให้พญามังกรรู้สึกร้อนสักนิดก็หาไม่ ยิ่งจำนวนผู้จุดไฟเผาตัวตายพุ่งสูง รัฐบาลกรุงปักกิ่งก็ยิ่งเดินหน้าปราบปรามการประท้วงต่อต้านจีนอย่างรุนแรงหนักหน่วง
จากข้อมูลของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ยอดผู้จุดเพลิงเผาตัวเอง เพื่อประท้วงการปกครอง ที่กดขี่ข่มเหงของจีน นับตั้งแต่ปี 2552 มาจนถึงขณะนี้พุ่งสูงถึง 94 คนแล้ว และในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บจากไฟคลอกเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 77 คน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพลีร่างสังเวยพระเพลิง เพื่อประกาศความคับแค้นให้ชาวโลกได้รับรู้เพิ่มจำนวนสูงลิ่วในปีนี้ โดยเพิ่มถึง 81 รายแล้ว และเฉพาะในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่รองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนคนใหม่นั้น มีชาวทิเบตจุดไฟเผาร่างตนเองทั้งหมด 29 คน
แต่พญามังกรยังคงยืนยันความชอบธรรมในการใช้กฎเหล็กปกครองทิเบตว่า กองทัพปลดแอกประชาชนเคลื่อนกำลังมา “ปลดปล่อยทิเบตอย่างสงบสันติ” ในปี 2493 มิเช่นนั้นทิเบตก็จะยังมีสภาพเป็นภูมิภาค อันห่างไกล ยากจนข้นแค้น มีการเอารัดเอาเปรียบข้าติดที่ดินอย่างโหดเหี้ยม และเศรษฐกิจไม่เจริญ
นอกจากนั้น ล่าสุดศาลสูงสุด และหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐยังได้ประกาศคำสั่งให้มีการตั้งข้อหาฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา ซึ่งรวมทั้งข้อกล่าวหาเจตนาฆาตกรรมแก่ผู้จุดไฟเผาตัวเอง และใครก็ตาม ที่ “ จัดการ , วางแผน, บีบคั้น, ล่อลวง, ยุยงส่งเสริม หรือช่วย” ให้มีการประท้วงในลักษณะเช่นนี้
สำนักข่าวของทางการรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (9 ธ.ค.) ว่า ตำรวจมณฑลเสฉวนได้จับกุมลามะรูปหนึ่งพร้อมกับหลานชายในข้อหา “ ยุยง” ประชาชน 8 คนให้จุดไฟเผาตัวเอง ตั้งแต่เมื่อปี 2552
การประท้วงด้วยวิธีการอันน่าสยดสยองนี้ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจากประชาคมนานาชาติ กระทั่งนายกรัฐมนตรี ล็อบซัง ซันเกย์ (Lobsang Sangay) แห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ในเมืองธรรมศาลาของอินเดีย ต้องเรียกร้องให้นานาชาติควรออกมาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะชาวทิเบตกำลังล้มตายลงอย่างไร้ประโยชน์
กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลกรุงวอชิงตันจึงออกมากระทุ้งจีน โดยมาเรีย โอเตโร่ ผู้ประสานงานพิเศษด้านทิเบตของสหรัฐฯ ระบุว่า นโยบายที่แข็งกร้าวของจีนทำให้สถานการณ์ตึงเครียดในทิเบต รวมการจุดไฟเผาตัวตายเลวร้ายลง แต่ถูกกระทรวงการต่างประเทศแดนมังกรสวนกลับว่า เป็นความคิดเห็น ที่น่าสะอิดสะเอียน ซึ่งจีนได้ยื่นประท้วงสหรัฐฯ ไปแล้ว
ที่ผ่านมาสหรัฐฯ และอีกหลายชาติยังเรียกร้องให้จีนเปิดการเจรจากับองค์ทะไลลามะ และยุตินโยบายกดขี่ปราบปราม
แต่นิโคลาส บีเกอลิน นักวิจัยของกลุ่มสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรต์ส ว็อตช์ ชี้ว่า ประชาคมนานาชาติล้มเหลว เนื่องจากไม่มีการผนึกกำลังกดดันจีนจากหลายฝ่าย
“ ไม่มีใครคิดจะตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน แต่การนิ่งเฉยไม่ทำอะไรอยู่นานหลายสิบปีเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหาย” เขาระบุ
การเผาตัวตายของลามะวัย 20 ปีนามว่า พันต์ซ็อค (Phuntsog) ที่วัดกีร์ติ (Kirti monastery) ในถิ่นอาศัยของชาวทิเบตในมณฑลเสฉวนเมื่อเดือนมี.ค 2554 จุดอารมณ์ต่อต้านแผ่ไปทั่วหมู่บ้านในภาคตะวันออกของที่ราบสูงทิเบตในมณฑลเสฉวน มณฑลชิงไห่ และกานซู จากนั้น ชาวทิเบตทั้งลามะทั้งฆราวาสและแม่ชีก็ทยอยเผาตัวตาย เพื่อต่อต้านการปกครองของจีนและเรียกร้องการเสด็จกลับคืนสู่ทิเบตขององค์ทะไลลามะ
อย่างไรก็ตาม ร็อบบี้ บาร์เน็ตต์ นักทิเบตศึกษาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์กมองว่า ชาวทิเบต และรัฐบาลพลัดถิ่นในอินเดียกำลังเล่นการเมืองโดยใช้ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเป็นเครื่องมือ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สามารถกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกในหมู่ชุมชนชาวทิเบตได้ แต่ใช้ไม่ได้ผลในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย อีกทั้งการเผาตัวตายเดี่ยวดูจะไม่สร้างผลกระทบสำหรับนานาชาติอย่างที่ครั้งหนึ่งเคยทำได้ และดูเหมือนว่าในปัจจุบันการปลิดชีพวิธีนี้จะเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพทางการเมืองก็ต่อเมื่อมีการทำพร้อมกันเป็นกลุ่มเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางกระแสการประท้วงเผาตัวตายที่เหมือนแมงเม่าบินเข้ากองไฟของชาวทิเบตนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังมีความหวังว่า สถานการณ์ในทิเบตอาจดีขึ้น เมื่อรองประธานาธิบดีสี ซึ่งบิดามีความสนิทสนมกับองค์ทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณของทิเบต ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีแดนมังกรในเดือนมี.ค. ปีหน้าและเขาอาจนำวิธีการปฏิรูปมาใช้ในการปกครองทิเบตมากขึ้นก็ได้
กระนั้นก็ดี มีน้อยคน ที่จะรู้ว่านายสีมีความคิดอย่างไรกับทิเบต หรือกับองค์ทะไลลามะ แต่ความคิดของผู้บิดา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้จิตใจกว้างขวางย่อมมีอิทธิพลต่อผู้เป็นบุตรอย่างแน่นอน
ขณะที่องค์ทะไลลามะเองก็มิเคยได้พบกับนายสีมาก่อนเลย แต่ความรักใคร่ชอบพอ ที่ท่านมีต่อบิดาของนายสีนั้น ทำให้บางคนมองว่า อาจเป็นนิมิตหมายว่า ผู้นำจีนคนใหม่อาจดำเนินนโยบาย ที่แตกต่างจากผู้นำคนก่อน ซึ่งรวมทั้งการมีใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของชาวมุสลิมอุยกูร์ในภูมิภาคซินเจียง ตลอดจนไต้หวัน ซึ่งจีนถือเป็นจังหวัดหนึ่งของตนและเคยลั่นวาจาใช้กำลังทหารเข้ายึด หากจำเป็นอีกด้วย
คลิกอ่าน: ลำดับเหตุการณ์สำคัญในศึกขัดแย้งจีน-ทิเบต 50 ปี
คลิกอ่าน: สู่ ‘เอกราช’ ทิเบต! ฝันที่(ไม่)เป็นจริง?