เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์/เอเยนซี--จีนเตรียมยิงดาวเทียมเป๋ยโต่ว ดวงที่ 16 ในเดือนนี้ (ต.ค.) เพื่อทำให้ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการก่อสร้างระบบดาวเทียมนำทางของจีนสำเร็จลุล่วง
สำนักข่าวปักกิ่ง นิวส์ รายงานวานนี้ (15 ต.ค.) ดาวเทียมฯ นี้ จะช่วยพัฒนาระบบให้ขยายสัญญาณครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตั้งแต่อัฟกานิสถานไปจนถึงแปซิฟิกตะวันตก และจากมองโกเลียไปถึงออสเตรเลีย
เจ้าหน้าที่จากสำนักงานการจัดการระบบดาวเทียมนำทาง เป๋ยโต่ว ในกรุงปักกิ่ง กล่าววานนี้เช่นกัน “ตารางการปล่อยดาวเทียมอาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือเลื่อนออกไปได้ เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพอากาศ”
“ในช่วงเวลาอ่อนไหวเช่นนี้ ก่อนการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า (พ.ย.) เราไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยวันที่ปล่อยดาวเทียม จนกว่าจะได้รับคำสั่งจากหน่วยงานระดับสูง” เขากล่าวเสริม
จีนกำหนดโครงการพัฒนา “สามขั้น” สำหรับระบบดาวเทียมเป๋ยโต่ว แบ่งเป็นแผนขั้นที่ 1 เครือข่ายขั้นทดลองที่ครอบคลุมในจีนและประกอบด้วยดาวเทียม 3 ดวง สำเร็จลุล่วงในเดือนพ.ค. 2546 หลังจากหู จิ่นเทา รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น โดยผู้ที่ริเริ่มมาก่อนคือ อดีตประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน
หู หวังที่จะส่งต่อตำแหน่งให้กับรองประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในเดือนหน้า ทำให้ประชาชนคาดเดาต่างๆ นานาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศของจีน โดยแผนขั้นที่ 2 นี้ ที่ครอบคลุมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะสำเร็จในช่วงวาระของหู ที่จะกลายเป็นหนึ่งในอนุสรณ์ความยิ่งใหญ่ทางการเมืองของเขา
สำหรับการก่อสร้างตามแผนขั้นที่ 3 กำหนดให้เสร็จสิ้นภายในปี 2563 โดยจะประกอบไปด้วยดาวเทียมกว่า 35 ดวง เพื่อให้พิกัดการทหารของจีนและผู้ใช้ที่เป็นพลเมืองทั่วโลก ระบบนำทางที่แม่นยำ และข้อมูลเวลาที่ก้าวล้ำกว่าระบบอื่นๆ
เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ นี้ ต่างกล่าวว่า พวกเขาหวังว่า สี จะสามารถสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเอื้ออาทรเช่นเดียวกับผู้นำก่อนหน้า
เลี่ยว ชุนฟา นักวิจัยหลักในโครงการเป๋ยโต่ว เผยว่า หากไม่มีการสนับสนุนจากผู้นำประเทศ โครงการฯ อาจจะล้มเหลวได้ “การรักษาระบบนำทางดาวเทียมให้คงไว้นั้น ยากกว่าการสร้างอีก จำเป็นที่จะต้องให้ผู้นำส่งต่อความมุ่งมั่นบากบั่นจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง”
ในเบื้องต้น ดาวเทียมเป๋ยโต่ว ถูกพัฒนาสำหรับการทหารเท่านั้น โดยในปี 2533 กองทัพจีนใช้ระบบนำทางให้การนำทางขีปนาวุธพิสัยไกล ทว่า สหรัฐฯ สามารถค้นหาและนำทางขีปนาวุธไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้ โดยส่งสัญญาณรบกวน ต่อมา ผู้นำจีนจึงตัดสินใจสร้างระบบนำทางทั่วโลก ด้วยโครงการเป๋ยโต่ว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา จีนปล่อยดาวเทียมเป๋ยโต่วดวงที่ 12 และ 13 และต่อมาเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา จีนปล่อยดาวเทียมเป๋ยโต่วดวงที่ 14 และ 15 โดยทั้งสองครั้งนี้ต่างใช้การยิงจรวดขนส่งเพียงครั้งเดียว
ดาวเทียมเป๋ยโต่วของจีน พัฒนาขึ้นเพื่อแข่งขันกับเครือข่ายระบบจีพีเอส (Global Positioning System) ของสหรัฐฯ ระบบ GLONASS (Global Navigation Satellite System) ของรัสเซีย และระบบ Galileo Positioning System ของสหภาพยุโรปได้
ยิงอีก! กับการยิงจรวดเดียวส่งได้ 2 ดาวเทียม
สื่อจีนรายงาน เมื่อเวลา 11.25 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา จีนปล่อยดาวเทียม 2 ดวง คือ ดาวเทียม A และดาวเทียม B “รุ่นสือเจี้ยน หมายเลข 9 (实践九号 หรือ Practice-9)” โดยอาศัยจรวดขนส่งฉังเจิง 2 ซี (ลองมาร์ช 2ซี) ลำเลียงขึ้นสู่วิถีวงโคจรได้อย่างราบรื่น ณ ศูนย์ยิงจรวดไท่หยวน มณฑลซานซี
การยิงจรวดครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 169 ที่ชุดจรวดขนส่งฉังเจิงสามารถลำเลียงดาวเทียมขึ้นสู่วิถีวงโคจรได้สำเร็จ
ดาวเทียม A และดาวเทียม B ถูกพัฒนาโดย สถาบันการเดินทางด้วยยานอวกาศ เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Academy of Spaceflight Technology: SAST) เพื่อคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งชาติ หน้าที่หลักคือ ดำเนินการทดลองในวงโคจร เกี่ยวกับการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า การทดสอบระบบขับเคลื่อนหัวขับดัน (หรือ thruster) ด้วยอิออนของก๊าซซีนอน (Xenon Ion Propulsion System: XIPS) นอกจากนี้ ยังจะทดสอบระบบควบคุมที่มีความเสถียรและแม่นยำสูง ต้นกำเนิดพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และเทคโนโลยีควบคุมอุณหภูมิขั้นสูงสุด โครงสร้างหลักของดาวเทียมยังเป็นอุปกรณ์สำหรับการสำรวจพื้นผิวโลกอีกด้วย
สำหรับ “รุ่นสือเจียน หมายเลข 9” คำว่า สือเจียน หมายถึง ทดสอบ ดังนั้น ดาวเทียมรุ่นนี้ นำมาใช้ในองค์ประกอบและภารกิจที่หลากหลาย สำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และการทดลองทางเทคโนโลยี
ชมภาพการปล่อยจรวดขนส่งฉังเจิง 2 ซี ที่ลำเลียงดาวเทียม A และดาวเทียม B รุ่นทดสอบหมายเลข 9 ณ ศูนย์ยิงจรวดไท่หยวน ในมณฑลซานซี เมื่อวันที่ 14 ต.ค. (ภาพซินหวา/ไชน่านิวส์)