ASTVผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซี--แพนด้ายักษ์ ที่เป็น “สมบัติล้ำค่าของชาติจีน” ในปัจจุบัน ทว่า...เคยเป็นอาหารจานโปรดของเหล่ามนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์หรือมนุษย์วานร นี่มิใช่เรื่องลักลอบ เปิบพิสดารตามกระแสปัจจุบัน หากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และแพนด้าที่มีวิวัฒนาการเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาย้อนยุคไปถึง 8 ล้านปี...!
นักวิทยาศาสตร์จีนผู้เชี่ยวชาญฟอสซิลมนุษย์ 2 ท่าน ได้เผยความลับอันน่าเหลือเชื่อนี้ ไว้ใน “กำเนิดแพนด้ายักษ์” ( 《大熊猫的起源》/Origins of Giant Pandas) ที่เพิ่งคว้ารางวัลจากการประกวดหนังสือแนววิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม ครั้งที่ 1 จัดโดยสมาคมนักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน (China Science Writers' Association) โดยเป็นผลงานเขียนแนววิทยาศาสตร์ร่วมของนักวิทยาศาสตร์ 2 ท่าน คือ เว่ย กวงเปียว ผู้อำนวยการแห่ง สถาบันมานุษยวิทยาดึกดำบรรพ์แห่งพิพิธภัณฑ์ซันซย่าในนครฉงชิ่ง และ หวง วั่งปัว นักวิจัยแห่งสถาบันมานุษยวิทยาดึกดำบรรพ์และสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังยุคดึกดำบรรพ์
หลังจากที่หนังสือ “กำเนิดแพนด้ายักษ์” ได้รับรางวัลฯไม่กี่วัน ในวันอาทิตย์ (14 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวจีนก็ได้ไปสัมภาษณ์ผู้เขียนร่วม เว่ย กวงเปียว เกี่ยวกับสัมพันธภาพของมนุษย์และแพนด้ายักษ์เมื่อ 8 ล้านปีก่อน ที่ไม่มีใครเคยรู้ได้ยินมาก่อน
แพนด้าเคยเป็นอาหารจานโปรด
เว่ย กวงเปียว กล่าวว่า “มนุษย์และแพนด้ายักษ์มีวิวัฒนาการเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาร่วมกันมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ โดยผู้เชี่ยวชาญได้ศึกษาฟอสซิลกระดูกแพนด้าป่า(Ailuropoda melanoleuca baconi) ที่ขุดค้นพบตามแหล่งที่อยู่อาศัยมนุษย์บรรพกาลในเขตนครฉงชิ่ง อย่างในเมืองของผม คือ เมืองเฟิ่งเจี๋ย หรืออูซาน และที่อื่นๆ
“มนุษย์และแพนด้ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จากยุคแรกเริ่มมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน บางช่วงแพนด้ายักษ์ก็เป็นอาหารโอชะของมนุษย์ และกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยง”
ในช่วง หนึ่งหมื่นปี ถึง หนึ่งล้านปีก่อน ในเขตที่เป็นนครฉงชิ่งปัจจุบัน มีแพนด้าป่ามากมายเพ่นพ่านให้เห็นทั่วไป ซึ่งในยุคนี้เป็นช่วงที่มนุษย์มีพัฒนาการความรู้ระดับสูงแล้ว
“พวกเราพบร่องรอยของแพนด้าในแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์หลายแห่ง และหลายร่องรอยเหล่านี้เป็นซากที่มนุษย์สังหารทิ้งไว้ ในยุคนั้นเป็นยุคขาดแคลนทรัพยากร มนุษย์จะไม่สังหารสัตว์ที่ไม่มีประโยชน์แก่พวกเขา”
แพนด้าตัวเล็กเท่าสุนัขพันธุ์ทิเบต
จากซากกระดูกแพนด้าที่พบ ส่วนศีรษะเล็กมาก แสดงว่าในยุคสองล้านปีแล้ว แพนด้าป่าไม่ใช่สัตว์ที่มีขนาดใหญ่ยักษ์เช่นในปัจจุบัน ที่เราเรียกแพนด้ายักษ์ แต่มีขนาดเล็ก เท่ากับสุนัขพันธุ์ ทิเบตัน มาสทิฟฟ์ (Tibetan mastiffs)เท่านั้น ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงเรียกแพนด้าในยุคนั้นว่า “แพนด้าพันธุ์ตัวเล็ก” ซึ่งเป็นบรรพบุรุษสายตรงของแพนด้ายักษ์ปัจจุบัน
ขณะนี้ไม่มีร่องรอยแพนด้าตัวเล็กอีกแล้ว แต่ในปัจจุบันลูกแพนด้าแรกเกิด ก็ดูจะเป็นเบาะแสได้รางๆ เว่ย กวงเปียว กล่าว “หลายคนคงไม่ทราบว่า แพนด้ายักษ์เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ออกลูกแรกเกิดขนาดเล็กมาก ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้มีอยู่น้อยมากๆ
“น้ำหนักแพนด้าวัยผู้ใหญ่ ราว 100 กิโลกรัม แต่ในวัยแรกเกิดนั้นมีขนาดเพียงฝ่ามือเท่านั้น มีน้ำหนักระหว่าง 70 กรัม-180 กรัม เทียบกับสัดส่วนของตัวแม่ เท่ากับ 1 ใน 10,000 ถึง ไม่กี่ส่วนใน 1,000 แค่หนูตัวเล็กตัวหนึ่งเท่านั้น”
การค้นพบใหม่...ชี้หลายร้อยปีที่แล้ว ฉงชิ่งอุมดมไปด้วยแพนด้า
ปัจจุบันไม่มีใครพบแม้เงาแพนด้ายักษ์ตัวเดียวให้เห็นในนครฉงชิ่ง แต่พวกคุณรู้ไหมว่า เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว เขตที่เป็นตั้งเมืองฉงชิ่งนี้ เป็นถิ่นของแพนด้ายักษ์ ตามเขตที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล เต็มไปด้วยแพนด้ายักษ์เป็นฝูง นอกจากนี้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยังได้พบซากกระดูกแพนด้ายักษ์ยุคเมื่อ 6,000 ปีก่อน ในเขตฉงชิ่ง
“ต่อมา การขุดค้นใหม่ๆทำให้เราต้องกลับไปแก้ไขประวัติศาสตร์กันใหม่อีก เมื่อไม่นานมานี้ เราได้พบกระดูกแพนด้ายักษ์ชิ้นใหม่ และกำลังตรวจสอบเพื่อประมาณอายุ และยุคที่พวกมันมีชีวิตอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงหลายร้อยปีก่อนหน้า หากการสันนิษฐานนี้ถูกต้อง ก็สามารถกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาอย่างน้อยหลายร้อยปีก่อน ในเขตนครฉงชิ่งอุดมไปด้วยแพนด้ายักษ์”
แล้วทำไมแพนด้ายักษ์ถึงหายไปจากฉงชิ่ง
เว่ย กวงเปียว กล่าวว่า น่าจะเป็นเพราะสภาพอากาศ ที่ทำให้แหล่งอาหารของแพนด้ายักษ์ คือ ไผ่ หมดไป ทำให้พวกแพนด้ายักษ์ต้องอยพยพกันไปอยู่ที่อื่น อย่างเช่น ในมณฑลซื่อชวน หรือเสฉวน ที่ใครต่อใครต่างกล่าวว่า เสฉวนเป็นบ้านเกิดของแพนด้ายักษ์ไปแล้ว.