xs
xsm
sm
md
lg

เหลือเชื่อ ! เมืองรวยที่สุดของจีนหนี้ท่วมหัวจ่อล้มละลาย

เผยแพร่:   โดย: พรรณพิไล นาคธน

ร้านค้าหลายแห่งในเมืองตงก่วน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าไฮ-เทคพากันปิดกิจการมานานกว่า 9 เดือนแล้ว – เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - เมืองตงก่วนแห่งมณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ที่เศรษฐกิจเติบโตเปรี้ยงปร้างมาตลอดกว่า 30 ปี จากการเป็นทัพหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษภายนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ  ทว่า เวลานี้กำลังอาการร่อแร่ จะล้มละลายอยู่รอมร่อ

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยซุน จงซาน (ซุนยัตเซ็น) สำรวจพบว่า ร้อยละ 60 ของหมู่บ้านในเมืองตงก่วน อดีตเมืองเกษตรกรรม อันห่างไกลโดดเดี่ยว ซึ่งกลายมาเป็นเมืองศูนย์กลางการผลิตสินค้าไฮเทคสำคัญที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง กำลังประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณ และจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือด้านการเงิน ก่อนจะต้องล้มละลายจากองค์การบริหารปกครองระดับเมืองในอีกไม่ช้า
สภาพที่เงียบเหงาเห็นอยู่ทั่วไปภายในเมืองตงก่วน – เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
โชคชะตา ที่พลิกผันของเมือง ซึ่งจัดว่ามั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งบนแดนมังกรแห่งนี้ยังอาจเป็นลางบอกเหตุถึงวิกฤตการเงิน ที่กำลังขยายลุกลามในขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว

หนี้สินขององค์การบริหารปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศจีนสูงถึง 10.7 ล้านล้านหยวนเมื่อสื้นปี2553 หรือเท่ากับประมาณร้อยละ 27 ของจีดีพี แต่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดีส์ประเมินว่า ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงถึงราว 14.2 ล้านล้านหยวน

นาย ไป๋ จิ่งหมิง นักวิจัยอาวุโสของกระทรวงการคลังได้ประเมินยอดหนี้สินขององค์การบริหารปกครองหมู่บ้านทั่วประเทศในปี 2552 อาจมากถึงร้อยละ 10 ของจีดีพีของจีนก็เป็นได้ แต่ไม่มีตัวเลขของทางการออกมา

ผู้เชี่ยวชาญพบว่า หนี้สินท่วมหัว ที่หมู่บ้านในเมืองก่วงตงแบกรับอยู่ในเวลานี้มาจากสาเหตุ 2ประการ โดยประการแรกได้แก่การดำเนินเศรษฐกิจแบบพึ่งการให้เช่าที่อยู่อาศัยของชาวบ้านและทางการเอง ประการที่สอง มาจากแรงกดดันทางการเมืองภายใต้ระบบการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่รัฐบาลปักกิ่งเริ่มให้ชาวบ้านหย่อนบัตรเลือกตั้งหัวหน้าหมู่บ้านด้วยตนเอง จึงบีบให้หัวหน้าหมู่บ้านต้องจ่าย “เงินปันผล” แก่ชาวบ้านที่ลงคะแนนเลือกตั้งให้ตน

เมื่ออุตสาหกรรมในเมืองก่วงตงเฟื่องฟู จำนวนประชากร ที่อาศัยในเมืองจากเดิม 1.8 ล้านคน เพิ่มถึง 8 ล้านคน เกษตรกรส่วนใหญ่จึงหันมาปลูกสร้างอาคารให้แรงงานอพยพจากต่างถิ่นเช่าอาศัย เช่นเดียวกับองค์การบริหารปกครองหมู่บ้าน ซึ่งให้โรงงานต่าง ๆ เช่าที่ดินของชุมชนและมีรายได้หลักจากการเก็บค่าเช่า

ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นดีเลิศทุกอย่าง จนกระทั่งเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะตกต่ำในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โรงงานมากมายในเมืองจึงพากันปิดกิจการ หรือย้ายจากพื้นที่แถบชายฝั่งทะเล ไปตั้งอยู่ยังมณฑลตอนใน ซึ่งต้นทุนถูกกว่า ผลก็คือธุรกิจให้เช่าที่อยู่อาศัยทรุดฮวบ

หญิงแซ่หลัว วัย 61 ปีเล่าว่า นางสู้อุตสาห์นำเงินที่เก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิตจำนวน 2 ล้านหยวน และเงินกู้จากธนาคารก้อนหนึ่ง มาสร้างอพาร์ตเมนต์ 6 ชั้นในหมู่บ้านหลัวอู ตำบลจังมู่โถว เพื่อให้แรงงานอพยพเช่า ส่วนนางและครอบครัวอาศัยอยู่ชั้นแรกของอพาร์ตเมนต์ นางหลัวเก็บค่าเช่าได้เดือนหนึ่งประมาณ 15,000 หยวน ซึ่งสูงกว่าเงินเดือน ที่คนงานโดยทั่วไปได้รับกันเกือบ 10 เท่า ทว่าตอนนี้ค่าเช่าตกลงถึง 1 ใน 3 มาตั้งแต่ปี 2550

สำหรับสาเหตุประการที่ 2 นั้น มีหัวหน้าหมู่บ้านบางรายสัญญาให้เงินปันผลแก่ครอบครัว ที่เลือกตนมากถึงเดือนละ 10,000 หยวน และเงินนี้ก็มาจากการให้เช่าที่ตั้งโรงงานนั่นเอง แต่เมื่อรายได้ขาดไป หัวหน้าหมู่บ้านก็หันไปพึ่งเงินกู้ระยะสั้นจากธนาคารท้องถิ่น ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยโหดสูงถึงร้อยละ 30 ธนาคารเหล่านี้รู้ดีว่า ถ้าหมู่บ้านไม่มีปัญญาจ่าย องค์การบริหารเมืองตงก่วนก็จะต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลืออย่างแน่นอน

แต่ธนาคารท้องถิ่นคิดผิด องค์การบริหารเมืองตงก่วนแทบไม่สามารถจัดการกับหนี้สินนี้ได้ เพราะลำพังตัวเองก็จะแย่อยู่แล้ว จีดีพีของเมืองชะลอการเติบโตมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากอัตราเติบโตเฉลี่ยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาที่ราวร้อยละ 8

นายไป๋ จิ่งหมิง นักวิจัยอาวุโสของกระทรวงการคลังยังระบุด้วยว่า หัวหน้าผู้บริหารหมู่บ้านมากมาย ที่เขาไปสัมภาษณ์ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า หมู่บ้านเป็นหนี้เท่าไร

การล้มละลายของหมู่บ้านอาจสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองและการเงินอย่างหนักในองค์การบริหารปกครองระดับสูงขึ้นไป และลงลึกในระดับรากหญ้าในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น