รอยเตอร์ส--คนงานหลายคนของโรงงานฟ็อกซ์คอนน์ในเมืองไท่หยวน มณฑลซานซี ยอมรับในชะตากรรมที่ต้องทำงานประกอบแอปเปิล 12 ชั่วโมง/วันได้ แต่พวกเขารับไม่ได้ที่ต้องทนอยู่กับสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ภายในหอพักของโรงงานฯ
นายหวัง เป็นคนงานในพันคนที่ก่อการประท้วงต่อการบีบบังคับและสภาพความเป็นอยู่ที่คับแคบในโรงงานฯ จนเลยเถิดกลายเป็นการจลาจล เมื่อคืนวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา “ห้องน้ำมันน่าขยะแขยงจริงๆ และมีบางคนก็มักจะขโมยของเสมอๆ ด้วย” เขากล่าว
การจลาจลเกิดขึ้น โดยเริ่มจากแค่ทะเลาะกันระหว่างคนงานกับรักษาความปลอดภัย (รปภ.) และรุนแรงขึ้นกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างตำรวจและคนงานกว่า 2,000 คน สุดท้ายสถานการณ์ก็กลับสู่ภาวะปกติเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ก.ย.) ปัญหาความไม่พอใจของแรงงานพุ่งเป้ามาที่สายการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตสินค้าให้กับแอปเปิล
หากพูดถึงสภาพความเป็นอยู่ของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานอพยพกว่าพันคนที่พักอยู่ในหอพักของโรงงานฯ ทำให้โรงงานจีนได้รับแรงกดดันมาก ไม่เพียงแต่การขึ้นค่าจ้างเท่านั้น แต่แรงงานคนรุ่นใหม่ต่างต้องการความสะดวกสบายและวิถีการดำรงชีวิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
โรงงานฯ ไท่หยวน มีแรงงานกว่า 8 หมื่นคน ทำให้เกิดปัญหาในการจัดการอย่างมาก “การจัดการแย่มากๆ พื้นห้องน้ำของหอพักผมมักจะเต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะของคนอื่น” หวังกล่าว
คนงานชายแซ่เหว่ย วัย 28 ปี กล่าวว่า “มีคนที่ต้องการมาสมัครงานแบบนี้ลดน้อยลง พวกเขาไม่สามารถทนได้ที่ต้องทำงานทั้งวันอย่างเครื่องจักร และอยู่ในหอพักที่สกปรก”
หลู่ เฟยเฟย วัย 23 ปีและภรรยา ย้ายมาจากโรงงานในเซินเจิ้นเมื่อ 3 เดือนก่อน เพราะที่ไท่หยวนขาดแรงงาน แต่ที่นี่ ไม่มีห้องพักสำหรับคู่สามีภรรยาเลย พวกเขาต้องจ่าย 10 เปอร์เซ็นต์จากเงินเดือนทั้งหมด 5,000 หยวน เพื่อที่จะเช่าอพาร์ทเม้นท์เล็กๆ ใกล้กับโรงงานอยู่กันเอง “ส่วนตัวผมไม่แน่ใจนักว่าพวกเราจะอยู่ที่นี่กันได้นานเท่าไร” เขากล่าว
หอพัก 7 ชั้นในโรงงานฯ ไท่หยวนจำกัดเฉพาะคนงานเท่านั้น เหล่าคนงานที่เศร้าหมองจึงต้องออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวด้านนอกโรงงานฯ พวกเขาให้ข้อมูลว่า คนงาน 8 - 10 คนต้องนอนในห้องเดียวกัน และแต่ละชั้นมี 30 ห้อง รวมทั้ง ชายหญิงจะแยกกัน และพวกรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ตรวจตราอย่างใกล้ชิด
บางคนไม่พอใจกฎระเบียบที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ อย่างเช่น ไม่ให้มีการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ และไม่อนุญาตให้ติดโปสเตอร์ใดๆ บนกำแพง
หลายคนรู้กิตติศัพท์ของรปภ.โรงงานฟ็อกซ์คอนน์ดีว่า มักจะใช้กำลังในการหยุดการลักขโมย การดูแลเป็นไปอย่างลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์ กระทั่งมีบางคนถูกรปภ.ด่าว่า เพียงเพราะมิได้รูดซิปเสื้อแจ็คเก็ตของเขา
ด้านหลุยส์ อู โฆษกบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป กล่าวว่า ทางบริษัทฯ พยายามกระตุ้นให้คนงานมีความจงรักภักดีต่อองค์กร โดยการเพิ่มพื้นที่ภายในหอพัก และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และพยายามหาแนวทางการจัดการหอพักให้ดีขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานให้ความเห็นว่า บริษัทบางแห่งเริ่มที่จะให้ตัวเลือกด้านที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยให้ที่พักและค่าอาหารแก่คนงาน
แมรี่ แกลลาเกอร์ รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ผู้ที่วิจัยด้านแรงงานจีน เผยว่า “ความคาดหวังของแรงงานเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และบริษัทต่างก็ตามไม่ทัน.....” และในขณะนี้ แรงงานอพยพที่ได้รับการศึกษามีจำนวนน้อยลง พวกเขามาจากครอบครัวเล็กๆ และบริษัทจะต้องทำอะไรให้มากกว่าที่จะเสนอค่าจ้างเพื่อดึงดูดเพียงอย่างเดียว
ชาวจีนที่มาสมัครงานโรงงานไท่หยวนมีอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะเกิดการจลาจลเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วก็ตาม ทว่า ฟ็อกซ์คอนน์เผยว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (2555) มีจำนวนลดลงจากพันคนเหลือเพียงร้อยกว่าคน
คนงานและผู้ที่รับสมัครงานกว่า 12 คน กล่าวว่า ผู้ที่มาสมัครงานใหม่กว่าร้อยคนในแต่ละวันนั้น อยู่ทำงานนี่แค่เพียง 2 - 3 เดือนเท่านั้น ฉิน เฟิงปิน ผู้ที่รับสมัครงานเผยว่า “อัตราการลาออกสูงขึ้นในช่วง 2 - 3 วันมานี้ บางวันมีถึง 600 คน”
โรงงานของฟ็อกซ์คอนน์ในเมืองไท่หยวนผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับรถยนต์และสิ่งของเครื่องใช้ และการพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง รวมทั้ง ยังผลิตชิ้นส่วนและประกอบไอโฟน 5 ของบริษัทแอปเปิลด้วย
เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา คนงานฟ็อกซ์คอนน์ กว่า 100 คน ก่อความวุ่นวายที่โรงงานในเมืองเฉิงตู มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) บริษัทฯ ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาที่ว่ามีสภาพแวดล้อมแย่ และทำทารุณกับคนงานในจีน รวมทั้ง ทุ่มเงินมหาศาลในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมในโรงงาน และเพิ่มค่าแรง
ฟ็อกซ์คอนน์ เป็นบริษัทในเครือของหงไห่ พรีซีชันอินดัสทรีแห่งไต้หวัน (Hon Hai Precision Industry Co) ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก มีลูกค้า อาทิ แอปเปิล โนเกีย และโซนี่ ฟ็อกซ์คอนน์จ้างแรงงานกว่า 1 ล้านคนในจีน และประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงาน ทำงานอยู่ที่โรงงานหลักในเซินเจิ้น ซึ่งมีชายแดนติดกับฮ่องกง
ทั้งนี้ ในปี 2553 - 2554 มีกระแสคนงานฟ็อกซ์คอนน์กระโดดตึกฆ่าตัวตาย 10 กว่าคนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสันนิษฐานกันว่า คนงานอาจมีความเครียดสูงจากเงื่อนไขและสภาพการทำงานที่กดดันมาก นอกจากนี้ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า เมื่อปี 2554 เกิดเหตุระเบิดโรงงานประกอบ iPad คร่าชีวิตคนงานไป 4 คน บาดเจ็บกว่า 77 คน
นอกจากนี้ กลุ่มพิทักษ์แรงงานในฮ่องกงยังประท้วงและต่อต้านผลิตภัณฑ์แอปเปิลในช่วงมีกระแสคนงานโรงงานฟ็อกซ์คอนน์กระโดดตึกฆ่าตัวตายต่อเนื่องกว่า 10 คน ในปี 2553 อีกด้วย