ASTVผู้จัดการออนไลน์--แอปเปิลวางจำหน่าย iPhone 5 เมื่อวันที่ 21 ก.ย. อันเป็นจังหวะเวลาที่ข่าวอื้อฉาวแรงงานในโรงงานจีนที่ผลิตชิ้นส่วนและประกอบเครื่องผลิตภัณฑ์ยอดฮิตแก่บริษัทแอปเปิล ดูเงียบๆไป แต่แล้วไม่กี่วันต่อมา กลางดึกวันอาทิตย์ที่ 23 ก.ย. ก็อุบัติเหตุจลาจลที่โรงงานฟอกซ์คอนน์ เมืองไท่หยวน โดยกลุ่มคนงานราว 2,000 คน ตะลุมบอนกันเดือดพล่าน บางแหล่งข่าวเช่นสื่อชั้นนำฮ่องกง “หมิงเป้า” อ้างแหล่งข่าวคนงานภายในบริษัท ว่า มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะนี้ 10 คน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่า ไม่มีผู้เสียชีวิต มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บ 40 คน โดย 3 คน มีอาการสาหัส
สื่อจีนรายงานในวันอังคาร (25 ก.ย.) การสอบสวนโดยอ้างคำบอกเล่าของคนงานที่เห็นเหตุการณ์ว่า สาเหตุศึกตะลุมบอนมาจากเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างเจ้าหน้าที่รักษาความลปอดภัยโรงงานและคนงาน เจ้าหน้าที่ได้ทุบตีทำร้ายคนงานอย่างรุนแรง กลุ่มคนงานได้กรูเข้ามาช่วยเหลือเพื่อนคนงาน หน่วยพิทักษ์สันติราษฎร์ต้องระดมกำลังถึง 5,000 นาย มาห้ามศึก รายงานข่าวซินหวาเผยว่า เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลา ราว 10 ชั่วโมง กว่าจะควบคุมสถานการณ์ให้สงบลงได้ และโรงงานต้องปิดหยุดทำงานเป็นเวลาหนึ่งวัน
นายหลิว (นามสมมติ) คนงานอายุ 19 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุวุ่นวายฯและรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมโกรธการกระทำของพนักงานรักษาความปลอดภัยและวัฒนธรรมที่กดขี่คนงานของบรรดาผู้จัดการโรงงาน”
ฟอกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) เป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าตามสัญญารายใหญ่ที่สุดในโลก ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และเป็นผู้ประกอบผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทแอปเปิล ลูกค้ารายใหญ่ของของฟอกซ์คอนน์ ล้วนเป็นบรรษัทข้ามชาติ อาทิ Dell, Nokia, Hewlett Packard, Sony, IBM , Lenovo ฟอกซ์คอนน์ มีโรงงานหลายแห่งในมณฑลต่างๆของแผ่นดินใหญ่ มีคนงานรวมกันทั้งสิ้น ราว 1.2 ล้านคน โดยมีฐานการผลิตหลักที่เมืองเซินเจิ้น มีคนงานกว่า 400,000 คน สำหรับโรงงานฟอกซ์คอนน์ที่ไท่หยวน ที่เกิดเหตุจลาจลนี้ มีคนงาน 79,000 คน เป็นหนึ่งในโรงงานที่ผลิต iPhone 5
บริษัทแม่ของฟอกซ์คอนน์คือ หงไห่ พรีซีชัน อินดัสทรี แห่งไต้หวัน(Hon Hai Precision Industry Co) ฟอกซ์คอนน์ เริ่มผลิต iPad ที่โรงงานที่เฉิงตู เมื่อเดือนพ.ย. 2553 และคาดว่าจะผลิตสินค้าตัวนี้ 100 ล้านเครื่องต่อปี ภายในปี 2556 เมื่อปีที่แล้ว แอปเปิลขาย iPad ได้มากกว่า 15 ล้านเครื่องทั่วโลก
แม้การแถลงสาเหตุจลาจลเป็นเหตุทะเลาะวิวาททั่วไป แต่หลายเสียงก็พยายามชี้ถึงรากเหง้าของปัญหาที่ทำให้เกิดเหตุร้ายอยู่เป็นประจำในโรงงานฟอกซ์คอนน์แห่งต่างๆในจีน ที่ทำร้ายและคร่าชีวิตคนงานชาวจีนจำนวนมาก ขอยกตัวอย่างเหตุร้ายที่โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์แอปเปิล ที่เป็นข่าวดังระหว่าง 3-4 ปีมานี้
- ก.ค. 2552 วิศวกรชาวจีนวัย 25 ปี กระโดดตึกตาย หลังจากที่ทำต้นแบบ iPhone 4G หายไป เขาถูกผู้จัดการโรงงานกล่าวหาว่าเป็นผู้ขโมยตัวอย่างไอโฟนนี้ไป รายงานแจ้งว่าวิศวกรผู้นี้ ถูกบีบคั้นอย่างรุนแรง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ชี้เหตุกระโดดตึกตายของวิศวกรจีนนี้ เป็นเพราะวัฒนธรรมการทำงานและรักษาความลับอย่างสุดโต่งของแอปเปิล
- พ.ค. 2553 มีรายงานเผยว่ากลุ่มคนงานในโรงงาน Wintek เมืองซูโจว ล้มป่วยจากการที่ต้องใช้สาร เอ็น-เฮกไซน์ (n-hexane) ทำความสะอาดจอ iPhone สารตัวนี้เป็นพิษทำลายระบบประสาทและไขสันหลัง Wintek กล่าว่าได้ใช้สาร เอ็น-เฮกไซน์ ระหว่างปี พ.ค. 2551- ส.ค. 2552 โดยคนงานที่ป่วยหนัก รวม 137 คน
- 2553-2554 คนงานของโรงงานฟอกซ์คอนน์ เมืองเซินเจิ้น ทยอยกระโดดตึกตาย บางแหล่งระบุจำนวนกรณีคนงานพยายามกระโดดตึกตายทั้งหมด 18 กรณี และที่เสียชีวิต มีอย่างน้อย 13 คน ต่อมา บริษัทได้บังคับให้คนงานเซ็นชื่อในเอกสารสัญญา “ไม่ฆ่าตัวตาย และเห็นคุณค่าชีวิตตัวเอง”
- พ.ค. 2554 เกิดเหตุระเบิดที่โรงงานฟอกซ์คอนน์ ในเมืองเฉิงตู คนงานเสียชีวิต 3 คน ได้รับบาดเจ็บ 15 คน การสอบสวนระบุว่า อาจมีสาเหตุจากวัสดุติดไฟในโรงขัดเงา เกิดปะทุขึ้น และ พ.ย. 2554 เกิดระเบิดเนื่องจากผงอลูมิเนียมที่ใช้ในกระบวนกการผลิต iPad ที่โรงงานของบริษัท Pegatron Corp ในนครเซี่ยงไฮ้
จากกรณีอื้อฉาวคนงานฟอกซ์คอนน์ทยอยกระโดดตึกตายชนิดไม่เว้นแต่สัปดาห์แต่ละเดือนเช่นนี้ นับเป็นโศกนาฏกรรม กลุ่มสื่อและกลุ่มปกป้องแรงงานได้พยายามสืบสาวปมปัญหา และชี้ว่าระบบและสภาพการทำงาน การปฏิบัติต่อแรงงาน ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ในที่พักคนงาน ได้บีบคั้น ทำลายความเป็นมนุษย์จนคนงานเหล่านี้ไม่เห็นค่าของชีวิต
นิตยสารรายสัปดาห์ “เซาท์เทิร์น วีคลี” อ้างคำบอกเล่าคนงาน “ชีวิตที่โรงงานทุกๆวันมีแต่ความซ้ำซาก ไร้วิญญาณ ห้ามพูดคุยกัน ห้ามนั่ง หรือเคลื่อนไหวโดยไม่จำเป็นในระหว่างการทำงาน อ้างคำพูดคนงานว่า บางครั้งเขาต้องแกล้งทำของหล่นเพื่อที่จะได้ขยับเอี้ยวตัวลงไปนั่งยองๆ ได้บ้าง
“สภาพเหล่านี้ ยังลามไปถึงในห้องนอนของคนงาน ถ้าผู้ใดขาดรายงานตัว เวลาเข้า-ออกหอพัก เพียง 3 วันในหนึ่งเดือน โทษคือจะถูกตัดสิทธิไม่ได้รับสวัสดิการหนึ่งปี และการจะออกไปนอกหอพัก ก็ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากนาย นอกจากนี้บริษัทจะปรับเงิน ถ้าพนักงานซักผ้าในหอพักโดยอ้างกฎการประหยัดน้ำ”
กลุ่มติดตามการละเมิดแรงงานในฮ่องกง SACOM เปิดเผยการสำรวจจากการสัมภาษณ์คนงานฟอกซ์คอนน์เมื่อ 3 พ.ค. 2554 ระบุ “เงื่อนไขการทำงานที่เลวร้ายมาก คนงานฟอกซ์คอนน์ต้องทำงานล่วงเวลา 80-100 ชั่วโมงต่อเดือน นอกเหนือไปจากเวลาที่ต้องทำปกติเดือนละ 174 ชม. ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายจีนกำหนดไว้ถึง 3 เท่า
“แรงงานส่วนมากต้องการทำงานล่วงเวลาให้มากที่สุดเพราะว่าเงินเดือนปกติไม่พอประทังชีวิต”
SACOM ระบุ เงินเดือนคนงานฟอกซ์คอนน์ อยู่ที่ 200 เหรียญ หรือประมาณ 6,000 บาท
โฆษกของ China Labour Bulletin ซึ่งมีฐานในฮ่องกง ระบุ “ฟอกซ์คอนน์ เลื่องลือในด้านการจัดการแบบเผด็จการ และกำหนดวินัยเหล็กชนิดสุดโต่ง การทำงานในสภาพแวดล้อมแบบนี้ คนงานไม่ผิดอะไรกับหน่วยหนึ่งของการผลิต เหมือนหุ่นยนต์ ไม่ใช่มนุษย์ และความรุนแรงก็ดูจะเป็นทางออกทางเดียวของพวกเขา และเหตุวิวาทเล็กๆก็อาจกลายเป็นศึกปะทะรุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อ”
ในต้นปี (2555) สื่อรายใหญ่ค่ายโลกตะวันตกกลุ่มหนึ่ง ทั้ง นิวยอร์ก ไทม์สม, การ์เดียน, ลอสแองเจลิสไทส์ม ได้เสนอบทความปลุกกระแสบอยคอต iPhones และ iPads คอลัมนิสต์นิตยสารนิวสวีค Dan Lyons เขียนในบทความของเขา ด้วยคำสบถว่า “มันป่าเถื่อนสิ้นดี” จากนั้นก็ได้กล่าวแก่ผู้อ่าน ว่า “ถึงที่สุดแล้ว...ผู้ที่น่าตำหนิ มิใช่ แอปเปิล และกลุ่มบริษัทอิเลคทรอนิกส์ใด แต่คือพวกเรา ผู้บริโภค ในที่สุดพวกเราคือผู้ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง”
บริษัทแอปเปิลได้ออกมาโต้กระแสโจมตี โดยในเดือนก.พ. ได้ว่าจ้างสมาคมเพื่อความเป็นธรรมของแรงงาน (Fair Labor Association/FLA) ตรวจสอบสภาพการทำงานของคนงานในโรงงานของฟอกซ์คอนน์ และต่อมาก็ได้แถลงร่วมกับฟอกซ์คอนน์ จะยกเครื่องสภาพแวดล้อมของโรงงานและสภาพการทำงาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนงาน อาทิ ลดชั่วโมงการทำงาน เพิ่มค่าแรง.