เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักวิชาการกังขาตำแหน่งศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ ที่ฮ่องกงครอง หลังจากรายงานฉบับหนึ่งเผยให้เห็นการผสมผสานด้านวัฒนธรรม ที่ไม่ได้สัดส่วน โดยพบอัตราเฉลี่ยนักศึกษาต่างแดน ที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยที่นี่ 10 คน มาจากแผ่นดินใหญ่ถึง 8 คน
รายงานประจำปีของคณะกรรมาธิการเงินทุนมหาวิทยาลัย (University Grants Committee) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลฮ่องกง ทำหน้าที่ให้เงินทุนสำหรับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา 8 แห่งบนเขตปกครองพิเศษฮ่องกงระบุว่า นักศึกษาต่างแดน ที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยในฮ่องกงจำนวน 10,770 คน มี 8,936 คนมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ และ 1,355 คนมาจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย รวมทั้งมาเก๊า และไต้หวัน
รายงานกล่าวว่า การก้าวไปสู่ความเป็นสากลและการมีส่วนร่วมกับแผ่นดินใหญ่นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของฮ่องกง และสถาบันการศึกษาควรปฏิบัติตามในท่ามกลางภาวะที่มีการแข่งขันสูงในระดับโลกและระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการในฮ่องกงชี้ว่า การคละกันของนักศึกษา ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นสภาพ ที่ยังห่างไกลจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่มาก
นาย จอห์น เซี่ย หย่งหลิง ประธานสมาคมคณะเจ้าหน้าที่ทำงานของมหาวิทยาลัยซิตี้ (City University) ระบุว่า จำนวนนักศึกษา ที่มาจากแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบันเกินสัดส่วน ที่เหมาะสม และควรมีการผสมผสานของนักศึกษาจากชาติอื่น ๆ ที่หลากหลายมากกว่านี้ จึงจะเหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ
นอกจากนั้น เขายังเสนอให้เปลี่ยนคำจำกัดความของคำว่า "non-local" หรือ "ต่างแดน" เสียใหม่ เพราะเป็นเรื่องตลก ที่มีการจัดประเภทให้นักศึกษาจากแผ่นดินใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้
จากการจัดอันดับล่าสุดโดยTimes Higher Education ปรากฎว่า มหาวิทยาลัย 4 แห่งของฮ่องกงติดอันดับ 1 ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 50 แห่ง ซึ่งมีประวัติก่อตั้งน้อยกว่า 50 ปี อย่างไรก็ตาม 3 แห่งได้แก่มหาวิทยาลัยซิตี้ มหาวิทยาลัยไชนีส ( Chinese University) และมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิก (Polytechnic University) มีนักศึกษาต่างแดนกว่าร้อยละ 80 ที่มาจากแผ่นดินใหญ่
สัดส่วนนักศึกษาต่างแดนจากแผ่นดินใหญ่มีสูงที่สุดในมหาวิทยาลัยแบ๊ปติสต์ (Baptist University) และที่สถาบันการศึกษาแห่งฮ่องกง (Hongkong Institute of Education) โดยรายแรกมีนักศึกษา ที่ไม่ใช่ชาวเอเชีย 10 คน และ 17 คนมาจากชาติอื่น ๆ ในเอเชีย ส่วนรายหลังมีนักศึกษาจากชาติอื่นในเอเชียเพียง 8 คน และ 2 คนมาจากทวีปอื่น
ด้านหลี่ เจ๋อเหวิน นักศึกษาปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยซิตี้บอกว่า การแข่งขันแย่งชิงในทุกเรื่องตั้งแต่ที่พักอาศัยไปถึงการลงทะเบียนวิชาเรียน กำลังทำลายความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาชาวฮ่องกงกับนักศึกษาจากแผ่นดินใหญ่ไปทีละน้อย