xs
xsm
sm
md
lg

เอกสารจีนชี้ ประวัติศาสตร์สัมพันธ์ไทย-จีน ยาวนานกว่า 2,200 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 อ.ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ณ ห้อง 301 คณะศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 14 ก.ค. 2555 (ภาพ ASTVผู้จัดการออนไลน์)
“การตั้งประเทศหนึ่งๆ นั้น ต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 1,000 ปี ทว่า ตามประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เคยศึกษามานั้น กลับมีเพียงแค่ 800 ปี โดยนับตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หากอ้างอิงจากเอกสารจีนแล้วนั้น เป็นไปได้ว่า ชาติไทยเราอาจก่อตั้งมานานกว่า 800 ปี ก็เป็นได้”

อาจารย์ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เสนอหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ เพื่อเสวนาในหัวข้อ “ประวัติความสัมพันธ์ไทย-จีนในเอกสารจีน” เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2555 ณ ห้อง 301 ตึกคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายใต้ความร่วมมือของ โครงการปริญญาโทวัฒนธรรมจีนศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาศรมสยาม - จีนวิทยา โรงเรียนภาษาและภูมิปัญญาตะวันออก OKLS และศูนย์ฮากกาศึกษา

อาจารย์ประพฤทธิ์ ยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาการสืบค้นประวัติศาตร์ไทยในเอกสารจีนของสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปีพ.ศ. 2540 ท่านจึงได้สืบค้นหลักฐานเอกสารจีนมากมายที่บันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับไทยทุกยุคสมัย ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนทางวิชาการกับนักวิชากรต่างประเทศ ในการสืบค้นและเสาะหาหลักฐานประวัติศาสตร์ภาษาจีนที่เกี่ยวกับไทย ซึ่งหายากหรือหามิได้ในประเทศไทย

จากการศึกษาค้นคว้าดังกล่าว ก็ได้พบสิ่งที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ไทย-จีนในเอกสารจีนโบราณ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ ถึงกว่า 2,200 ปี นั่นก็หมายถึงว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีน มีมายาวนานกว่า 2,200 ปี และประวัติศาสตร์อาณาจักรสยาม ก็เก่าแก่โบราณกว่า 700-800 ปี ที่โดยทั่วไปนับจากวันสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในปีพ.ศ.1792

เอกสารจีนที่อาจารย์ประพฤทธิ์ ได้หยิบยกขึ้นมาชี้ถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน ได้แก่ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นฉบับหลวง”  เขียนถึงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ก่อนค.ศ. 205 - ค.ศ. 25/ก่อนพ.ศ.748-568) แต่งโดย ปันกู้ ซึ่งในบรรพ 28 ว่าด้วยภูมิศาสตร์ มีเนื้อหาระบุการเดินเรือผ่านไปยังดินแดนต่างๆว่า

“จากจั้งไส้ของยื่อหนาน กล่าวคือ สีเหวิน และเหอผู่ เดินทางโดยเรือ เป็นระยะเวลา 5 เดือน มีอาณาจักรตูหยวน และเมื่อเดินทางโดยเรือต่อไปอีก 4 เดือน มีอาณาจักรอี้หลูม่อ ครั้นเดินทางโดยเรืออีก 20 วันเศษ มีอาณาจักรเฉินหลี หรือสินหลี ต่อมาเดินเท้าต่อไปอีก 10 วันเศษ มีอาณาจักรฟูกานตูหลู จากนั้นเดินทางโดยเรืออีก 2 เดือนเศษ มีอาณาจักรหวงจือ ขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกับจูหยา ฯลฯ” (ฉบับแปล โดย อ.ประพฤทธิ์)

กลุ่มนักวิชาการได้สันนิษฐานสถานที่ตั้งปัจจุบันของอาณาจักรต่างๆ ในเนื้อหาข้างต้น ดังนี้

- อาณาจักตูหยวน น่าจะอยู่ที่เมืองใดเมืองหนึ่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในประเทศเวียดนาม หรืออยู่ที่จ.เพชรบุรี จ.ปราจีนบุรี หรือบริเวณด้านเหนือคอคอดกระ

- อาณาจักรอี้หลูม่อ น่าจะอยู่ที่จ.ราชบุรี หรือบริเวณจ.กระบี่ จ.พังงา จ.ระนอง และมีบางส่วนอยู่ในพม่า หรือเมืองเก่าอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี จ.ลพบุรี หรือในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

- อาณาจักรเฉินหลี หรือสินหลี น่าจะอยู่ที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.กาญจนบุรี จ.นครปฐม หรือบริเวณพะโค หรือบริเวณเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า

อาจารย์ประพฤทธิ์ อธิบายต่อว่า การเดินเรือสำเภาในสมัยโบราณกว่า 2,000 ปี ซึ่งขนาดเรือไม่ใหญ่มาก ต้องใช้เวลายาวนานมาก เนื่องจาก มีข้อจำกัดทางความรู้ความชำนาญของผู้สร้างเรือ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีเข็มทิศเดินเรือ ความชำนาญในการเดินเรือโดยจำเป็นต้องแล่นเลาะตามชายฝั่งทะเล หรือจากเกาะหนึ่งข้ามไปอีกเกาะหนึ่ง นอกจากนี้ ตลอดทางต้องแวะเติมเสบียงและน้ำจืด และจอดแวะตามรายทางเพื่อค้าขาย

อาทิ การเดินทางจากเหอผู่ถึงเมืองไซ่ง่อน (โฮจิมินห์) เป็นระยะทาง 2148.32 กม. อาจต้องใช้เวลา 5 เดือน และจากไซ่ง่อน ถึงจังหวัดลพบุรี ประเทศไทย ระยะทางประมาณ 1,666.8 กม. อาจต้องใช้เวลาเดินทาง 4 เดือน

เอกสารจีนฉบับต่อมาคือ หนังสือ “อี้อู้จื้อ” เขียนขึ้นใสมัยฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220/พ.ศ.568-763) แต่งโดย หยาง ฝู ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ปรากฎชื่อ อาณาจักร “จินหลิน หรือจินเฉิน” แปลว่า “อาณาจักรทองคำ” ตั้งอยู่ห่างจากฝูหนัน (กัมพูชา) เป็นระยะทาง 2,000 ลี้ (เท่ากับ 1,000 กม.) ดังนั้น อาณาจักรแห่งนี้น่าจะอยู่ในบริเวณประเทศไทย โดยสถานที่ตั้งตามความเห็นของนักวิชาการ ได้แก่ อยู่ที่เมืองอู่ทองโบราณ จ.สุพรรณบุรี จ.ราชบุรี หรือจ.นครปฐม (เป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุวรรณภูมิในสมัยนั้น)

หนังสือ “อี้อู้จื้อ” ได้บรรยายว่า "จินเฉิน เป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยโลหะเงิน มีประชากรจำนวนมาก นิยมการล่าช้าง หากจับเป็นก็ใช้ขับขี่ ถ้าตายก็เอางา"

นอกจากนี้ ยังมีประวัติศาสตร์ราชวงศ์สุย ฉบับหลวง” วิจัยและเรียบเรียงโดยขุนนางและนักปราชญ์แห่งยุคราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907/พ.ศ.1161-1450) ภายใต้พระราชโองการของจักรพรรดิถังไท่จง (ค.ศ. 627 - 650/พ.ศ. 1170-1193) และ “หนังสือทงเตี่ยน” แต่งโดย ตู้ อิ้ว (ค.ศ. 735-812/พ.ศ. 1278-1355) อัครเสนาบดีสมัยราชวงศ์ถัง หนังสือเล่มนี้เป็นแบบฉบับของหนังสือประวัติเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม โดยในเอกสารทั้งสองเล่มนี้ ต่างกล่าวถึง “อ่าวใหญ่จินหลิน”

เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งทางภูมิประเทศ นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า สถานที่ตั้งปัจจุบันของอ่าวใหญ่จินหลิน น่าจะเป็น อ่าวไทย (โดยมีข้อสันนิษฐานของนักวิชาการท่านอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป บ้างว่าน่าจะอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน บางว่าอยู่ที่พม่าหรือแหลมมลายู)

เอกสารอีกชุดหนึ่งที่อาจารย์ประพฤทธิ์อ้างอิงถึง คือ “บันทึกดินแดนตะวันตกยุคราชวงศ์ถัง” แต่งโดยพระถังซำจั๋ง หนังสือ “ทงเตี่ยน” ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังฉบับหลวง ฉบับเก่า และประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังฉบับหลวง ฉบับใหม่ ล้วนกล่าวถึง “อาณาจักรตั้วหลัวปอตี่” ซึ่งอาณาจักรแห่งนี้ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการ (จิ้มก้อง*) แก่ราชวงศ์เฉินในยุคอาณาจักรเหนือใต้เมื่อปีค.ศ. 583/พ.ศ. 1126 และได้ส่งให้แก่ราชวงศ์ถังปี ค.ศ. 638/พ.ศ. 1181 อีกด้วย

สำหรับสถานที่ตั้งอาณาจักรตั้วหลัวปอตี่ นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่าน่าจะตั้งอยู่ทางใต้ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนบางกลุ่มเห็นว่า อาณาจักรแห่งนี้มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่จ.นครปฐม และมีดินแดนครอบคลุมถึงจ.ราชบุรี เมืองเก่าอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี จ.สิงห์บุรี จ.ชัยนาท และจ.นครสวรรค์

*จิ้มก้อง หรือการส่งเครื่องบรรณาการให้กับจีนนั้น อาจกล่าวได้ว่า ฝ่ายจีนต้องการแสดงอำนาจตน และประเทศที่ส่งมานั้นต้องการผลประโยชน์ทางการค้ากับจีน โดยในสมัยต้นราชวงศ์หมิงมีการส่งเข้ามามากที่สุด การส่งฯ เป็นการแสดงถึงความเคารพ ความจริงใจในการคบค้าสมาคม ซึ่งทางจีนไม่ได้คาดหวังว่ากับสิ่งของ และระยะเวลาการส่งแล้วแต่ความสะดวกของประเทศนั้นๆ เช่น ส่งปีละครั้ง 3 ปีครั้ง และสิ่งของบรรณาการส่วนใหญ่จะเป็นของพื้นเมืองของประเทศนั้นๆ เช่น สยามจะส่ง ไม้ฝาง พริกไทย ช้าง เต่าเขา ปะการัง และมีการส่งฝิ่นไป 3 ครั้ง

โปรดอ่าน "จีน - ไทย จับมือทางทหารมาแต่สมัยอยุธยา" ในหน้าที่ 2
ภาพแผนที่ปัจจุบันในเส้นทางการเดินเรือของจีน มายังแถบเอเชียอาคเนย์ (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
แผนที่เส้นทางการเดินเรือจากหมู่เกาะไห่หนันมายังแถบเอเชียอาคเนย์และไปถึงอินเดียและศรีลังกา ในสมัยราชวงศ์ฮั่น(ก่อนค.ศ. 202 – ค.ศ. 220) (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
ภาพวาดเรือใบสองเสาทำจากไม้ ในสมัยยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ช่วงระหว่างก่อนค.ศ. 205 – ค.ศ. 25 (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
ภาพโหลวฉวน หรือเรือหอคอย เป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งของทหารเรือเพื่อลาดตระเวน และจู่โจมเรือศัตรู พบในสมัยยุคราชวงศ์ฮั่น (ก่อนค.ศ. 202 – ค.ศ. 220) (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
ภาพแผนที่การเดินเรือจากหมู่เกาะไห่หนันไปยังหมู่เกาะจีหลง ในยุคราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 - 618) (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
ภาพเรือสำเภาที่บรรทุกคณะทูตอี๋ถังจากญี่ปุ่น ในยุคราชวงศ์ถัง ช่วงระหว่างค.ศ. 838 – 894 เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมจีน และแลกเปลี่ยนระหว่างสองวัฒนธรรม (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
จีน - ไทย จับมือทางทหารมาแต่สมัยอยุธยา

ในการบรรยายตอนสอง อาจารย์ประพฤทธิ์ บรรยายว่า นอกเหนือจากด้านภูมิศาสตร์ และสถานที่ตั้งที่ระบุในเอกสารจีนแล้ว ในด้านประวัติศาสตร์พันธมิตรทางการทหารจีน - ไทย ยังมีมาอย่างยาวนาน โดยแบ่งเป็นช่วงยุคสมัย ดังนี้

1. สมัยวั่นลี่ที่ 6 (ค.ศ. 1573 - 1620/พ.ศ. 2116-2163) ในยุคราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 - 1644/พ.ศ.1911-2187) มีโจรสลัดจีนชื่อว่า หลิน เต้าเฉียง มาที่เมืองปัตตานี แต่ถูกสยามปราบ จึงกลับไปปล้นสดมภ์ที่มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ในขณะนั้นสยามอาสาช่วยจีนปราบโจรสลัด

2. ยุคสมเด็จพระมหาธรรมราชา (ค.ศ. 1583/พ.ศ. 2126) พม่ายกทัพรุกรานเมืองจีนหลายครั้ง จนล่วงมาถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ค.ศ. 1591/พ.ศ. 2134 ตรงกับสมัยวั่นลี่ที่ 19 ของจีน) สยามอาสาร่วมมือกับจีนตีพม่า ทว่า ต่อมากลับไม่มีความคืบหน้าในการร่วมมือใดๆ

3. ยุคสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ค.ศ. 1593/พ.ศ. 2136) สยามมีความสามารถในการเดินเรือเป็นอย่างมาก ขณะนั้นญี่ปุ่นเข้าตีเกาหลี สยามจึงแสดงความจำนงแก่จีน จะส่งกำลังโจมตีญี่ปุ่น แต่ฝ่ายเสนาบดีของจีน มณฑลก่วงตง (ในขณะนั้นเป็นเมืองที่ดูแลประเทศแถบเอเชียอาคเนย์) ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่มั่นใจในสมรรถนะการรบของสยามที่จะต้องไปรบกับญี่ปุ่นซึ่งระยะทางไกลมาก (อ้างอิงจาก เอกสารเกาหลี)

4. สมัยนายกรัฐมนตรี พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปีค.ศ. 1975/พ.ศ. 2518 กองทัพคอมมิวนิสต์ของกัมพูชาและเวียดนามรบชนะสหรัฐอเมริกา ท่านคึกฤทธิ์เกรงว่าไทยจะมีปัญหาตามมา กอปรทั้งในยุคนั้นจีนมีอำนาจเหนือกัมพูชาและเวียดนาม ท่านจึงขอเปิดความสัมพันธ์กับจีนเมื่อวันที่ 1 ก.ค.

ความสัมพันธ์ไทย - จีนในช่วงหลังสถานปนาความสัมพันธ์การทูตกันแล้ว จีน - ไทยได้เป็นพันธมิตรทางทหาร โดยเป็นไปในลักษณะพฤตินัยมากกว่าอย่างเป็นทางการ กล่าวคือ

สมัยนายกรัฐมนตรี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในเดือนมี.ค. ปีค.ศ. 1978/พ.ศ. 2521 ได้ไปเยือนจีน เพื่อความมั่นคงของชาติ ต่อมา ในเดือนพ.ย. นายเติ้ง เสี่ยวผิงมาเยือนไทย ซึ่งเป็นการเยือนที่มีนัยความหมายมาก เนื่องจากเติ้งมีอำนาจมาก

เติ้งไปสหรัฐฯ บอกผู้นำอเมริกันว่าจีนจะสั่งสอนเวียดนาม และในเดือนก.พ.ค.ศ. 1979/พ.ศ. 2522 จีนก็เปิดสงครามสั่งสอนเวียดนาม ระหว่าง 17 ก.พ.-16 มี.ค. กองกำลังจีนจากมณฑลก่วงซี (กว่างซี) และอวิ๋นหนัน (ยูนนาน) เข้าตีเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามรุกล้ำเข้ามาแผ่นดินจีน และเข่นฆ่าชาวบ้าน

ในปีค.ศ. 1980/พ.ศ. 2523 มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำไทยและผู้นำทหารจีน ปีเดียวกันนี้ วันที่ 23 - 25 มิ.ย. กองกำลังเวียดนามรุกไทยที่จ.ปราจีนบุรี ต่อมาในวันที่ 26 มิ.ย. จีนจึงประณามการกระทำของเวียดนาม และแสดงท่าทีชัดเจนสนับสนุนฝ่ายไทย

ช่วงปีค.ศ. 1981/พ.ศ. 2524 ความสัมพันธ์ระหว่างจีน - ไทย ในด้านพันธมิตรทางการทหาร มีความใกล้ชิดและช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น ผู้นำรัฐบาลและผู้นำทหารของสองฝ่ายได้เดินทางมาพูดคุยกัน อาทิ เดือนม.ค. จ้าง จื่อหยังมาเยือนประเทศไทย เดือนมี.ค. ผู้บัญชาการทหารจีน มาเยือนไทย เดือนพ.ค. พล.อ.เสริม ณ นคร นำคณะทหารเยือนจีน เดือนพ.ค. จ้าว จื่อหยังมาเยือนไทยอีกครั้ง

ความใกล้ชิดและร่วมมือทางทหารระหว่างไทย - จีนที่เป็นไปโดยพฤตินัยในช่วงดังกล่าว ดูเป็นเหตุให้เวียดนามไม่กล้ามาตอแยไทยอีก
แผนที่ฉบับย่อของทวีปเอเชียในสมัยสามก๊ก (ค.ศ. 220 – 280) ตามที่นักวิชาการวิเคราะห์ (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
ภาพเรือไห่ฮู่ ซึ่งเป็นเรือโบราณจีนในยุคราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618–907) สามารถแล่นทำการรบได้ในทุกสภาพภูมิอากาศ ถือเป็น 1 ในเรือประจัญบานที่มีชื่อเสียงของทหารเรือ (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
กำลังโหลดความคิดเห็น