xs
xsm
sm
md
lg

นักสู้ผู้พิทักษ์เขื่อนสามโตรกสิ้นลมหายใจแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพาน จยาเจิง วิศวกรด้านชลศาสตร์ชั้นนำของจีน - แฟ้มภาพ
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - โรคมะเร็งได้คร่าชีวิตนายพาน จยาเจิง วิศวกรด้านชลศาสตร์ชั้นนำของจีน ผู้ทุ่มเทอย่างถวายชีวิตให้กับการก่อสร้างเขื่อนสามโตรก (Three Gorges Dam) ขณะอายุได้ 85 ปี

นายพาน เป็นวิศวกร ที่ได้รับการศึกษาภายในประเทศรุ่นแรก หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศจีนในปีพ.ศ. 2492 โดยได้อุทิศชีวิตการทำงานส่วนใหญ่ในโครงการก่อสร้างเขื่อนต่าง ๆ และเพิ่งได้รับรางวัลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตแห่งชาติไปเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง

อย่างไรก็ตาม นายพานมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการก่อสร้างเขื่อนสามโตรก ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นโครงการ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาของจีน

นายพานเป็นชาวมณฑลเจ้อเจียง เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงในปี พ.ศ. 2489 โดยเรียนวิศวกรรมโยธาเป็นวิชาเอก เขาได้รับอิทธิพลความคิดในการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งแสดงความยอดเยี่ยมเชิงวิศวกรรมและการเอาชนะธรรมชาติจากสหภาพโซเวียตเหมือนวิศวกรด้านไฟฟ้าพลังน้ำอื่น ๆ อีกหลายคนในรุ่นเดียวกับเขา

นายพานได้เข้าเป็นสมาชิกของสถาบันวิทยาศาสตร์จีนเมื่อปีพ.ศ. 2523 ขณะอายุเพียง 53 ปี และในปีพ.ศ. 2528 ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าฝ่ายนายช่างในการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโครงการเขื่อนสามโตรก ซึ่งจีนคุยว่าเป็นโครงการวิศวกรรม ที่มีเกียรติศักดิ์ศรีมากที่สุดของประเทศในรอบ 3 ทศวรรษ ที่ผ่านมา แต่ก็ถูกต่อต้านคัดค้านมากที่สุด นับตั้งแต่ได้รับไฟเขียวให้เริ่มต้นดำเนินการจากนายเติ้ง เสี่ยวเผิง ผู้นำสูงสุดเมื่อปีพ.ศ. 2525

บรรดาผู้นำแดนมังกรไม่ว่าจะเป็นท่านประธานเหมา เจ๋อตุง ท่านผู้นำเติ้ง เสี่ยวเผิง ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน และนายกรัฐมนตรีหลี่ เผิง ต่างก็หลงใหลชื่นชมโครงการนี้ ขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนต่างเชื่อว่า เขื่อนสามโตรกคือแหล่งพลังงานสะอาด สามารถควบคุมอุทกภัย อีกทั้งยังเป็นเส้นทางเดินเรือ และสร้างงานแก่ประชาชน แต่ฝ่ายที่ต่อต้านพากันวิตกว่า โครงการนี้ได้ก่อความหายนะแก่ระบบนิเวศ และสังคม

สำหรับนายพานแล้ว ผู้ที่วิจารณ์เขาระบุว่า ชื่อเสียงความสำเร็จด้านวิชาการของนายพานต้องแปดเปื้อนมัวหมองไปมาก เพราะภาพลักษณ์ของเขาในที่สาธารณะ ที่ทำตัวเป็นผู้แก้ต่างแทนโครงการต่าง ๆ ที่ผลักดันโดยฝ่ายการเมือง เช่นโครงการเขื่อนสามโตรก หรือโครงการผันน้ำจากเหนือสู่ใต้  (South-North Water Diversion Project) โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเสียงของนายพานยิ่งอื้อฉาว เมื่อเขาพยายามกีดกันนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญอื่น ๆ ที่คัดค้านให้อยู่ข้างเวที

นายพานทำแม้กระทั่งลบล้างผลสรุปการศึกษาของคณะกรรมการชุดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาและสิ่งแวดล้อมชั้นนำ โดยนายพานได้เขียนผลสรุปใหม่ พร้อมกับกล่าวว่า ผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนเป็นเรื่องที่สามารถควบคุมได้

นายพานเองได้ยอมรับในคราวให้สัมภาษณ์สำนักข่าวของทางการจีนเมื่อ 2 ปีก่อนว่า เขาแกล้งทำเป็นหูหนวกต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์

" เมื่อเริ่มต้นโครงการก่อสร้างเขื่อน ผมหงุดหงิดที่สุดต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และโกรธเมื่อใดก็ตาม ที่ได้ยินคนคัดค้าน" นายพานระบุ

นายพานยังเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้สนับสนุนอย่างเด็ดเดี่ยวสำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนอื่น ๆ เช่น เขื่อนหลายแห่งบนแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสาละวิน และยังสนับสนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูในการก่อสร้างเขื่อนโตรกเสือเผ่น(Tiger Leaping Gorge) ซึ่งอยู่ในป่าอุทยาน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แม้โครงการนี้ถูกระงับไปในปี 2550 ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิทยาศาสตร์ภาครัฐและภาคสังคมอย่างกว้างขวางก็ตาม

ไต๋ ชิง นักเขียนและนักต่อต้านเขื่อนสามโตรกระบุว่า ความเฉลี่ยวฉลาดและความขยันขันแข็งของนายพานน่าจะทำให้เขากลายเป็นเสาหลักของความเป็นเลิศด้านวิชาการ แต่จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นายพานได้เลือกทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจโดยยอมแลกกับจิตสำนึกทางวิชาการ เหมือนวิศกรส่วนใหญ่ในจีน

ขณะที่ จาง หลี่ฟาน นักประวัติศาสตร์เขียนลงในเว็บไซต์ Sina Weibo ว่า เป็นความน่าละอายสำหรับนักวิทยาศาสตร์อย่างนายพาน ที่เข้าไปทุ่มเททำงานให้กับโครงการต่าง ๆ ที่ผลักดันโดยนักการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น