เอเอฟพี - กองเรือประมงขนาดใหญ่ของจีนแล่นมาถึงพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ หรือหนานซาในภาษาจีน ทางตอนใต้ของจีนเมื่อวันอาทิตย์ (15 ก.ค.) ท่ามกลางปัญหาตึงเครียดการอ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำพิพาทในทะเลจีนใต้ของประเทศเพื่อนบ้าน
สำนักข่าวซินหวาของจีนรายงานว่า กองเรือประมงจีน 30 ลำแล่นมาถึงบริเวณใกล้กับแนวปะการังหยงสู่ เมื่อเวลาบ่าย หลังจากออกจากท่าเรือมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) เมื่อวันพฤหัส
เรือประมงของจีนปรกติมักจะล่องแล่นไปในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรพลังงาน ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นของตนด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์
รายงานข่าวระบุว่า การล่องกองเรือประมงของจีนในครั้งนี้ถือว่ามีขนาดใหญ่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน
กองเรือดังกล่าวประกอบไปด้วย เรือขนถ่ายสินค้าระวาง 3,000 ตัน ตลอดจนเรือตรวจการณ์อีก 1 ลำที่แล่นขนาบมาเพื่ออารักขาเรือประมง 30 ลำ รายงานระบุว่า เรือเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 5-10 วัน จับสัตว์น้ำทำประมงในบริเวณดังกล่าวก่อนจะกลับเข้าฝั่ง
เมื่อเช้าวันอาทิตย์ (15 ก.ค.) เรือรบฟริเกตของกองทัพเรือจีนที่เกยตื้นอยู่ 4 วัน แถบหมู่เกาะปะการัง ห่างจากเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์ไปทางทิศตะวันตกราว 170 กิโลเมตร แต่อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลใกล้ที่สุดของจีนราว 1,200 กิโลเมตรนั้น สามารถดิ้นหลุดด้วยความช่วยเหลือของหน่วยกู้ภัย แล่นกลับจีนได้แล้ว
เป็นที่น่าแปลก ฟิลิปปินส์ไม่ได้แสดงท่าทีประท้วงทางการทูตแต่อย่างใด กล่าวเพียงว่า เรือจีนเกยตื้นในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน เป็นอุบัติเหตุเท่านั้น
ฝ่ายจีนเผยว่า จีนมีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งพลังงานสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ไต้หวัน เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างก็อ้างสิทธิ์ครอบครองพื้นที่บางส่วนของทะเลจีนใต้ด้วย โดยหมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นหมู่เกาะใหญ่สุดในบริเวณดังกล่าว
การช่วงชิงสิทธิเหนือพื้นที่ดังกล่าวในทะเลจีนใต้ กลายมาเป็นปัญหาทางการทหารของชาติต่าง ๆ ในเอเชีย ในปีที่ผ่านมาความตึงเครียดเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ
ฟิลิปปินส์และเวียดนามบ่นว่า จีนเริ่มแสดงท่าทีก้าวร้าวในการเข้าถึงบริเวณที่ตนอ้างสิทธิ์ อาทิ ทำการข่มขู่เรือประมง ตลอดจนใช้กลยุทธทางการทูตข่มขู่เพื่อนบ้าน
ฟิลิปปินส์เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันให้ผนึกกำลังชาติอาเซียนเพื่อออกมาตรการต่อกรกับมังกรจีน ในระหว่างการประชุมสุดยอดความมั่นคงอาเซียนที่กัมพูชาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่กัมพูชาผู้เป็นเจ้าภาพเป็นฝ่ายคัดค้านฟิลิปปินส์