เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - อู๋ อิง เศรษฐินี
พันล้านวัย 31 แห่งมณฑลเจ้อเจียงที่ต้องโทษประหารชีวิตนั้น วานนี้ (21 พ.ค.) ศาลได้ทำการพิพากษาพักโทษตายไว้ก่อนโดยรอดูพฤติกรรมอีก 2 ปี ขณะที่บิดาของเธอเชื่อว่าลูกสาวบริสุทธิ์ พร้อมออกมาประณามระบบกฎหมายจีน
ภายใต้กฎหมายจีน การระงับโทษประหารชีวิตนั้นหมายความว่า การพิพากษาคดีของอู๋อาจจะลดโทษลงมาหนึ่งขั้น อยู่ที่จำคุกตลอดชีวิต หากว่าในช่วง 2 ปีต่อจากนี้เธอมีพฤติกรรมที่ดี ขณะที่ทรัพย์สินทุกอย่างของเธอนั้นถูกริบหมดสิ้น
อู๋ หย่งเจิ้ง ผู้เป็นบิดารับไม่ได้กับกฎหมายจีน ชี้ว่าการตัดสินนั้นไม่มีความเป็นธรรมเอาเสียเลย แล้วใครจะเชื่อมั่นในกฎหมายอีก
อู๋ หย่งเจิ้งเผยว่า เขาได้ว่าจ้างทนายสำหรับการว่าความครั้งใหม่ แต่ศาลไม่อนุญาตให้ทนายความพบกับอู๋ อิง โดยอ้างว่าเธอได้รับทนายท้องถิ่นดูแลเรียบร้อยแล้ว อู๋ หย่งเจิ้งจึงต่อต้านการพิพากษาครั้งใหม่ที่ศาลประชาชนสูงสุดเจ้อเจียง ที่เคยยอมรับคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่เห็นชอบโทษตายอู๋ อิง เมื่อปี 2552 “ผมจะต้องเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกให้ได้” อู๋ย้ำ
อู๋ อิง ครั้งหนึ่งเคยเป็นนักธุรกิจหญิงที่รวยที่สุด เธอเป็นเจ้าของเครือบริษัท “เบนส์ โฮลดิ้ง กรุ๊ป” (Bense Holding Group) ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง อู๋ อิงได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนจีนจำนวนมากเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ หลังจากเธอต้องโทษประหารเมื่อปี 2552 ข้อหาทำตัวเป็นธนาคารระดมทุนผิดกฎหมายมูลค่า 770 ล้านหยวน
เหตุที่มีเสียงสนับสนุนอู๋อิงนั้นมีเหตุผลหลายประการ เช่น ผู้ประกอบการจีนต้องเจอปัญหายากลำบากในการหาทุนภายใต้ระบบธนาคารจีนปัจจุบัน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหยิบยืมเงินจากปัจเจกบุคคลเป็นการส่วนตัว
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ศาลประชาชนสูงสุดแห่งมณฑลเจ้อเจียงตัดสินโทษประหารชีวิต ปฏิเสธการใช้ทนายต่อสู้คดี โดยให้เหตุผลว่า เธอยืมเงินจากเพื่อนและทำธุรกิจที่ทะเยอทะยานเกินไป และล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า นอกจากนั้น
ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนประชาชนในเดือน มี.ค. ผู้แทนจากทั่วประเทศหลายคนก็หยิบยกเรื่องพฤติกรรมของอู๋ ขึ้นมากล่าวด้วย
อู๋ถูกศาลชั้นต้นของมณฑลเจ้อเจียงตัดสินประหารชีวิตเมื่อปี 2552 และศาลสูงของมณฑลยืนคำตัดสิน จากนั้นส่งคดีต่อมายังศาลประชาชนสูงสุด ซึ่งโทษประหารชีวิตจะกระทำได้ต้องผ่านการเห็นชอบของศาลนี้ อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตด้วยว่าศาลสูงสุดมีคำพิพากษานี้ใน
ขณะที่รัฐบาลจีนกำลังหาทางบรรเทาการใช้บทลงโทษขั้นประหารชีวิตในระบบตุลาการตามแรงกดดันของนานาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชน
ศาสตราจารย์หลี่ ซูกวง แห่งมหาวิทยาลัย
รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์จีน เผยว่า คดีของอู๋ อิง ที่ศาลตัดสินยืดโทษประหารออกไปหลังจากการพิพากษาครั้งใหม่นั้น อาจจะเป็นกระแสใหม่ในกระบวนการยุติธรรมจีนว่า หากทำผิดคดีอาชญากรรมเศรษฐกิจไม่น่าจะต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต