ASTVผู้จัดการ/เอเยนซี - จีนเร่งผลักดันแผน “ซูเปอร์รถไฟความเร็วสูง” หวังเพิ่มความเร็วรถไฟในประเทศรองรับเครือข่ายรางที่จะขยายถึง 1.6 หมื่น กม. ในปี 2563 ผู้ผลิตรถไฟจีนโวทดลองวิ่งได้ถึง 575 กม./ชม.แล้ว ผู้เชี่ยวชาญต้าน ชี้เป็นไปไม่ได้ ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แนะเอาเงินไปปรับปรุงคุณภาพ-ความปลอดภัยดีกว่า
เมื่อวันพฤหัสบดี (19 เม.ย.) หนังสือพิมพ์ปักกิ่งนิวส์ รายงานว่า บริษัทไชน่า เซาท์ โลโคโมทีฟ แอนด์ โรลลิง สต็อก (ซีเอสอาร์) หรือจงกั๋วหนานเชอ (中国南车) รัฐวิสาหกิจของจีนที่ผลิตรถไฟความเร็วสูง ได้ทำการทดลองวิ่งรถไฟความเร็วสูงแบบใหม่ หรือที่สื่อมวลชนในฮ่องกงเรียกว่า “ซูเปอร์รถไฟความเร็วสูง (Super-High-speed Train)” ที่สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 575 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นายเหลียง เจี้ยนอิง รองวิศวกรใหญ่ของบริษัทซีเอสอาร์ ซื่อฟัง (中国南车四方) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของซีเอสอาร์ กล่าวว่า รถไฟทดสอบดังกล่าวยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก และน่าจะสามารถเพิ่มความเร็วขึ้นได้อีก อย่างไรก็ตาม นายเจ้า เสี่ยวกัง ประธานบริษัทซีเอสอาร์ระบุว่า รถไฟความเร็วสูงที่ทำความเร็วมากกว่า 500 กม./ชม.จะไม่ถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2554 บ.ซีเอสอาร์เพิ่งเริ่มดำเนินการทดลองรถไฟความเร็วสูงที่สามารถทำความเร็วได้สูงถึง 500 กม./ชม. ตามแผนของรัฐบาลจีน โดยข้อเสนอของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนที่ต้องการจะเพิ่มความเร็วของรถไฟในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปีฉบับที่ 12 ระหว่างปี 2554-2558 (ค.ศ. 2011-2015)
ปี 2563 รางไฮสปีดครบ 16,000 กม.
เมื่อวันพุธ (18 เม.ย.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนได้เผยแพร่เอกสารผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงระบุว่า ทางการจีนกำลังดำเนินการปรับปรุงเทคโนโลยีและเพิ่มความเร็วของรถไฟความเร็วสูง โดยในปี 2563 จีนจะสร้างรางรถไฟความเร็วสูงได้ครบ 16,000 กิโลเมตรตามแผนที่วางเอาไว้
แผนพิเศษที่กำลังดำเนินการดังกล่าวมุ่งเป้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีแกนของรถไฟความเร็วสูงของจีนอย่างยั่งยืน และยกระดับความปลอดภัยของรางรถไฟ บนพื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรมขึ้นเองโดยไม่พึ่งพิงใคร ขณะเดียวกัน ภารกิจหลักของแผนดังกล่าวยังรวมถึงการปรับปรุงเทคโนโลยีในส่วนของระบบ ความเฉลียวฉลาด และการประหยัดพลังงานของรถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังระบุถึงการวิจัยและพัฒนารถไฟความเร็วสูงเป็นสินค้าส่งออกด้วย
ในส่วนของรายละเอียดอื่นๆ แผนดังกล่าวตั้งเป้าหมายของการวิจัยในการผลิตนวัตกรรม มอเตอร์แบบมีแม่เหล็กถาวร (Permanent-magnet motor) เพื่อใช้ในระบบจ่ายพลังงานของรถไฟ ซึ่งนายติง หรงจวิน นักวิชาการจากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์จีนระบุว่าจะสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้มาก นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวยังรวมถึงการตรวจสอบความเร็ว สภาพแวดล้อม และความผิดปกติของการเดินรถในรูปแบบดิจิตอลด้วย
ผู้เชี่ยวชาญต้าน ชี้เอาเงินไปปรับปรุงความปลอดภัยดีกว่า
ด้าน นสพ.เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ของฮ่องกงได้ตั้งคำถามถึงโครงการดังกล่าวของรัฐบาลจีน โดยอ้างอิงถึงเหตุการณ์อุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงชนกันที่เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียงในเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
ศ.หวัง เมิ่งซู่ รองวิศวกรใหญ่ของกลุ่มรางรถไฟและอุโมงค์จีน (China Railway Tunnel Group) ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในการร่างแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูงในจีน ให้ความเห็นถึงแผนดังกล่าวว่า เขาคัดค้านแผน “ซูเปอร์รถไฟความเร็วสูง” ของรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่ารางรถไฟความเร็วสูงบนแผ่นดินใหญ่นั้นสร้างมาเพื่อรองรับรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วเพียง 350 กม./ชม.
“การตัดสินใจของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนถือว่าแปลกประหลาดมาก เราสามารถรับรองความปลอดภัยของการเดินรถที่ความเร็วที่ระดับ 385 กม./ชม.ได้ แต่รางรถไฟจะไม่สามารถรองรับแรงบด และแรงอัดของซูเปอร์รถไฟความเร็วสูงที่วิ่งด้วยความเร็วสูงกว่า 400 กม./ชม. ได้ โดยรางที่สามารถรองรับความเร็วขนาดนั้นยังไม่ถูกสร้างขึ้นมา และก็ไม่มีวันที่จะทำได้” ศ.หวังให้ทัศนะ และว่า “แทนที่จะพยายามเพิ่มความเร็วขึ้นอย่างไม่จบไม่สิ้น ควรที่จะนำกำลังคนและทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดไปลงทุนเพื่อศึกษาในการเพิ่มความปลอดภัยและคุณภาพของการเดินรถจะดีกว่า”
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคมนาคมปักกิ่ง ศ.เจ้า เจี้ยน ผู้ซึ่งคัดค้านการขยายเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงอย่างรวดเร็วของรัฐบาลจีน ระบุว่า ซูเปอร์รถไฟความเร็วสูงไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ถึงแม้ว่าในทางเทคนิคจะสามารถแก้ปัญหาของตัวรถไฟ และความปลอดภัยของรางได้แล้ว
“โครงการนี้จะไม่คุ้มค่าในการลงทุน เหมือนกับการสร้างเครื่องบินไอพ่นขนาดใหญ่เพื่อไปบินบนผืนทะเล” ศ.เจ้ากล่าวเปรียบเปรย และว่า สาเหตุเดียวที่เขาพอจะนึกออกว่าทำไมรัฐบาลจีนถึงคิดโครงการนี้ขึ้นมา ก็คือ เหตุผลทางการตลาดในการดึงดูดลูกค้าชาวต่างชาติ