ส่งลูกในไส้ไปเป็นตัวประกันสานมิตรไมตรีกับจีน
“คุณพ่อสนใจประวัติศาสตร์มาก ได้อ่านเรื่องสานสัมพันธไมตรีระหว่างเจ้าผู้ครองแคว้น โดยส่งลูกหลานไปเป็นบรรณาการ เป็นบุตรบุณธรรม เป็นคนรับใช้ แต่งงานเป็นทองแผ่นเดียวกัน เป็นต้น จึงคิดส่งลูกไปเป็นตัวประกัน เพื่อแสดงความจริงใจ ให้จีนเชื่อว่าไทยต้องการผูกมิตรกับจีนจริงๆ
“หะแรก ท่านโจว เอินไหล ได้ทัดทานความคิดคุณสังข์ที่จะส่งลูกไปยังเมืองจีน ว่าอาจเกิดอันตรายเพราะพวกสายลับซีไอเอของสหรัฐฯ มีหูตาแพรวพราวทั่วไปหมด”
ในที่สุด คุณสังข์ก็ได้ตัดสินใจส่งบุตรธิดาสองคน คือ คุณวรรณไว และคุณสิรินทร์ (ขณะนั้นอายุ 12 ขวบ และ 8 ขวบ) ไปศึกษาที่เมืองจีน ภายใต้ความอุปการะของท่านโจว เอินไหลในเดือนส.ค. 2499
“นี่เป็นต้นตอของชีวิตพิศดารของผม ที่คุณพ่อเป็นผู้ลิขิต” คุณ วรรณไว เล่า
“ที่จริง คนที่ควรไปคือ พี่มั่น (ดร.มั่น พัธโนทัย) เพราะเป็นบุตรชายคนโต โตมากกว่า แต่ที่ส่งผม ซึ่งเป็นบุตรคนที่สองไป เพราะชื่อของผมพ้องกับพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (หรือเสด็จในกรมกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) พระองค์วรรณฯประทานชื่อให้ผมเนื่องจากผมเกิดวันเดียวเดือนเดียวกับท่าน คุณพ่ออยากให้ท่านโจวได้ระลึกถึงคำมั่นสัญญาที่ท่านให้ไว้แก่พระองค์วรรณฯในการประชุมบันดง
“คุณพ่อได้บอกเรื่องส่งพวกเราไปเมืองจีนก่อนหน้าวันเดินทางวันเดียว พ่อน้ำตาคลอเบ้าด้วยความสงสารลูกกอดลูก อธิบายว่า ‘พ่อกับท่านจอมพลกำลังร่วมกันทำงานสำคัญเพื่อผูกมิตรกับประเทศจีน...พ่อรักลูก ลูกคือหัวใจของพ่อ แต่เพื่อชาติบ้านเมือง พ่อจำเป็นต้องตัดใจส่งลูกไปอยู่เมืองจีนสักพักหนึ่ง’
“และประวัติศาสตร์ตอนนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าคุณแม่ (วิไล พัธโนทัย) ไม่เห็นด้วย การยอมให้ลูกไปเมืองที่ไม่มีเครื่องบินไปลงโดยตรง ติดต่อทางจดหมาย-โทรศัพท์ก็ไม่ได้ สำหรับคนเป็นแม่ หัวอกแม่ เอาเลือดในอกสองก้อนไปอยู่ในประเทศศัตรู นับเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้น ประวัติศาสตร์ตอนนี้ ถ้าพ่อเป็นวีรบุรุษ แม่ก็เป็นวีรสตรี”
“ปกติการเดินทางไปจีนสมัยนั้นไปทางฮ่องกง แต่ที่ฮ่องกงสายลับอเมริกันเยอะเหลือเกิน ไปทางพม่าดีกว่า เก็บความลับได้ดีที่สุด ความสัมพันธ์จีน-พม่าดีมาก พม่าเป็นศูนย์กลางปฏิบัติการติดต่อลับระหว่างไทย-จีนในขณะนั้น
“พวกเราสี่คน ผมและน้อง และพี่เลี้ยงสองคน คือคุณเจริญ กนกรัตน์ คุณพิศิษฐ์ ศรีเพชร คนสนิทของพ่อเป็นคนพาไป นั่งรถเข้าพม่าโดยไม่ต้องไปตรวจหนังสือเดินทางประทับตราเอกสารเข้าเมืองเลย ตรงนี้เป็นความอนุเคราะห์ของนายกฯอูนุ ท่านช่วยเต็มที่ เมื่อเห็นไทย-จีนจะเริ่มเปิดสัมพันธ์กัน ท่านก็ยินดีด้วย เอารถไปส่งขึ้นเครื่องบินทหารที่จีนส่งมารับที่ย่างกุ้ง...”
และการณ์ก็เป็นไปตามที่ท่านโจวมอง ปีต่อมาพวกสายลับอเมริกันก็รู้เรื่องหมด จอมพลป.ก็กระเด็นออกจากรัฐบาล โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกทำการปฏิวัติล้มจอมพลป. ในวันที่ 16 ก.ย. 2500 “พวกอเมริกันนั้น ผลประโยชน์เป็นใหญ่ หมดประโยชน์ก็โยนทิ้ง ผิดกับจีนที่มีความจริงใจ แม้จอมพลป.หลุดจากอำนาจแล้ว ผู้นำจีนก็ยังเลี้ยงดูแลผมและน้องอย่างดีจนเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่ง แม้เวลาล่วงไปนานนับสิบๆปี ท่านโจว เอินไหล ได้ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2519 คุณสังข์ล้มป่วยเป็นอัมพาตในปี 2521 รัฐบาลจีนก็ยังได้เชิญท่านไปรักษาตัวที่ปักกิ่งจนอาการดีขึ้น”
จอมสฤษด์ ธนะรัชต์ ผ่าตัดม้ามที่อเมริกาเพียงวันเดียวก็บินกลับมากรุงเทพฯทำการรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ต.ค. 2501 ทำลายระบอบประชาธิปไตย ดำเนินนโยบายขวาจัด หันมาต่อต้านจีนอย่างไม่ลืมหูลืมตา สัมพันธ์ไทย-จีนมีอันหยุดชะงักงันไป มีการจับกุมผู้ที่เคยเดินทางไปจีน โดยยัดเยียดข้อหา ‘คอมมิวนิสต์’ รวมทั้งคุณสังข์ และกัลยาณมิตรในปฏิบัติการทูตใต้ดินในจีน
คุณสังข์ถูกคุมขังนาน 7 ปี ในยามวิบัติเช่นนั้น ระหว่างนั้น คุณวิไล ได้เสี่ยง “ดำดิน” ไปเยี่ยมลูกที่ปักกิ่ง ปี 2504
เมื่อศาลฯพิพากษาคุณสังข์ชนะคดี มิได้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ตามที่จอมพลสฤษดิ์และพวกกล่าวหาแต่อย่างใด และออกจากคุกในปี 2509 คุณสังข์คิดถึงลูกจะไปเยี่ยมลูกที่เมืองจีน ได้ติดต่อสันติบาล แต่สันติบาลแจ้งว่า “ท่านเป็นคนมีประวัติทางการเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ”
และจู่ๆนาย นอร์แมน บี. ฮันน่า ที่ปรึกษาเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ก็เชิญคุณสังข์ไปทานข้าว ฉลองการพ้นโทษ (ทั้ง ๆ ที่อเมริกันอยู่เบื้องหลังจับคุณสังข์เข้าคุก) เมื่อคุณสังข์บอกว่าไม่ได้เจอหน้าลูก 10 ปีแล้ว อยากไปเยี่ยมลูก ฮันน่าตอบว่า “ตกลง เดี๋ยวจัดการให้”
และหนึ่งสัปดาห์ต่อมา คุณสังข์ก็สามารถเดินทางไปประเทศจีน ‘อเมริกาสามารถบีบไทยออกหนังสือเดินทางได้’...! ซึ่งต่อมาเมื่อมีการแฉเรื่องนี้ออกหนังสือพิมพ์ สหรัฐฯโกรธมาก
การที่คุณสังข์ได้เดินทางไปเยี่ยมลูกครั้งนั้น หาใช่ความเมตตากรุณาของอเมริกันแต่อย่างใด แต่มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน โดยสหรัฐฯได้ฝากคุณสังข์ช่วยพูดจากับผู้นำจีนเรื่องสงครามเวียดนามที่ยืดเยื้อมานานและอเมริกันเบื่ออยากจะถอยโดยไม่เสียหน้า ขอให้ผู้นำจีนช่วยจัดการเจรจายุติสงครามในประเทศใดก็ได้...
แต่เวลานั้น คือ ปี 2509 (1966) จีนกำลังอยู่ในช่วงการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมโดยแก๊งสี่คน การจะพบตัวผู้นำนั้นยากลำบาก ผู้นำทางการเมืองหลายคนถูกใส่ร้ายว่าเป็นพวกปฏิกิริยา ถูกลงโทษส่งไปทำงานในชนบทก็มาก ส่วนท่านนายกฯโจว เอินไหลก็เหลือแต่ชื่อ อำนาจทุกอย่างตกอยู่ในอุ้งมือของแก๊งสี่คน นำโดยภรรยาของเหมา เจ๋อตง คือนางเจียง ชิง
เมื่อคุณสังข์ไปถึงจีน คุณวรรณไวได้เล่าสถานการณ์ในจีนน่ากลัวมาก การนำเรื่องที่สหรัฐฯฝากมาไปบอกแก่จีนนั้นเสี่ยงอันตรายมาก “...แต่คุณพ่อก็ไม่ยอม บอกว่าการทำให้คนเลิกฆ่ากันได้และกลับมาเป็นมิตรกันนั้นเป็นเรื่องที่ดี พ่อไม่กลัวอะไรทั้งนั้น...” คุณสังข์ยืนกราน และไปพบกับผู้นำยามพิทักษ์แดง หรือเรดการ์ด
พวกเรดการ์ดไม่ให้เข้าพบท่านโจว โดยอ้างว่าท่านโจวสุขภาพไม่ดี และได้มอบหมายให้ท่านทูตเหยา จงหมิง (ทูตจีนประจำพม่าที่เป็นตัวแทนนายกฯโจวเจรจากับคุณสังข์ที่ย่างกุ้งในปี 2598) มาฟังเรื่องราวที่คุณสังข์เล่าความปรารถนาของสหรัฐฯ
คุณวรรณไว เล่า “หลังจากรู้ไต๋ของมะกันแล้ว ทูตเหยาก็หายไปหลายวัน สุดท้ายได้กลับมาตอบอย่างแข็งกร้าวว่า มะกันทำจีนไว้เจ็บแสบ เลือดต้องล้างด้วยเลือด จีนไม่มีวันประนีประนอมกับสหรัฐฯเด็ดขาด จะยืนข้างเวียดนามต่อสู้กับสหรัฐฯต่อไป...”ท่านทูตเหยาบอกว่าโลกขณะนี้แบ่งเป็นสองค่าย จะซ้ายหรือขวา ให้คุณสังข์เลือกเอาเองว่า “จะอยู่ในจีนหรือจะกลับไปให้อเมริกาใช้งาน”
“คุณพ่อตอบไปว่า "ผมเห็นว่าเวลานี้ถ้าประเทศมหาอำนาจไม่หันมาจับมือกัน สันติภาพโลกก็เกิดขึ้นไม่ได้"
สุดท้ายคุณสังข์ตัดสินใจขอกลับเมืองไทย ขอให้จีนคืนหนังสือเดินทางให้ พร้อมกับขอเยี่ยมคารวะท่านโจวสักครั้ง แต่เรดการ์ดก็อ้างท่านโจว “ไม่ว่าง...ไม่ว่าง...” ทูตเหยากลับมาบอกว่าหาหนังสือเดินทางไม่เจอ จนคุณสังข์ยื่นคำขาดจะกลับเมืองไทย ในที่สุด คุณวรรณไว และนวลนภาก็มาส่งที่ชายแดน
ถูกขับออกจากจีน
เมื่อคุณสังข์กลับเมืองไทย ไม่กี่เดือนต่อมา ตำรวจจีนก็เอาแถลงการณ์มาประกาศ ระบุว่าคุณวรรณไวอยู่จีนมานาน ไม่รู้บุญคุณข้าวแดงแกงร้อน จึงตัดสินให้เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา ขับออกจากจีนภายใน 48 ชั่วโมง
วันรุ่งขึ้นตำรวจก็มารับตัวคุณวรรณไวไปขึ้นเครื่องบินไปก่วงโจว ไปพักโรงแรมคืนหนึ่งรุ่งเช้าตีห้าก็มาปลุก พาขึ้นรถไปที่ชายแดน “ตอนนั้น กลัวมาก กลัวถูกยิงเสียกลางทาง โชคดีที่รอดมาได้ ส่วนน้องสาว (สิรินทร์) ก็แยกไปอยู่กับเรดการ์ด เขียนบทความด่าพ่อเป็นสมุนซีไอเอ ประกาศตัดพ่อตัดลูก ด้วยสถานการณ์บังคับ”
“ออกจากจีนแล้ว ก็เจอปัญหาพาสปอร์ตหมดอายุ จะขอลี้ภัยการเมืองอยู่ที่มาเก๊า ตอนนั้นกลับเมืองไทยไม่ได้ เพราะอยู่จีนมานาน อาจโดนข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่เจ้าหน้าที่โปรตุเกสในมาเก๊าก็พาตัวไปที่สถานกงสุลไทย และก็คุมตัวอยู่ที่นั่น”
“จากนั้นเจ้าหน้าที่กงสุลไทยในมาเก๊าส่งเรื่องไปยังฮ่องกง ทูตไทยที่ฮ่องกงรู้ที่มาที่ไปเป็นอย่างดี ก็รีบเดินทางด่วนมาถึง ผมโทรเลขไปบอกพ่อ พ่อก็ไปหาทูตฮันน่าให้ช่วยจัดการ ผมไปอยู่ที่ฮ่องกง มีเจ้าหน้าที่ทหารไทยสามคนมาสัมภาษณ์ เขาจะเอาตัวกลับไทย แต่เราไม่ยอม กลัวโดนข้อหาคอมมิวนิสต์ ในที่สุดก็อยู่รอจนกระแสเย็นลง”
เมื่อกลับประเทศไทย เจ้าหน้าที่ก็พามาอยู่ที่บ้านสุขุมวิท ซอย 24 มีตำรวจไทยคอยเฝ้าอยู่สามคน เจ้าหน้าที่อเมริกันแวะเวียนมาซักถามเรื่องราวเกี่ยวกับจีนมิได้ขาด อิทธิพลอเมริกันสมัยนั้นแรงมาก ขนาดไล่ตำรวจสันติบาลไทยยศสูงที่เข้ามาหาคุณวรรณไว ว่า “นี่ คนของผม” สุดท้ายอเมริกันยื่นข้อเสนอให้คุณวรรณไวไปเป็นที่ปรึกษาฝ่ายจีนให้กับสหรัฐฯ
คุณวรรณไวปฏิเสธ “จะให้ออกจากจงหนานไห่ ไปเข้าทำเนียบขาวนั้น อกตัญญู ผมทำไม่ได้ ทำอย่างนั้นยิ่งกว่าหมาอีก จีนเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก ก็เหมือนพ่อแม่เรา ”
และคุณวรรณไว ก็ได้กลับมาอยู่กับครอบครัว ได้ทำงานถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับจีน เขียนหนังสือ โจว เอินไหล ผู้ปลูกไมตรีไทย-จีน ซึ่งตีพิมพ์ครั้งสอง เมื่อปีที่ผ่านมา และแปลวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก
คลิกอ่าน: วรรณไว พัธโนทัย เล่าเรื่องสัมพันธ์ไทย-จีน ตอนหนึ่ง: ยุคขุดบ่อหล่อธารา