"จีนกับไทย นอกจากจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันทางสายเลือด ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแล้ว จีนยังเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ชิดเรามากที่สุด จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไปหวังน้ำในที่ไกล เพราะฉะนั้น ชาติของเราจะเป็นศัตรูกับจีนไม่ได้ หากยังเป็นมิตรกันไม่ได้ ก็ไม่ควรเป็นศัตรูกัน”
คือสัจวาจาของคุณ สังข์ พัธโนทัย กล่าวไว้เมื่อปี พ.ศ. 2498 ขณะนั้นจีนเพิ่งปฏิวัติจีนใหม่(1949-2492) ภายใต้การนำผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ท่านประธานเหมา เจ๋อตงมาได้เพียง 5 ปี
ความคิดดังกล่าว ได้นำไปสู่การต่อสู้ปฏิบัติการปลูกไมตรีไทย-จีน ท่ามกลางอุปสรรคอันโหดหิน คุณสังข์และกัลยาณมิตรของท่านมากมาย ได้ปฏิบัติการใต้ดิน ต่อสู้ด้วยความกล้าหาญ และเสียสละอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งเสี่ยงชีวิต ติดคุกติดตารางกันร่วมสิบปี เนื่องจากในยุคนั้นรัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงครามต้องดำเนินนโยบายต่อต้านจีนแดงตามสหรัฐอเมริกา ท่านเหล่านี้ เสมือนผู้ขุดบ่อ ให้สายธารน้ำได้ไหลรินมาสู่ โดยสายธารน้ำนั้น คือสายธารแห่งสัมพันธ์ไทย-จีน
‘มุมจีน’ ได้สบโอกาสดี ได้รับฟังและพูดคุยกับผู้เป็นประจักษ์พยานและเป็นผู้หนึ่งที่ได้ต่อสู้เสี่ยงชีวิตในภารกิจปลูกไมตรีไทย-จีนเมื่อ 57 ปี ที่แล้ว คือ คุณวรรณไว พัธโนทัย บุตรชายของคุณสังข์ พัธโนทัย
คุณวรรณไวได้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจปลูกไมตรีไทย-จีน โดยคุณสังข์ได้ส่งท่านและน้องสาว คุณสิรินทร์ พัธโนทัย (ชื่อเดิม นวลนภา) ขณะนั้นยังเป็นเด็กชาย-เด็กหญิง ไปเป็นบุตรบุญธรรมของนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เพื่อแสดงความจริงใจในการผูกมิตรกับไทย เสมือน ‘เป็นตัวประกัน’ นั่นเอง คุณวรรณไวได้เติบโตใช้ชีวิตในประเทศจีนราวสิบปีจากปี พ.ศ. 2499 และได้ถูกกลุ่มปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมขับออกมาในปี 2509
คุณวรรณไว พัธโนทัย ได้เล่าประวัติศาสตร์การบุกเบิกสัมพันธ์ไทย-จีนในยุคที่ไทยดำเนินนโยบายต่อต้านจีนอย่างรุนแรง ในการบรรยายพิเศษ “ประสบการณ์ชีวิตในจีนช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม” จัดโดยโครงการปริญญาโทวัฒนธรรมจีนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาศรมสยาม-จีนวิทยา และโรงเรียนภาษาและภูมิปัญญาตะวันออก OKLS
นอกจากนี้ คุณวรรณไวยังได้กรุณาให้สัมภาษณ์ บอกเล่าชีวิตการต่อสู้ของบิดาของท่านในภารกิจปลูกไมตรีกับจีนที่เต็มไปด้วยขวากหนาม
คุณวรรณไวได้เล่าสถานการณ์ในยุคปลูกไมตรีไทย-จีนของท่านจอมป.พิบูสงคราม ตอนนั้น โลกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ค่ายโลกเสรีอันมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และค่ายโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯพยายามทุกวิถีทางในการสกัดจีนไม่ให้เติบโต และไทยก็เป็นพันธมิตรสหรัฐฯร่วมต่อต้านจีน ผู้ที่เป็นมือขวาในการต่อต้านคอมมิวนิวสต์ ก็คือ คุณ สังข์ พัธโนทัย คนสนิทและที่ปรึกษาของท่านจอมพลป.พิบูลสงคราม
“เดิมทีคุณสังข์เป็นนักต่อต้านคอมมิวนิสต์ตัวยง เป็นคนควบคุมงบประมาณปราบปรามคอมมิวนิสต์ทั้งหมดของประเทศ โฆษณาทางวิทยุ ผลิตโปสเตอร์ แผ่นผ้า ฯลฯ เพื่อทำให้คอมมิวนิสต์ดูเป็นยักษ์ร้ายน่ากลัว ‘เมื่อคอมมิวนิสต์มา ศาสนาก็ถูกทำลาย’ เป็นคำขวัญพ่อผม
“แต่เมื่อสหรัฐฯแพ้คอมมิวนิสต์ในสงครามเกาหลี ทำให้ประเทศเล็กไม่แน่ใจความแข็งแกร่งของสหรัฐฯ คุณสังข์เริ่มสงสัยว่า ความเลวร้ายของคอมมิวนิสต์ที่อเมริกันกรอกหูคนไทยมาช้านานนั้น แท้จริงแล้วเป็นเช่นไร ที่โลกเสรีเล่าอ้างกันเกี่ยวกับระบบที่รวมทุกอย่างเป็นของกลาง แม้กระทั่งเมียรวมนั้น จริงเท็จประการใด โดยเฉพาะ ‘ผีคอมมิวนิสต์’ ที่ถูกวาดภาพให้เป็นยักษ์เป็นมาร
“จากนั้นคุณสังข์เริ่มศึกษาจริงจังโดยฟังวิทยุคลื่นสั้นจากกรุงปักกิ่ง ขณะนั้นมีภาคภาษาไทย กอปรกับพื้นฐานคุณสังข์เป็นหนอนหนังสือ ชอบอ่าน ศึกษาหาความรู้อยู่เป็นนิจ เอาทฤษฎีสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์มาศึกษา จึงรู้ว่าลัทธิมาร์กซิสม์ก็มีเป้าหมายเพื่อความผาสุกและเท่าเทียมของประชาชน แต่วิธีการนั้นแตกต่างไปจากโลกตะวันตก เป้าหมายคอมมิวนิสต์ก็เพื่อสังคมร่มเย็น
“และก็เริ่มรู้ซึ้งว่าเราถูกฝรั่งหลอก ฝรั่งหลอกให้คนเอเชียด้วยกันเป็นศัตรูกัน”
“การศึกษาจากตำราต่างประเทศ ทำให้รู้ว่าจีนก้าวไปไกลแค่ไหน ยักษ์ที่หลับใหลมานานได้ตื่นขึ้นมาแล้ว สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไม่ได้ จะเป็นอันตรายต่อชาติเราแน่ เราเป็นศัตรูกับจีนไม่ได้แล้ว” คุณวรรณไว เล่าความคิดของบิดาที่ทำให้ชีวิตพลิกผันหันมาปลูกไมตรีจีน
เดิมทีไทยกับจีนเสมือนบ้านพี่เมืองน้อง ทั้งในฐานะที่เป็นคนเอเชีย มีการผสมกลมกลืนทางชาติพันธุ์อย่างไม่ขัดแย้ง คุณสังข์ก็มีเชื้อจีน กอปรกับตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไทย-จีนไม่ไกลกันเลย คุณวรรณไวเทียบเคียงว่า “แค่คนมณฑลกวางตุ้งเดินเท้าบุกไทย ก็ราบเป็นหน้ากลองแล้ว (หัวเราะ)...” ตามภาษิตที่ว่า น้ำไกลมิอาจดับไฟใกล้ ประเทศไทยใกล้กับจีนมาก เกิดเหตุการณ์ใหญ่ฉุกเฉินขึ้นมาเราจึงมิอาจพึ่งอเมริกาซึ่งเปรียบเสมือนน้ำไกลได้อีกต่อไป มิสู้เราผูกมิตรกับจีนจะดีกว่า
หลังจากนั้นคุณสังข์จึงได้นำเรื่องนี้ไปหารือกับจอมพลป.พิบูลสงคราม ท่านจอมพล ป. เป็นนักการทหารที่เป็นนักการเมืองด้วย ก็เห็นด้วย
สู่ปฏิบัติการใต้ดิน
ในเดือนเม.ย.ปี 2498 มีการประชุมกลุ่มประเทศเอเชีย-แอฟริกา (AFRO-ASIAN NATION) ที่นครบันดง ประเทศอินโดนีเซีย สหรัฐฯพยายามห้ามประเทศบริวารของตนไปประชุม เนื่องจากหากปล่อยให้ประเทศเล็กเข้าร่วมการประชุมฯก็จะล่วงรู้สถานการณ์ความเป็นไปที่แท้จริง เกรงว่าหากประเทศทั้งหลายได้พบผู้นำจีน แล้วได้เห็นว่า จีนมิได้น่ากลัวดั่งยักษ์มารตามที่สหรัฐฯโฆษณา พวกเขาอาจหันเหไปเข้ากับจีน
แต่ไทยก็ไม่ยอมเสียโอกาสงามนี้ ครั้งนั้นไทยไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมการประชุมฯ จึงขอเพียงเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์
จอมพลป.ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ คือเสด็จในกรมกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (หรือพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ) ไปเข้าร่วมการประชุมบันดง ท่านโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีที่ควบดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็ได้นำคณะผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมการประชุมฯ เสด็จในกรมฯได้ฟังโจว เอินไหล แถลงหลักการปัจศีลแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป้าหมายการต่อสู้ของจีน อันสร้างความเบาใจและความเข้าใจจีนใหม่แก่ที่ประชุมฯ
เสด็จในกรมฯได้สนทนาซักถามปัญหาต่างๆกับท่านโจว เอินไหล โดยขณะนั้นไทยมีปัญหาข้องใจข่าวลือที่ว่า “จีนมีแผนรุกรานบ่อนทำลายประเทศไทย สนับสนุนอาวุธและฝึกคนอยู่ในเขตปกครองตัวเองสิบสองปัน มณฑลอวิ๋นหนัน (ยูนนาน) โดยยกให้ท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งลี้ภัยในจีนเป็นหัวหน้ากระทำการ”
ท่านโจวปฏิเสธข่าวลือ และก็ได้ชี้แจงกับเสด็จในกรมฯ พร้อมเชื้อเชิญผู้แทนจากไทยไปเยี่ยมประเทศจีน ไปดูที่สิบสองปันนา สำหรับท่านปรีดี พนมยงค์ พำนักอยู่ในประเทศจีนในฐานะผู้ลี้ภัยการเมืองเท่านั้น ไม่มีการกระทำใดเป็นปฏิปักษ์ต่อไทย
ท่านโจวประทับใจเสด็จในกรมฯมาก ฝ่ายเสด็จในกรมฯก็ได้กลับเมืองไทยพร้อมด้วยความเข้าใจและเชื่อมั่นในจีนใหม่ และได้รายงานแก่จอมพลป. ทั้งชื่นชมเสน่ห์ของผู้นำโจว เอินไหล
จอมพลป.จึงตัดสินใจผูกมิตรไมตรีกับจีน ซึ่งต้องกระทำการอย่างลับด้วยสถานการณ์ที่ไทยต้องดำเนินนโยบายต่อต้านจีนตามสหรัฐฯ ท่านจอมพลป.ได้มอบหมายให้คุณสังข์ เป็นผู้นำในการผูกไมตรีกับประเทศจีน และก็ได้ส่งคณะทูตใต้ดินชุดแรกไปยังประเทศจีน ได้แก่ คุณอารี ภิรมย์ และอาจารย์กรุณา กุศลาสัย บก.ข่าวต่างประเทศนสพ.เสถียรภาพ คุณอัมพร สุวรรณบล ส.ส.ร้อยเอ็ด คุณสอิ้ง มารังกูล ส.ส.บุรีรัมย์ ไป ‘ปฏิบัติการภารกิจลับที่ปักกิ่ง’
คณะทูตใต้ดินได้พบปะสนทนากับทั้งท่านประธานเหมา เจ๋อตง และนายกฯโจว เอินไหล...ได้ไปดูข้อเท็จจริงด้วยตาว่าประเทศจีนเป็นดังคำโฆษณาชวนเชื่อของจักรนิยมอเมริกาหรือไม่?
ไม่กี่เดือนต่อมา นายกรัฐมนตรีอูนุแห่งพม่าได้เชิญจอมพลป.ไปเยือนพม่าในเดือนธ.ค. 2498 คุณสังข์ได้ถือโอกาสนี้จัดการพบปะเจรจากับผู้แทนจีน โดยคุณสังข์ และนาย เลื่อน บัวสุวรรณ นายธนาคารศรีอยุธยาผู้สนับสนุนด้านทุนรอน ได้เดินทางไปกับคณะจอมพลป. เพื่อเจรจากับผู้แทนจีนนี้ นายกฯโจว เอินไหล ได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตจีนประจำพม่า นาย เหยา จงหมิง เป็นผู้แทนการเจรจาฯ คุณสังข์ และคุณเลื่อนได้เจรจากับเหยา จงหมิงระหว่างวันที่ 16- 17 ธ.ค.2498 และได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประชาชนไทยและประชาชนจีน ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล
จากนั้นคุณสังข์ได้ดำเนินการส่งคณะทูตไทยหลายคณะ รวมทั้งคณะสงฆ์นานาชาติไปยังประเทศจีน โดย จีนออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
“สำหรับการติดต่อกันอย่างลับๆนี้ ท่านโจว เอินไหลผู้รู้หลักการธรรมชาติ เข้าใจและเห็นใจที่ไทยยังรับเงินจากสหรัฐฯ ก็ว่าไม่เป็นไร ติดต่อลับ ๆ กันไปก่อน ใช้วิธีประชาชนติดต่อกับประชาชน
“ที่น่าสังเกตประการหนึ่ง คือไทยทำกับจีนไว้เจ็บแสบพอสมควร แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของท่านโจว เอินไหลที่ว่า ‘เป็นมิตรดีกว่าเป็นศัตรู’”
โปรดติดตามตอนสอง: ส่งลูกในไส้ไปเป็นตัวประกันผูกมิตรไมตรีกับจีน สัปดาห์หน้า
คลิกอ่าน: โจว เอินไหล ผู้ปลูกไมตรีไทย-จีน