xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหิน คาดเป็นต้นตระกูลชาวอะบอริจิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงกระดูกที่สมบูรณ์ของมนุษย์เกาะเลี่ยงอายุเก่าแก่ 7,900 ปี ภาพถ่ายเมื่อเดือนธ.ค. 2554 – เอเอฟพี
เอเอฟพี - นักโบราณคดีไต้หวันขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินเพศชายอายุเกือบ 8 พันปี ผู้อาจช่วยคลี่คลายความมืดมนเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนสมัยโบราณ ซึ่งได้แยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่กระจัดกระจายทั่วย่านมหาสมุทรแปซิฟิกก็เป็นได้

นายเฉิน จงอี้ว์ นักโบราณคดีของสถาบันอคาเดเมีย ซินิก้า (Academia Sinica institute) ในกรุงไทเป พร้อมลูกทีมอีก 3 คน ขุดค้นพบซากโครงกระดูกมนุษย์ดึกดำบรรพ์นี้ได้บนเกาะเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของไต้หวัน นามว่าเกาะเลี่ยง ห่าง 30 กิโลเมตรจากชายฝั่งมณฑลฝูเจี้ยนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนเมื่อเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา
ชิ้นส่วนโครงกระดูกของชายนิรนามยุคหินเมื่อเกือบ 8 พันปีก่อน – เอเอฟพี
อันที่จริงแล้ว บริเวณหลุมฝังศพโผล่ให้เห็นโดยบังเอิญแท้ ๆ ขณะกองทัพของไต้หวันกำลังขุดดิน เพื่อเตรียมก่อสร้างถนน

ชายนิรนามจากอดีตกาลผู้นี้ นายเฉินระบุว่า น่าจะมีอายุสักประมาณ 35 ปีในตอนที่เสียชีวิตเมื่อ 7,900 ปีก่อนโน้น และบางทีเขาอาจเป็นญาติห่างๆ กับชนเผ่าอะบอริจินในไต้หวันก็เป็นได้ โดยในปัจจุบันเกาะมังกรน้อยมีชนเผ่านี้อาศัยอยู่ราวร้อยละ 2 ของประชากรทั้งประเทศ

อะไรที่ทำให้นายเฉินตั้งสมมุติฐานดังกล่าว

นายเฉินเล่าว่า เขารู้สึกสะดุดใจมาก เมื่อเห็นวิธีการฝังศพชายจากยุคบรรพกาล เพราะร่างที่ถูกฝังถูกจัดวางในลักษณะเดียวกับทารก ที่อยู่ในครรภ์มารดาเหมือนอย่างที่ชาวอะบอริจินในไต้หวันเคยฝังศพกันมาจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 20

“หากตัดสินจากวิธีการฝังศพแล้ว ชายคนนี้อาจมาจากกลุ่มคนที่ใช้ภาษาในตระกูลออสโตรนีเชียอย่างที่เราเรียกกันในปัจจุบันก็ได้” นายเฉินกล่าว

ทั้งนี้ ชาวอะบอริจินในไต้หวันอยู่ในตระกูลภาษาดังกล่าวเช่นเดียวกับผู้คน ที่อพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานทั่วแถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเดินทางไปไกลถึงเกาะอีสเทิร์น นอกชายฝั่งประเทศชิลีในยุคก่อนประวัติศาสตร์

ขณะนี้ทางคณะนักโบราณคดีกำลังรอผลตรวจดีเอ็นเอ จึงจะทราบพันธุกรรมของโครงกระดูกมนุษย์ ซึ่งมีความเก๋ากึ๊กและอยู่ในสภาพดีที่สุดโครงหนึ่งเท่าที่เคยพบในไต้หวันรายนี้

มีความเป็นไปได้ว่าชายในยุคหินคนนี้อาจเกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษของชาวอะบอริจินในไต้หวันและชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกส่วนใหญ่ ที่เชื่อกันว่า ในสมัยยุคหินคนเหล่านี้อาศัยอยู่รวมกันในบริเวณ ที่ปัจจุบันคือภาคใต้ของจีนนั่นเอง

หากมีการพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นจริง การค้นพบมนุษย์เกาะเลี่ยงจะช่วยทำให้เข้าใจดีขึ้นเกี่ยวกับวิถีชีวิตของบรรพบุรุษของชาวออสโตรนีเชีย ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มการเดินทางผจญภัยสู่ห้วงมหาสมุทรแปซิฟิกอันไพศาลในอีกไม่นาน
นายเฉิน จงอี้ว์ นักโบราณคดีของสถาบันอคาเดเมีย ซินิก้า และทีมงาน ขณะทำการขุดค้นบนเกาะเลี่ยง – เอเอฟพี
นายเฉินระบุว่า เกาะเลี่ยงไม่เหมาะเป็นถิ่นอาศัยถาวร เพราะเป็นเกาะเล็กมาก มีพืชผักไม่พอแก่การเลี้ยงชีวิต และชายวัย 35 ปีจากบรรพกาลอาจจบชีวิตลงในระหว่างออกท่องเที่ยวท้องทะเลตามปกติก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น