รอยเตอร์ -ชาวทิเบต ที่อาศัยทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนฉลองวันขึ้นในปีใหม่อย่างไร้ความสนุกสนานรื่นเริง เนื่องจากความโศกเศร้าจากเหตุการณ์ลามะเผาตัวตาย และบรรยากาศ ที่ตึงเครียดจากการเข้ารักษาความสงบอย่างเข้มงวดของทางการจีน
การฉลองวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีของชาวทิเบตหรือ “โลซาร์” (Losar) เป็นการผสมผสานระหว่างการฉลองตามขนบธรรมเนียมของชาวพุทธกับการเลี้ยงฉลองกันภายในครอบครัว โดยมีการจัดงานฉลองทั่วเขตที่ราบสูงทิเบตเมื่อวันพุธ ( 22 ก.พ.) ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ได้ยินแต่เสียงสวดมนต์ และเสียงตีฆ้องดังระงมไปทั่ว เนื่องจากทะไลลามะ ซึ่งประทับลี้ภัยในเมืองธรรมศาลาของอินเดียทรงขอให้งดการจัดงานรื่นเริง แต่ขอให้ชาวทิเบตร่วมกันสวดมนต์ให้แก่ผู้ ที่ได้เสียสละและได้รับความทุกข์ทรมานภายใต้การปกครอง ที่กดขี่ของจีน
“ องค์ทะไลลามะทรงเข้าร่วมพิธีสวดมนต์เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ที่วัดใหญ่ แต่ในปีนี้ได้งดการแสดงดนตรีและการร้องรำทำเพลง” ผู้ช่วยอาวุโสประจำองค์ผู้นำแห่งจิตวิญญาณของชาวทิเบตระบุ
นับตั้งแต่เดือนมี.ค. ปีที่แล้ว มีลามะจุดไฟเผาตัวตายไปแล้วอย่างน้อย 16 รูป เพื่อประท้วงต่อต้านการปกครองของจีน โดยส่วนใหญ่เป็นลามะ ซึ่งอยู่ในถิ่นอาศัยของชาวทิเบตหลายพื้นที่ในมณฑลเสฉวน และกานซู่ ซึ่งอยู่ติดกับเขตปกครองตนเองทิเบต
ทะไลลามะทรงระบุว่า การจุดไฟเผาตัวตายมีสาเหตุมาจากการที่จีนทำลายล้างวัฒนธรรมของชาวทิเบต แต่รัฐบาลจีนตราหน้าพวกที่เผาตัวตายว่า เป็นผู้ก่อการร้าย
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ยังมีชาวทิเบตถูกเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงยิงเสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บอีกหลายสิบคนระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อเดือนที่แล้ว แต่สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนระบุว่า เจ้าหน้าที่ต้องยิงเพื่อป้องกันตัว
วันขึ้นปีใหม่ที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองลังมู (Langmu) ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างมณฑลกานซู่และเสฉวนนั้น ลามะทิเบตหลายร้อยรูปมาประชุมกัน เพื่อร่วมพิธีสวดมนต์ ซึ่งมีการลั่นฆ้องขนาดใหญ่ 2 ครั้งทุก ๆ หนึ่งนาที
“ชีวิตที่นี่เต็มไปด้วยความบีบคั้น ทะไลลามะท่านต้องประทับอยู่ในอินเดีย และพวกเราอยู่ที่นี่ มันเป็นสิ่งที่ปวดร้าวมาก” คนเลี้ยงสัตว์ วัย 51 ปี นามว่า เจียตา (Jiata) เปิดใจ
“รัฐบาลควบคุมความคิดของพวกเราทุกอย่าง เขาบอกว่าเรามีเสรีภาพในการคิดอย่างที่เราต้องการ แต่เราไม่มีหรอก” เขากล่าว
แม้ทางการจีนได้ประณามฝ่ายที่สนับสนุนทะไลลามะว่า เป็นผู้ยุยงปลุกปั่นให้ชาวทิเบตประท้วงต่อต้านจีน แต่ทะไลลามะก็ยังทรงเป็นที่เคารพสักการะในหมู่ชาวทิเบตอย่างไม่เสื่อมคลาย
ทางการจีนได้ส่งกองกำลังรักษาความมั่นคงและกองกำลังตำรวจเข้ารักษาการณ์ในเขตชุมชนอาศัยของชาวทิเบตอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการเดินขบวนประท้วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้วันที่ 10 มี.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบการลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีนเมี่อปีพ.ศ.2502 โดยการลุกฮือของชาวทิเบตครั้งนั้นล้มเหลว และยุติลงด้วยการเสด็จลี้ภัยขององค์ทะไลลามะ
นักธุรกิจชายผู้หนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในกรุงลาซา เมืองหลวงของทิเบต ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาประจำการณ์ตามถนนสายต่าง ๆ และรถตำรวจแล่นขวักไขว่ มากกว่าปกติในวันปีใหม่ ซึ่งบรรยากาศมีความตึงเครียดอย่างที่รู้สึกได้ทีเดียว
*ชนชาติทิเบตนอกจากอาศัยอยู่ในเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบตบนหลังคาโลกแล้ว ยังมีชุมชนทิเบตในมณฑลซื่อชวน(เสฉวน) มณฑลกันซู่ ชนชาติทิเบตในชุมชนเหล่านี้ยังยึดถือวัฒนธรรม ประเพณี และวันขึ้นปีใหม่ของชนชาติทิเบต ที่เรียกว่า โลซาร์ ปีนี้ตรงกับวันที่ 22 ก.พ. ในวันโลซาร์ปีนี้ เสียงสวดมนต์ เสียงกลอง ดังกระหึ่ง ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดการเผาตัวสังเวยชีวิตของลามะ ประท้วง การควบคุมของรัฐบาลจีน /ภาพบรรยากาศวันปีใหม่ทิเบตวันที่ 22 ก.พ. 2555 โดยรอยเตอร์