xs
xsm
sm
md
lg

ทุบเพื่ออนุรักษ์! บ้านเจียง ไคเชก อดีตศูนย์บัญชาฯ รบ จีน-ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี - ชาวเน็ตฯ ในสังคมออนไลน์จีน เริ่มถกกันในเรื่องการรื้อถอนอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์จีน บ้านเจียง ไคเชก ในนครฉงชิ่ง ที่เคยเป็นศูนย์บัญชาการรบ จีน-ญี่ปุ่น เพราะเหตุผลของทางการที่ว่าเป็นการรื้อเพื่ออนุรักษ์

สำนักข่าวซินหวา รายงานวันที่ 19 ก.พ.ว่า อาคารนี้ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2478 และเพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถาปัตยกรรมอนุรักษ์ของนครฉงชิ่งเมื่อปี พ.ศ. 2552 แต่ล่าสุด ทางการแถลงว่า อาคารดังกล่าวชำรุดทรุดโทรมเกินกว่าจะบูรณะ จึงทุบทิ้งเพื่อสร้างใหม่บนพื้นที่เดิม

นาย ซู่ เซี่ยวหยู่ว์ เจ้าหน้าที่อนุรักษ์อาคารและผังเมืองประจำเขตหยูจง ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่ดังกล่าว ได้บอกว่า "จำเป็นต้องรื้อถอนเพื่อปรับปรุงและอนุรักษ์ไว้" เจ้าหน้าที่ฯ ซึ่งรับผิดชอบการรื้ออาคารนี้ กล่าวว่า "นี่เป็นเพียงขั้นแรกของการรื้อถอน จากนั้นส่วนที่เหลือของอาคารทั้งหมดจะรื้อด้วยความระมัดระวัง ถอดอิฐทีละก้อน เพื่อเก็บนำมาใช้อีกครั้งในการสร้างใหม่ ที่กำหนดแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2556 โดยจะสร้างให้ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สงครามต่อต้านญี่ปุ่น"

แต่ลักษณะการอนุรักษ์เช่นนี้ กลับเป็นข้อถกเถียงอย่างมากในหมู่ผู้พบเห็น ทั้งประชาชน และสื่อต่างๆ โดยชาวบล็อกคนหนึ่งเขียนว่า "การรื้อถอนเป็นสิ่งตรงข้ามกับการอนุรักษ์ จึงไม่เข้าใจว่าทำอย่างนี้ จะเป็นการอนุรักษ์ตรงไหน หรือจะคิดว่าการสร้างใหม่ให้เหมือนเก่าคือการอนุรักษ์"

หลั่ว ยูว์ นักเขียนหนังสือขายดีชื่อ The Lost Shangqing Temple ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของฉงชิ่ง ได้แสดงความวิตกกังวล และกล่าวว่า "เมื่อเราทุบอิฐปูนไปแล้ว ดูว่าจะยากมากที่จะกลับคืนวิญญาณทางประวัติศาสตร์ของอาคารหลังนี้อีก"

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ก.พ. Netease และสื่อออนไลน์จีนหลายแห่ง ได้สะท้อนความคิดเห็นของชาวเน็ตฯ ที่วิตกถึงการจัดการของรัฐบาลท้องถิ่น เกี่ยวกับการรื้อทุบบ้านของเจียง ไคเชก ซึ่งเป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยสภาพที่เห็นในสื่อต่างๆ นั้น เหมือนการทุบทิ้ง มากกว่าจะค่อยๆ รื้อถอนเพื่อบูรณะและอนุรักษ์ไว้ นอกจากนั้นหลายคนก็ดูไม่ค่อยเชื่อในคำชี้แจงของหน่วยงานท้องถิ่น และเมื่อผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปสำรวจรายงาน ก็พบสภาพว่า การรื้อถอนนี้น่าจะสร้างความเสียหายให้กับก้อนอิฐและวัสดุก่อสร้างต่างๆ ของอาคารมากเกินกว่าจะเก็บกลับมาสร้างใหม่

รายงานข่าวกล่าวว่า คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอาคารแห่งนี้ ไม่เพียงเป็นที่พักอาศัยของเจียง ไคเชก เท่านั้น เพราะในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น ระหว่างปี พ.ศ. 2480 ถึงปี พ.ศ. 2488 และในสงครามโลกครั้งที่สอง อาคารนี้คือศูนย์บัญชาการรบสำคัญของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง ที่จับมือกับกองทัพปลดปล่อยประชาชน พรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่อสู้ผู้รุกราน






กำลังโหลดความคิดเห็น