xs
xsm
sm
md
lg

ประวัติศาสตร์นิพนธ์จีนสยาม

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จดหมายจากเมืองไทย
เทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา หากย้อนสังเกตข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ จะพบว่า มีการให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวตรุษจีนกันมาก จนกล่าวได้ว่าตรุษจีนกลายเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของชาติ การเฉลิมฉลองในจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีประชากรไทยเชื้อสายจีน หรือ จีนสยาม ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ (อย่างน้อยก็การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่พยายามขายตรุษจีน)

ภาวะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? การฉลองตรุษจีนอย่างอลังการนี้ ย่อมเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของจีนสยาม ที่ปัจจุบันถูกมองว่าเป็นเนื้อเยื่อส่วนสำคัญของสังคมไทย ภาพลักษณ์ของจีนสยามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เกิดจากการที่สังคมไทยรับรู้ประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งเกี่ยวกับจีนสยาม และการรับรู้นี้ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามสภาพสังคมแต่ละยุคสมัย

จีนสยามมีประวัติศาสตร์ของตัวเองไหม?

หากพิจารณาประวัติศาสตร์ไทยที่เราร่ำเรียนกันมาอย่างยาวนาน จะพบว่าไม่มีจีนสยามอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย แต่สภาพการณ์ดังกล่าวก็มิได้หมายความว่า “จีนสยามเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่มีประวัติศาสตร์” มนุษย์ทุกคนจำต้องมีความทรงจำต่ออดีต เพื่อที่จะเข้าใจได้ว่าตัวเขาเองเป็นใคร มาจากไหน และจะก้าวต่อไปสู่อนาคตอย่างไร ในระดับสังคม มนุษย์แต่ละคนถูกยึดโยงเข้าด้วยกันผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ความทรงจำร่วม” ซึ่งเกิดจากการรับรู้อดีต หรือประวัติศาสตร์

แม้ประวัติศาสตร์คือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในอดีต ทว่าในอดีต ณ ห้วงเวลาหนึ่งมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย จนเกินกว่าความสามารถของมนุษย์ที่จะจดจำได้ นอกจากนี้ ข้อจำกัดของมนุษย์ในเรื่องภาษา ก็ทำให้มนุษย์ไม่สามารถบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาหนึ่ง ลงบนแผ่นกระดาษได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ ดังนั้น ในการเขียนประวัติศาสตร์ หรือเรียกกันว่า “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ก็จำเป็นที่จะต้องเกิดจากการเลือกสรร จัดความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่ถูกเลือกมา ภายใต้โครงเรื่อง ที่ทำให้ข้อมูลเหล่านั้นสัมพันธ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผล
คนจีน 200 ปีภายใต้พระบรมโพธิสมภาร
โครงเรื่องประวัติศาสตร์จีนสยาม

ในช่วงทศวรรษ 2510 โดยเฉพาะช่วงปลายทศวรรษ ที่ไทยเริ่มหันไปจับมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และภาพลักษณ์ของคนจีนที่ถูกติดป้ายว่า เท่ากับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์เริ่มมลายหายไป บริบทดังกล่าวได้เปิดพื้นที่ให้กับการศึกษา และแพร่กระจายของงานเขียนเกี่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่ และจีนสยาม ดังจะพบว่าเริ่มมีการศึกษาในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับจีนสยามในเชิงประวัติศาสตร์จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม งานที่ส่งผลสะเทือนต่อการรับรู้ภาพลักษณ์เกี่ยวกับจีนสยามมากที่สุด กลับมิใช่งานวิชาการ หากแต่เป็น นิยาย 2 เรื่องที่ถูกเขียนขึ้น โดยจีนสยามคือ “จดหมายจากเมืองไทย” และ “ อยู่กับก๋ง” นิยายทั้งสองเรื่องมีโครงเรื่องร่วมกันคือ กล่าวถึงชีวิตของคนจีนเสื่อผืนหมอนใบ ที่อพยพเข้ามายังแผ่นดินไทย มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แล้วค่อย ๆ สร้างตัวขึ้นมาจนมีฐานะระดับพอมีพอกิน ภาพลักษณ์ของจีนสยามในช่วงนี้จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมไทย ที่ยังไม่ได้มีความสำคัญอะไรมากนัก ขณะเดียวกัน แม้จะได้รับการยอมรับจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยแล้ว ทว่าภาพลักษณ์ด้านลบของจีนสยามที่ถูกเสนอผ่านงานเขียนอื่น ๆ ก็ยังปรากฏอยู่ในฐานะนายทุนขูดรีด

ครั้นต่อมาเมื่อเศรษฐกิจไทยพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 2520-2530 โครงเรื่อง “คนจีนเสื่อผืนหมอนใบใต้พระบรมโพธิสมภาร” ที่เริ่มเกิดเป็นภาพลาง ๆ จาก อยู่กับก๋ง และ จดหมายจากเมืองไทย ก็ได้รับการตอกย้ำ ขยายให้ชัดเจนจากการพิมพ์หนังสือ “คนจีน 200 ปีภายใต้พระบรมโพธิสมภาร” โดยเส้นทางเศรษฐกิจในปี 2526 จากนั้นก็มีหนังสืออีกหลายเล่ม ที่เริ่มให้ภาพจีนสยามในฐานะพลังสำคัญ ในการสร้างความก้าวหน้าให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ (ไม่ใช่นายทุนขูดรีดอีกต่อไป) เช่น ลอดลายมังกร สังคมจีนในไทย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ และคนจีน 200 ปีภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ภาค 2 ซึ่งให้ภาพใหม่ของจีนสยามที่มีความขยันขันแข็งสู้ชีวิตจนกลายเป็น “เจ้าสัว”

แม้ในยุคทศวรรษ 2520-2530 การเล่าประวัติศาสตร์จีนสยามจะยังคงอยู่ภายใต้โครงเรื่องคนจีนเสื่อผืนหมอนใบใต้พระบรมโพธิสมภาร ทว่าเนื้อหาของโครงเรื่องก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนให้จีนสยาม กลายเป็นส่วนสำคัญของสังคมไทย โดยการเป็นส่วนสำคัญของสังคมไทยนี้ถูกดึงไปสู่จุดสูงสุด เมื่อมีการแพร่กระจายของงานเขียนเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในช่วงปลายทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา งานเขียนเหล่านั้นเช่น การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้โยงจีนสยามเข้ากับสถาบันกษัตริย์คือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพลพรรคทหารลูกจีน ในฐานะลูกจีนที่กู้บ้านกู้เมือง และยังดำรงฐานะเป็นกษัตริย์ ภาพลักษณ์การเป็นส่วนสำคัญของสังคมไทย โดยเฉพาะในฐานะกลจักรทางเศรษฐกิจนี้ล้อไปกับสภาพการเติบโตของนายทุนและชนชั้นกลางไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก
คือฮากกา คือจีนแคะ
สู่ประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย

นับแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา แม้การเล่าประวัติศาสตร์จีนสยาม จะยังสืบทอดโครงเรื่องเดิมจากช่วงก่อนหน้า ทว่าเนื้อหาก็มีการปรับเปลี่ยน จากการที่เล่าถึงแต่จีนสยามที่ประสบความสำเร็จเป็นเจ้าสัว แต้จิ๋ว และจำกัดฉากอยู่ที่กรุงเทพฯ มาสู่การเล่าเรื่องราวของสามัญชนจีนจำนวนมาก ที่ไม่ “เฮง” อย่างเจ้าสัว พร้อมกันนั้นก็เริ่มปรากฏงานของกลุ่มภาษาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แต้จิ๋วออกมาสู่ท้องตลาดเช่น จากอาสำสู่หยำฉ่า คือฮากกาคือจีนแคะ บ่บั๊ดบ่บ่งก้ง ฯลฯ และยังมีงานเขียนเกี่ยวกับจีนสยามในพื้นที่อื่น ๆ นอกจากกรุงเทพฯ ออกมาสู่บรรณพิภพจำนวนมาก พร้อมไปกับการฉลองตรุษจีนในจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีประชากรจีนสยามจำนวนมาก เริ่มกลายเป็นข่าวทัดเทียมพอ ๆ กับการฉลองที่เยาวราช

ความหลากหลายของประวัติศาสตร์จีนสยามนับแต่ทศวรรษ 2540 นี้ เกิดจากการปะทะเข้ากับกระแสความเป็นจีน จากแผ่นดินใหญ่ ที่ทำให้จีนสยามต้องหันกลับมาค้นหารากเหง้าของตัว เพื่อมิให้ถูกกลบทับโดยความเป็นจีนจากแผ่นดินใหญ่ ที่ถาโถมเข้ามา ขณะเดียวกันบรรดาจีนสยามในวัยกลางคนจำนวนมาก เมื่อพอจะตั้งหลักปักฐานได้แล้ว ก็ต้องการเติมเต็มตัวตนที่หายไปจากประสบการณ์ในวัยเด็กช่วงทศวรรษ 2500-2510 ที่ความเป็นจีนสยามเป็นปมด้อย ด้วยการเขียนและบริโภคงานเกี่ยวกับจีนสยามที่มีความคล้ายคลึงกับชีวิตของพวกเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น