“ยงยุทธ” ไม่ตั้งธงแก้ รธน.ขึ้นอยู่กับ ปชช.ที่เลือก ส.ส.ร.ขึ้นมาร่าง ลั่นไม่ขอแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ ไม่กล้าสั่ง “ตู่” หุบปากปูดข่าวล้มรัฐบาล ชี้ เป็นเสรีภาพของพลเมือง แบ่งรับแบ่งสู้ “ปลอด” มีแนวคิดแยกธนบุรีออกจาก กทม.ชี้ ขึ้นอยู่กับคนในท้องที่
วันนี้ (9 ก.พ.) ที่กระทรวงมหาดไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ต้องรับฟังเสียงของประชาชนที่เลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มา และ ส.ส.ร.ก็ต้องฟังความเห็นของประชาชนที่เลือกมาเช่นเดียวกัน ว่า รัฐธรรมนูญของทุกคนควรมีรูปแบบเป็นอย่างไร แต่คิดว่าเรื่องที่ทุกคนเห็นตรงกันอย่างมาตรา 8 หรือหมวดพระมหากษัตริย์ เราจะไม่เข้าไปแตะต้องอย่างแน่นอน
“ไม่มีพิมพ์เขียว พิมพ์เขียวอยู่ในหัวใจประชาชน อยู่ในมันสมอง อยู่ในความรู้สึกของคนเลือก ส.ส.ร.ว่า ต้องการอะไรบ้าง ซึ่งร่างที่ นปช.ยื่นวันนี้ ก็เป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าเรื่องมวลชนสนับสนุนก็ตรงกัน ทุกคนก็เห็นตรงกันว่าควรแก้ไข ความเห็นผมเป็นเรื่องของประชาธิปไตย ที่ประชาชนทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบได้ก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ทั้งนี้ จะใช้เวลาทั้งหมดราว 1 ปีเศษๆ” นายยงยุทธ กล่าวและว่า
การที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาให้ข่าวว่าจะมีขบวนการล้มรัฐบาลนั้น เชื่อว่า ไม่ได้พูดให้เกิดความหวั่นไหว และเป็นการพูดของพลเมืองไทยคนหนึ่งที่มีเสรีภาพที่จะพูด หากจะจำกัดเสรีภาพไม่ให้พูด ก็คงจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ส่วนที่ พล.อ.เปรม เดินทางมาร่วมงาน ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี และนายณัฐวุฒิ เอง ก็เดินทางมาร่วมด้วย และเชื่อว่า หาก นายจตุพร สะดวก ก็คงจะมาร่วมงานด้วย เพราะแนวคิดของงาน คือ งาน “รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย” ไม่ใช่งานรักเพื่อไทย งานรักท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ งานรักยงยุทธ แต่เป็นของคนไทยทุกคน หากทุกคนรักประเทศไทย ก็น่าจะได้ชื่นชมกับงาน
ส่วนกรณีที่ พล.อ.เปรม เดินทางมาร่วมงานด้วยนั้น เท่าที่รับฟังมายังไม่เห็นว่า มีกลุ่ม นปช.คนใดที่แสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งดูบรรยากาศแล้วน่าจะราบรื่นดี
รมว.มหาดไทย ยังกล่าวถึงแนวคิดของ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะแยกฝั่งธนบุรีเป็นเขตปกครองพิเศษ ออกจากกรุงเทพมหานคร ว่า เป็นเสรีภาพของนายปลอดประสพ ที่จะแสดงความคิดเห็น และเชื่อว่า นายปลอดประสพ ก็มีข้อมูลอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา รูปแบบการปกครองของฝั่งธนบุรี ก็กลับไปกลับมา ระหว่างกรุงเทพมหานคร กรุงธนบุรี เทศบาลนครธนบุรี ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้น คงตอบไม่ได้ เพราะรูปแบบการปกครองนั้น ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งทุกคนน่าจะทราบวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด